xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น คตส.- ร้องศาลต้านอุ้มไอทีวี องค์กร ปชช.ลุกฮือบี้นายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรประชาชนนำโดยสมัชชา ปชช.19 จังหวัดอีสาน ผนึกเครือข่ายพันธมิตรลุกฮือต้านรัฐบาลผลาญงบฯแผ่นดิน-ละเมิดกฎหมาย อุ้ม"ไอทีวี"ซากเน่าปัญหาทรราช "แม้ว"-กลุ่มทุนเทมาเส็ก จี้ "สุรยุทธ์" ทบทวนความผิดพลาดด่วนก่อน “ฟางเส้นสุดท้าย”ขาดผึงนำไปสู่วิกฤตใหญ่ เตรียมบุกยื่น "คตส."ให้ตรวจสอบวันนี้ และ ร้องศาลปกครองสูงสุดคุ้มครองผลประโยชน์ชาติและประชาชน ด้าน “คุณหญิงทิพาวดี” ยันชงครม.จัดการ “งูเห่า” ฟ้องผู้บริหารไอทีวีเดิม ข้อหาตัดตอนทำรัฐเสียหาย เชื่อปัญหา “ทักษิณไอทีวี”จะชัดเจนใน 30วัน ขณะที่ ครป. เรียกร้อง จิตวิญญาณ พนง.ลาออก ชูธงปฏิรูป ทีวีสาธารณะ ตลาดหลักทรัพย์ฯให้เวลา"ไอทีวี" 30วัน แจงแผนงานธุรกิจใหม่หลังเข้าข่ายเพิกถอน

วานนี้ ( 11 มี.ค.) ที่ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มแกนนำสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัดและภาคีมวลชนคนโคราชรักประชาธิปไตย นำโดย ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด, นายสาธร สินปรุ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขา นครราชสีมา ได้เปิดแถลงข่าว เรื่องความผิดพลาดของรัฐบาลในการจัดการปัญหา คลื่นโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟหรือสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี ( itv )เดิม พร้อมเรียกร้องให้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ทบทวนการแก้ปัญหาดังกล่าว
         
ทพ.ศุภผล เอี่ยเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด กล่าวว่า กรณีปัญหาของ ไอทีวี เป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ซุกซ่อนฐานภูเขาอันเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ๆ อีกมากมายอยู่เบื้องล่าง ปัญหาใหญ่เหล่านั้นล้วนเกี่ยวพันกับบุคคล เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับการซื้อขายชินคอร์ปที่มีเงื่อนงำซึ่งมีกิจการไอทีวีรวมอยู่ด้วย ระหว่างกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ และ ชินคอร์ป ,การใช้อำนาจอย่างมิชอบของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเพื่อให้ไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานน้อยลงผิดไปจากสัญญาเดิม และการใช้สื่อไอทีวี เพื่อประโยชน์ส่วนตนและทำร้ายผู้อื่น

โดยที่คณะผู้บริหารหรือบอร์ดและพนักงานไอทีวี มิได้แสดงท่าทีต่อต้านขัดขืนเช่นที่สื่อมวลชนที่ดีพึงกระทำ จนนำมาซึ่งการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ให้ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าปรับและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกือบแสนล้านบาทให้แก่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)

บัดนี้ ท่าทีและการจัดการต่อกรณี ปัญหาไอทีวี ของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไปทั้งสังคม สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาล และผู้คนในสาขาอาชีพจำนวนมาก ล้วนผิดหวังต่อท่าทีและการกระทำที่กลับไปกลับมาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ภาพรัฐบาลเป็นเสมือนจำเลยของพนักงานไอทีวี ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทเอกชน โดยไม่ปรากฏภาพความรับผิดชอบของ บริษัท ไอทีวี ของคณะกรรมการบริษัทนี้และของกองทุนเทมาเส็ก ที่เป็นเจ้าของตัวจริงจากการซื้อขายกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“พวกเรา ประชาชน เคยสนับสนุน และคอยให้กำลังใจ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ อันเนื่องมาจากการทำลายอย่างถึงรากเหง้าของระบอบทักษิณ ในตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา แต่บัดนี้ พวกเราจำต้องขอเรียกร้องต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ เพื่อให้หันกลับมาทบทวนการแก้ไขปัญหาไอทีวีอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้ปัญหาบานปลายไป อาจส่งผลอย่างน้อย 2 ประการคือ
1. วิกฤตการณ์ของประเทศนอกจากจะไม่ได้รับการแก้ไข อาจรุนแรงมากขึ้นนำไปสู่วิกฤติใหญ่ครั้งใหม่ของบ้านเมืองอีกครั้ง อันเนื่องมาจาก “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่คล้ายกับกรณีการซื้อขายชินคอร์ป 73,000 ล้านบาท ที่ไม่เสียภาษีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่นคือ ปัญหาไอทีวี

