xs
xsm
sm
md
lg

"สุรยุทธ์"ปราบโกงแต่ปาก แฉให้ข้อมูลกลับไม่ใส่ใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบุรีรัมย์ สุดเศร้า “สุรยุทธ์” ปราบทุจริตแต่ปาก มอบข้อมูลการคอร์รัปชั่นของ “ระบอบทักษิณ-ระบอบเนวิน” ถึงมือเมื่อครั้งลงพื้นที่ แต่พอจะกลับดันส่งข้อมูลให้ผู้ว่าฯ ที่ไม่น่าไว้วางใจไปดำเนินการ เตือนเหลือบกลุ่มอำนาจเก่าย้ายเข้ากรมทางหลวง ผุดเมกกะโปรเจกส์ 2.9 หมื่นล้านหวังงาบหัวคิว ด้านนักวิจัย มสธ. ชี้ภาคประชาชนที่ชี้เบาะแสโกงของนักการเมืองจะถูกคุกคามหลากหลายรูปแบบ เสนอ 3 มาตรการป้องกันภาคประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (22 มี.ค.) สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เสนอวิจัยหัวข้อ “มาตรการที่เหมาะสมกับการคุ้มครองภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น” โดยมีนางภาณินี กิจพ่อค้า นายชยพล สุทธิโยธิน และนางสิริพันธ์ พลรบ เป็นคณะผู้วิจัย

นายชยพล กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าภาคประชาชนยังไม่มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตของผู้อยู่ในวงราชการ แม้เขาเหล่านั้นจะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสอดส่อง เฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส และเปิดโปงข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นต่อสาธารณะอยู่หลายพื้นที่ แต่เมื่อเขาร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วกลับไม่ได้รับการคุ้มครองจนส่งผลร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

นายชยพล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลจากภาคประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ก็พบว่า ภายหลังที่ร่วมมือกันแจ้งเบาะแสให้กับหน่วยงาน ที่ตรวจสอบการทุจริตนักการเมือง ข้าราชการ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นแล้ว ประชาชนเหล่านั้นกลับถูกคุกคาม โดยมีการคุกคามทั้งหมด 15 รูปแบบ คือ การข่มขู่ทางโทรศัพท์, การข่มขู่ด้วยการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์, การข่มขู่ว่าจะทำร้ายบิดา มารดา สามี ภรรยา, การทำให้เสียชื่อเสียง, การประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน, การลักพาตัว ,การทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย , การทำร้ายร่างกายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส, การฆ่าหรือประสงค์ชีวิต ,การใช้มาตรการข่มขู่ด้วยการตรวจสอบภาษี, การใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐตรวจค้นสถานที่, การใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบแรงงาน, การกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูลงาน, การกีดดันไม่ให้เข้าบรรจุราชการ และการกลั่นแกล้งกับหน้าที่การงาน

นายชยพล กล่าวว่าจากผลวิจัยครั้งนี้เกิดคำถามขึ้นว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อภาคประชาชนเหล่านี้มีความเสียสละเพื่อทำงานตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้มีอิทธิพล นักการเมือง แต่กลับถูกกลั่นแกล้ง ถึงขั้นถูกปองร้าย อุ้มฆ่าจนหลายคนเสียชีวิต ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยเหลือให้ชาวบ้านเหล่านั้นอุ่นใจ ไม่ให้เขารู้สึกว่า เมื่อแจ้งเบาะแสให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วจะไม่ส่งผลร้ายต่อชีวิตินายชยพล กล่าว

ด้านนางภาณินี กล่าวเสริมว่า มาตรการคุ้มครองภาคประชาชนนั้นมี 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างมาตรการทางกฎหมายนั้นควรมีมาตรการคุ้มครองเสรีภาพ รัฐต้องกำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับประชาชนหรือพยานที่เกี่ยวกับคดีทุจริตอย่างเข้มงวด โดยการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อรองรับการร้องทุกข์จากภาคประชาชนโดยตรง รวมทั้งจะต้องกำหนดโทษกับผู้มีส่วนร่วมในคดีทุจริตเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ อีกทั้งจะต้องมีการเพิ่มกฎหมาายใน พ.ร.บ.คุ้มครอบพยานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และก่อนที่คดีจะขึ้นสู่ชั้นสืบสวน ควรไม่ให้มีการประกันตัวผู้ต้องหา

