ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กลุ่มน้ำตาลวังขนาย รุกยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์เต็มสูบ จับมือกรมส่งเสริมการเกษตร ดันเกษตรกรในโควตาตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนร่วมปลูกอ้อยอินทรีย์อย่างเป็นระบบ ทั้งเร่งกลไกส่งเสริมนำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด 42 กลุ่ม ก่อนขยายผลสู่เกษตรกรในโควตาทั้งประเทศ มั่นใจผู้ผลิตน้ำตาลทุกกลุ่มร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นกับอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ขยายลู่ทางตลาดและราคาสูงขึ้น
ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงแผนการเพาะปลูกอ้อยอินทรีย์ว่า ในปี 2550 นี้ กลุ่มน้ำตาลวังขนาย ได้วางแผนการดำเนินงานในเชิงรุก หลังจากที่เริ่มมีการส่งเสริมนำรูปแบบเกษตรชีวภาพมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไปแล้วเมื่อปี 2549
ยุทธศาสตร์ของกลุ่มน้ำตาลวังขนาย สอดคล้องกับนโยบายกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ส่งเสริมภาคเกษตรไทย ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและเกษตรกร นำรูปแบบเกษตรอินทรีย์มาใช้จัดการเกษตร กลุ่มวังขนายจึงร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอ้อยโรงงาน เพื่อพัฒนาการผลิตอ้อยสู่การผลิตเป็นอ้อยอินทรีย์ ซึ่งทำให้ยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนาย มีความชัดเจนและเกิดผลเชิงรูปธรรมยิ่งขึ้น
ตามโครงการดังกล่าว กลุ่มวังขนายและกรมส่งเสริมการเกษตร จะสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย รวมตัวจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อปลูกอ้อยอินทรีย์ป้อนโรงงานน้ำตาล โดยจะนำความรู้และเทคโนโลยีการผลิตอ้อยอินทรีย์ถ่ายทอดให้กลุ่มวิสาหกิจ อีกทั้งกลุ่มวังขนายจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่กลุ่มวังขนายได้วิจัยและพัฒนาขึ้น เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ พันธุ์อ้อย แตนเบียน แมลงหางหนีบ ใช้กำจัดศัตรูในไร่อ้อย
ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานในปี 2550 กลุ่มวังขนายและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดประชุมโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอ้อยโรงงานใน 7 จังหวัด คือ นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น ลพบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี จำนวนทั้งหมด 42 กลุ่ม ซึ่งเป็นเกษตรกรในโควตาโรงงานน้ำตาลของกลุ่มวังขนาย และได้รับความสนใจจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่สูงมาก
วิสาหกิจชุมชนอ้อยโรงงานทั้ง 42 กลุ่มดังกล่าว จะเป็นกลุ่มเกษตรกรนำร่องต้นแบบที่สามารถพัฒนาสู่การผลิตอ้อยอินทรีย์เต็มรูปแบบ ก่อนที่จะขยายผลไปสู่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอ้อยโรงงานครอบคลุมทั้ง 572 เครือข่ายในพื้นที่โรงงานน้ำตาลกลุ่มวังขนายทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตอ้อยอินทรีย์ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอ้อยโรงงาน มีความบริสุทธิ์จนถึงระดับอ้อยอินทรีย์เต็มรูปแบบ ทำให้การผลิตน้ำตาลธรรมชาติมีคุณภาพในระดับที่ปลอดจากเคมีภัณฑ์
"คาดว่า จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาการผลิตอ้อยอินทรีย์ เป็นระยะต่อเนื่อง 5 ปี โดยการผลิตอ้อยอินทรีย์ดังกล่าวครอบคลุม ตั้งแต่การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการเพาะปลูก การปราบศัตรูพืชด้วยชีววิธี งดใช้สารเคมีทุกกระบวนการผลิต ส่วนรูปแบบดำเนินงานระยะต้นเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในโควตา พร้อมกับให้การส่งเสริมเชิงรุก ติดตามประเมินผลต่อเนื่อง จนบรรลุผล"ดร.ณรงค์กล่าวและว่า
กลุ่มวังขนาย เป็นผู้ผลิตน้ำตาลกลุ่มแรก ที่ให้ความสำคัญต่อการผลิตอ้อยอินทรีย์เริ่มกำหนดทิศทางสู่เกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2548 และเริ่มแผนส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยอินทรีย์ในปี 2549 และสามารถดำเนินการในกลุ่มเกษตรกรได้ระดับ ซึ่งความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้ยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยอินทรีย์มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ตามกลไกวิสาหกิจชุมชนอ้อยโรงงาน เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ
ดร.ณรงค์กล่าวถึง ภาพรวมการผลิตอ้อยอินทรีย์ว่า การผลิตอ้อยอินทรีย์ นอกจากกลุ่มวังขนายที่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนแล้ว กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลกลุ่มอื่นทุกกลุ่ม มีนโยบายให้ความสำคัญต่อการผลิตอ้อยอินทรีย์ เพื่อมุ่งสู่การผลิตน้ำตาลธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งการผลิตอ้อยอินทรีย์ หากผู้ผลิตน้ำตาลทุกกลุ่มให้ความร่วมมือในการกำหนดแผนงานและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันจะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศสูงมาก
ที่ผ่านมา การผลิตน้ำตาลธรรมชาติของกลุ่มน้ำตาลวังขนาย แม้ว่าจะอยู่ในระยะเริ่มต้น ระดับคุณภาพยังมีการปนเปื้อนเคมีภัณฑ์เล็กน้อย แต่กระแสการตอบรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์น้ำตาลธรรมชาติมีสูงมาก ยอดขายน้ำตาลธรรมชาติ มีสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีสัดส่วนการขายเทียบเท่ากับน้ำตาลทรายขาวแล้ว
ทั้งนี้ หากทุกกลุ่มผลิตน้ำตาลธรรมชาติให้เหมือนกันหมดทั้งประเทศ จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยให้มีภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นแก่คู่ค้าในตลาดต่างประเทศ สามารถยกระดับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลของไทยมีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นจากปกติ ที่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อกลไกราคารับซื้ออ้อยระดับเกษตรกรในพื้นที่ สามารถขายผลผลิตอ้อยสูงขึ้นเช่นกัน