2. ทรราชเผด็จการในคราบนักประชาธิปไตย อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจจะเสวยผลประโยชน์ จากการกระทำของท่านนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ เช่น ความปั่นป่วนของรัฐบาลเกินกว่าที่จะยืนหยัดอยู่ได้ หรือแม้กระทั่งหาช่องทางเอากิจการไอทีวี กลับไปอยู่ในมือพรรคพวกตนเองโดยไม่ต้องเสียค่าปรับให้แก่รัฐบาลแม้แต่บาทเดียว
         
จี้“สุรยุทธ์”ทบทวนยึดกม.-ธรรมาภิบาลตามพูด
ทพ.ศุภผล กล่าวต่อว่า พวกเราประชาชน ยังมีความปรารถนาดีอย่างยิ่งต่อท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ และรัฐบาลของท่าน ดังนั้น จึงขอเรียกร้องด้วยความจริงใจดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐบาล หยุดการกระทำที่เหมือนตกกระไดพลอยโจน ในการจัดการปัญหาไอทีวีในขณะนี้ หวนกลับมาทบทวนใหม่และมีความหนักแน่นตามกฎหมาย ที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวอ้างต่อสื่อมวลชน พวกเราเห็นว่าท่านต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่า นี่คือเอกชน นี่คือรัฐ นี่คือกฎหมาย หรือนี่คือการเมือง ไม่ใช่เปลี่ยนท่าทีกลับคำพูดไปมาซ้ำแล้วซ้ำอีก และดำเนินการที่ขัดต่อระเบียบกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนในที่สุด
         
อีกทั้งล่าสุดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ยังเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในการอุ้มหรือจัดจ้างพนักงานและบริหารสถานีไอทีวีหรือ ทีไอทีวี ในการประชุม ครม. วันที่ 13 มี.ค.นี้
         
 2. ต้องยึดถือ คำประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วย จริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประกาศเองเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2549 เช่น ประโยคที่ว่า “ข้าพเจ้า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ขอประกาศเจตนารมณ์ในอันที่จะมุ่งมั่น สร้างระบบบริหารราชการแผ่นดินที่สุจริต เป็นธรรม และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน ...” เป็นต้น

3.ขอเรียกร้อง บรรดาพนักงานไอทีวี ให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่สื่อมวลชนต้องมีต่อสังคม ซึ่งได้ละเลยในหลายปีที่ผ่านมา ซ้ำยังหันไปรับใช้ทรราช เมินเฉยต่อวิกฤตการณ์ของชาติ อย่าได้บิดเบือนมูลเหตุที่แท้จริงแห่งปัญหาของไอทีวีและสร้างความสับสนให้แก่สังคม
         
พวกเราประชาชน หวังว่า รัฐบาลจะหยุดสร้างปัญหาต่อเนื่อง ทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในกรณีไอทีวี หากปัญหายังมีทีท่าว่าจะดำเนินต่อไปโดยการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล พวกเราประชาชนจำต้องดำเนินการตามกระบวนการของประชาชนต่อไป” ทพ.ศุภผล กล่าว

**บุกยื่นคตส.ตรวจสอบ-ร้องศาลปกครอง
ทพ.ศุภผล กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการตามกระบวนการของประชาชน มาตรการแรกในวันนี้ ( 12 มี.ค.) สมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ภาคกลาง เหนือ ตะวันออก และกรุงเทพฯ เช่น เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ที่มี นายวีระ สมความคิด เป็นเลขาธิการฯ นายการุณ ใสงาม อดีตส.ว.บุรีรัมย์ จะเข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรุงเทพฯ
         
ทั้งนี้ เพื่อให้ตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การดำเนินการหรือการปฏิบัติของนายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) และ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจุลยุทธ์ หิรัณยะวสิต ) ในการเข้าไปอุ้มไอทีวี นั้น เข้าข่ายการประพฤติมิชอบหรือไม่
         