2.การคุ้มครองพยานโดยมาตรการทางสังคมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดเครือข่ายทั้งภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรการตรวจสอบ และ 3.มาตรการการคุ้มครองโดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งจะแนวทางที่ยั่งยืน แต่ต้องใช้เวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาครั้งนี้ ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ นักกฎหมาย นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมฟังอย่างคับคั่ง แต่ที่น่าสนใจ คือ มีเครือข่ายภาคประชาชนจากภาคอีสานจาก จ.บุรีรัมย์เข้าร่วมฟังอย่างคับคั่ง โดยนายประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ ประธานชมรมคนรักษ์สตึก จ.บุรีรัมย์ ผู้เปิดโปงการทุจริตกล้ายางพาราของกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การทุจริตถือเป็นภัยเลวร้ายที่สุดต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งคนที่ต่อสู้เพื่อเปิดโปงการทุจริตนั้นก็มักจะถูกบั่นทอนจิตใจ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ไม่ว่ายุคใดสมัยใด แม้แต่รัฐบาลสมัยนี้เราก็ไม่มีความเชื่อมั่นว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะได้รับการแก้ไข

นายประเทือง กล่าวว่า แม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะประกาศสงครามกับการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ก็ไม่เป็นผล เราจึงถือว่าสงครามครั้งนั้นเป็นสงครามลวง โดยจะเห็นว่าการทุจริตและความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองล้วนมาจากความเลวร้ายของนักการเมืองบ้านตนทั้งนั้นที่คอยจูงจมูก คอยชี้นำ ให้ผู้นำประเทศคล้อยตาม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเราก็ดูเหมือนมีจะความหวังและดีใจว่า ปัญหาการทุจริตคงได้รับการแก้ไข

“เมื่อนายกฯ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อไปพบเพื่อนเก่า หลังจากได้รับตำแหน่งใหม่ๆ เราก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต โดยมีรายชื่อนักการเมืองในระบอบทักษิณ-ระบอบเนวิน ถึง 10 คดี ส่งถึงมือนายกฯ ซึ่งนายกฯ ก็รับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ แต่ก่อนจะขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ พล.อ.สุรยุทธ์ กลับยื่นข้อมูลหลักฐานของเรามอบให้ผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ ทำให้เรารู้สึกผิดหวังมาก เพราะเราไม่เคยไว้ใจผู้ว่าฯ คนนั้นเลย แต่นายกฯ กลับมอบลายแทงให้กับโจร นับจากวันนั้นเราจึงคิดว่าปัญหาการทุจริตคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน และก็เป็นความจริง ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 6 เดือนเราก็เจ็บปวดเหมือนเดิม”

นายประเทือง กล่าวอีกว่า เมื่อภาครัฐไม่เคยให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องติดตามการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยพยายามรวมกลุ่มสร้างภาคประชาชนให้เป็นเครือข่ายเพื่อรวมตัวกันตรวจสอบและทำงานในเชิงรุกมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องการ คือ แม้ว่าปัญหาทุจริตที่มีอยู่ในจ.บุรีรัมย์กว่า 10 คดีจะไม่ได้รับการแก้ไข แต่ก็ขอร้องอย่าให้การทุจริตเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้เราได้รับข้อมูลมาว่ากรมทางหลวงกำลังสร้างโครงการเมกกะโปรเจกส์ ขณะนี้มีการว่า จ้างบริษัทออกแบบกว่า 70 ล้านบาท เพื่อสร้างแบบในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางกว่า 199 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการเสนอในปีงบประมาณ 2551-2553 นี้

“เราไม่ค่อยไว้วางใจกับการก่อสร้างในโครงการนี้ เพราะคนคิดโปรเจกส์เป็นคน ๆ เดียวกับคนที่มีประวัติในการทุจริตในโครงการการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลใน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ดังนั้นการคิดโครงการนี้จึงหนีไม่พ้นการแสวงหาประโยชน์ของ ข้าราชการระดับสูงอีกแน่นอน”

ขณะที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน (คปต.) กล่าวว่า การทำงานต่อต้านการทุจริต 10 ปีที่ผ่านมาถูกคุกคามจากทั้งนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หลายรูปแบบ ดังนั้นจึงไม่สนับสนุนให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมา ขุดคุ้นการทุจริตเหมือนตน แต่ขอให้ภาคประชาชนทำหน้าที่เพียงแจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลเท่านั้น หากลุกขึ้นมาต่อสู้เหมือนตนอาจจะถูกคุกคามถึงชีวิตและทรัพย์สินได้ เพราะเราไม่มีทางจะสู้ชนะบุคลเหล่านั้นได้ แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาคุ้มครองก็ไม่สามารถทำให้ปลอดภัยจากการคุกคามได้ ซึ่งเห็นตัวอย่างมากมายทั้งการเสียชีวิตของนายเจริญ วัดอักษร เป็นต้น

“การแก้ไขปัญหาการทุจริตนั้นจะไม่ถูกแก้ไขหากรัฐบาลไม่มีความจริงใจ ซึ่งผมก็ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพราะจากผลงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาก็เห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว และหลายเรื่องนายกฯ ก็ทำผิดเสียเอง ดังนั้นแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น โดยจะมีการจัดงาน ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 6 เมษายนนี้ จึงเป็นเพียงการโหนกระแสการทำงานของปปช.เท่านั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น