จากนั้น หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังดื้อดึง โดยออกมติครม.หรือกระทำการใดๆ ที่พยายามเดินหน้าอุ้มไอทีวีต่อไป ทางสมัชชาประชาชนภาคอีสานและเครือข่ายพันธมิตร จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้คุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน พร้อมจะร่วมกับเครือข่ายมวลชนทั่วประเทศต่อสู้เรื่องนี้ต่อไปจนถึงที่สุด
         
อีกทั้งยังจะมีกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ถูกรัฐบาลยุบทิ้ง และไม่รับการช่วยเหลือโอบอุ้มเฉกเช่นพนักงานบริษัทเอกชนอย่างไอทีวี เช่น องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมกดดันยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เช่นกัน
         
“ การยื่นให้คตส. ตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ กรณีการแก้ไขปัญหา ไอทีวี ดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ คตส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเอาผิดการทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติของระบอบทักษิณ ต้องมากลับมาตรวจสอบการกระทำที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เสียเอง” ทพ. ศุภผล กล่าว

**ทิพาวดีเตรียมชงครม.ตีงูเห่า
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงการเตรียมรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องผู้บริหาร ชุดเดิมของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่บอกเลิกสัญญาต่างๆ ในการออกอากาศจนทำให้ ภาครัฐเสียหายว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ทางสำนักงานอัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณารับผิดชอบ ส่วนการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีนั้น ตนยังขอยืนยันว่า จะเป็นการเข้ามาดำเนินการชั่วคราว แต่การดำเนินการขณะนี้เป็นช่วง การเชื่อมต่อให้สามารถดำเนินการได้ ตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่คุ้มครองชั่วคราวให้สามารถออกอากาศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากการประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้รับรายงานจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)ว่า หลังจากที่ สปน. บอกเลิกสัมปทานกับ บริษัท ไอทีวีเดิมในวันที่ 6 มี.ค. ทางบริษัท ไอทีวีเดิมก็ได้บอกเลิกสัญญาต่างๆที่มีไว้ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. ทั้งการเช่าอาคารทุกอาคาร รวมทั้งดาวเทียม ดังนั้นเมื่อยกเลิกทั้งหมด ตัวเชื่อมต่อ ในการส่งสัญญาณก็ทำให้เกิดอุปสรรค ดังนั้นการที่บริษัท ไอทีวีเดิม ได้ตัดตอน เช่นนี้ ก็ทำให้เกิดอุปสรรค ทั้งการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และคำสั่งของศาลปกครอง

"ประเด็นคือ จะไปต่อสัญญาอย่างไร ทั้งค่าใช้จ่าย เช่น แอร์ก็จะถูกปิดหมด ทำให้ฝ่ายรัฐที่เป็นคนกลางที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการทั้งทางกฎหมาย และความรู้สึกของประชาชนจะต้องมีความระมัดระวังในการให้บริการทางสาธารณะด้านข่าวอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดความขลุกขลัก เรื่องนี้ไม่ได้มาร้องเรียนอะไร แต่มาเล่าให้ฟังเท่านั้นเพื่อให้ทุกฝ่ายรับฟังข้อเท็จจริง เพราะรัฐอยู่ท่ามกลางความคิด เห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตามในรายละเอียดเรื่องจากฟ้องร้อง ดิฉันได้รับคำแนะนำ จากอัยการฯ ว่าในส่วนอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย ดิฉันในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี เมื่อพูดอะไรไปแล้วก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นอัยการจึงแนะนำว่า ขอให้พูดว่า เป็นเรื่องของกฎหมายจะเป็นผู้ดำเนินการ ถ้าไปสัมภาษณ์ต่อก็ขอให้อัยการ เป็นผู้ตอบ"
 
คุณหญิงทิพาวดีกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการใช้เครดิตของสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวีมาบริหารจัดการแทนการใช้งบประมาณของ สปน. 90 ล้านบาทนั้น คิดว่า เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะจากการสำรวจสัญญาทั้งทางธุรกิจ ที่บริษัทไอทีวีเดิม ทำไว้ก่อน จากเจ้าของโฆษณาหรือผู้อุปถัมภ์รายการ ตามที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์รายงาน พบว่า ทั้งเจ้าของโฆษณาหรือผู้อุปถัมภ์รายการ มีความเต็มใจที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งมูลค่าเหล่านั้นสามารถที่ ทีไอทีวีจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินรัฐสนับสนุน ดังนั้นหากตามรายงานเป็นจริงการกังวลใจต่าง ๆ เงื่อนไขกฎหมายที่ไม่ได้ใช้งบประมาณก็จะคลี่คลาย ดังนั้นเมื่อไอทีวีเดิม บริหารในเชิงธุรกิจอยู่แล้ว จึงใช้แนวทางทางเครดิตมาบริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ตรงนี้ถือเป็นการคิดนอกกรอบที่อาจมีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพนักงานทีไอทีวี เช่น ค่าน้ำมันรถ หรือค่าเบี้ยเลี้ยง ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะกรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบในแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามในรายละเอียดทางอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จะเป็นผู้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไปได้ โดยใช้แนวทาง เหมือนไอทีวีเดิม โดยใช้เงินตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินรัฐสนับสนุน

คุณหญิงทิพาวดี กล่าวอีกว่า ในกรอบไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่นี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ศาลปกครองให้ความคุ้มครอง ตนถือว่าเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการเชื่อมต่อ ดังนั้นในระยะเวลา 1 เดือนนี้ ตนจะเริ่มรับฟังความเห็นเพื่อนำมาประมวลเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟอย่างกว้างที่สุด โดยกำหนดใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ 2.กลุ่มเป็นกลางทางสังคม ทั้งผู้ชมและผู้บริโภคสื่อ อาทิ ตัวแทนสมาคม มูลนิธิ เอ็นจีโอ และ 3. กลุ่มนักวิชาการ ด้านนิเทศศาสตร์ ด้านวิชาการบริหารสื่อ ฯลฯ

"ดังนั้นใน 60 วันทองนี้ จึงถือเป็นการปรับตัวเพื่อให้ได้กรอบในการดำเนินการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน ที่ทุกคนอยากเห็นสื่อที่อิสระและมีคุณภาพ ที่สามารถให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม เราก็จะได้รูปแบการจัดรายการ ส่งเสริม ผู้จัดรายการที่มีคุณภาพ และเราจะเปิดกว้างอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามี ส่วนร่วมได้ ดังนั้นพนักงานไอทีวีเดิม ก็จะไม่ตกใจว่า จะต้องทำอย่างไร ดังนั้นใน 30 วันแรก เราจะทราบแนวทางจากการระดมความเห็น เพื่อความกระจ่างและชัดเจน เราก็จะรู้ว่าหากจะแก้กฎหมายอย่างไร คณะรัฐมนตรีจะมีความเห็นอย่างไร เมื่อนำไปสู่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการทำงานที่มีผลจริง ๆ โดยทุกฝ่ายสามารถเสนอความเห็นมายัง ศูนย์รับเรื่องประชาชน ตู้ปณ.1111, ฮอตไลน์ 1111 หรือ www.1111.go.th"

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ตนจะพยายามอย่างยิ่ง ให้การดำเนินการงานเป็นไปอย่างเรียบร้อยและไม่มีปัญหาในข้อกฎหมาย ส่วนคำท้วงติง จากทั้งสื่อ ประชาชน และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เป็นห่วงจะพยายาม ให้ดีที่สุด โดยในวันอังคารที่ 13 มี.ค. นี้ตนจะนำเรื่องนี้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งเรื่องการฟ้องร้องและการบริหารจัดการ รวมทั้งกระบวนการค่าปรับ 1 แสนล้านบาทด้วย

**ครป.เรียกร้องจิตวิญญานสื่อไอทีวี
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ผ่านมาสังคมเห็นใจพนักงานไอทีวี แต่พนักงานต้องเห็นใจสังคมที่กำลังแตกแยกจากระบอบทักษิณและต้องไม่ลืมว่าสังคมก็ตั้งคำถามถึงจุดยืนไอทีวีต่อการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับรัฐบาลทักษิณ แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารไอทีวี ไม่เคยยอมรับความจริง ซ้ำร้ายกลับพยายามฉวยโอกาสจากความขัดแย้งปลุกระดมมวลชนซึ่งสังคมต้องจับตาเล่ห์เหลี่ยมผู้บริหารไอทีวีชุดเก่าบางคน แม้ลาออกไปแล้วแต่ยังมีอิทธิพลครอบงำพนักงานบางกลุ่มเพื่อกุมสภาพการเปลี่ยนแปลงในไอทีวี

นายสุริยะใส กล่าวถึงกรณีผู้บริหารบางคนให้ข่าวพาดพิงว่าตนเตรียมเปิดบริษัทด้านสื่อสารกับ นส.มัลลิกา บุญมีตระกูล อดีตพิธีกรไอทีวี ว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการปล่อยข่าว เพื่อทำลายความชอบธรรมของ นส.มัลลิกา ที่ถอนตัวจากไอทีวีเพื่อเปิดทางให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับตนไม่เคยคิดทำธุรกิจกับใคร ตนรู้สึกผิดหวังผู้บริหารไอทีวีบางคนปั้นข่าวโดยไม่มีข้อเท็จจริงและหวังผลทางการเมือง พฤติกรรมแบบนี้ขาดความมีมโนสำนึก และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สังคมไม่เห็นความเป็นมืออาชีพหรือจิตวิญญาณความเป็นคนข่าวในสถานการณ์วิกฤติบบนี้ ส่วนเหตุที่รู้จักกับ นส.มัลลิกา เนื่องจากเรียนด้วยกันที่วิทยาลัย นวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และเป็นช่วงที่ไอทีวีถูกศาลปกครองมีคำสั่งให้จ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานกว่า 1 แสนล้านบาท นส.มัลลิกา มาขอคำแนะนำ ซึ่งตนแนะนำไปว่าไอทีวีเกิดจากเหตการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นของประชาชนเพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรเพื่อเอาคืนให้ประชาชน

เลขาธิการครป. กล่าวว่า ตนมี 3 คำถามถึงพนักงานไอทีวีเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ 1.สังคมทุกภาคส่วนต้องการให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะอิสระจากอำนาจรัฐและทุน พนักงานไอทีวีมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร 2.พนักงานไอทีวีพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงในสถานภาพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้าง อัตราค่าตอบแทน หรือรูปแบบการบริหารงานอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์หรือไม่ 3.ขอเรียกร้องให้คนข่าวไอทีวีที่อึดอัดกับการบริหารงานภายใต้การครอบงำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน ประกาศตนออกมาชูธงปฏิรูปทีไอทีวีให้เป็นทีวีสาธารณะเพื่อพิสูจน์ว่าคนข่าวทีไอทีวีมีจิตวิญญาณความเป็นสื่อสารมวลชนอาชีพ เฉกเช่น 23 กบฎไอทีวี

**ตลท.ขีดเส้น30วันไอทีวีแจงธุรกิจใหม่
นายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 ตลาดหลักทรัพย์ฯได้แจ้งให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทภายหลังบริษัทแจ้งว่าไม่สามารถหาแหล่งเงินมาชำระค่าสัมปทานส่วนต่างและค่าปรับจากการปรับผังรายการจำนวนประมาณ 100,000 ล้านบาทให้แก่สำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จนทำให้บมจ.ไอทีวี เข้าเหตุแห่งการเพิกถอน 2 เรื่อง คือ บริษัทไม่มีธุรกิจ และการปรับลดลงของสินทรัพย์อย่างมีนัยะ ซึ่งบริษัทมีเวลาในการชี้แจงแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ บริษัทจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยในวันดังกล่าวผู้บริหารน่าจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งเพื่อแจงให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นควรจะมีการสอบถามเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานอย่างละเอียด รวมถึงการสอบถามถึงสาเหตุและความรับผิดชอบของผู้บริหารเกี่ยวกับการบริหารงานที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท

"คงต้องให้เวลาบริษัทในการพิจารณาและเสนอแนวทางในการแก้ไขคุณสมบัติของบริษัท โดยปัจจุบันมูลค่าของราคาหุ้นของบริษัทเมื่อเทียบกับระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินมูลค่าหุ้นเท่ากับ 0 บาท แต่หากบริษัทมีแผนในการดำเนินธุรกิจต่อไปตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมาพิจารณาว่าจะอนุญาตให้หุ้น ITV กลับมาซื้อขายได้หรือไม่"นายศักรินทร์กล่าว

นายศักรินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN เกี่ยวกับสภาพคล่องหุ้นหมุนเวียนในตลาดที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องดังกล่าวจะต้องรอการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งจะต้องแจ้งมาที่ตลาดหลักทรัพยฯ ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตรวจสอบความเกี่ยวโยงของกลุ่มผู้ถือหุ้นว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือไม่ รวมถึงมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ ซึ่งหากการแจ้งสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ในรอบนี้ยังต่ำกว่าเกณฑ์อาจจะทำให้จะต้องเข้าไปซื้อขายแบบมีช่วงเวลา (คอลมาร์เกต) หรืออาจจะต้องดำเนินการแก้ไขตามกระบวนการและระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดก่อน โดยขึ้นเครื่องหมาย SP และเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น