xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผวาคุก! สั่งปิดไอทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อวสาน “ไอทีวี” ครม. มีมติให้หยุดออกอากาศตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 7 มี.ค.ไปไม่มีกำหนด รอกฤษฎีกาตีความกฎหมายให้ชัดเจนคาดศุกร์นี้ได้คำตอบ “สุรยุทธ์”เอ่ยปากขออภัยพนักงานไอทีวีที่ไม่สามารถช่วยได้ เพราะติดข้อกฎหมาย ย้ำครม.ยึดความถูกต้องเป็นหลัก ด้าน“ทิพาวดี” ยันไม่มีเอี่ยวแนวคิดส่ง อสมท.นั่งคุม โยนขี้ สปน.เสนอเองตั้งจิระเป็นเอ็มดี ที-ไอทีวี พนง.ไอทีวีสะอื้นไห้ระงม ดิ้นยื่นศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินวันนี้

วานนี้(6มี.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.ได้พิจารณากรณีปัญหาไอทีวีโดยใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งได้พิจารณาในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือการจะดำเนินรายการต่อไปอย่างไร ให้สามารถเป็นไปได้โดยที่ไม่ขัดกับแง่กฎหมาย ในที่สุดมติครม.ให้ยึดถือแนวทางตามกฎหมายเป็นนโยบายในการดำเนินงาน ส่วนรายละเอียดนั้นขอมอบหมายให้คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เป็นผู้ชี้แจงและดำเนินการตามการเสนอแนะของคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากครม.ไปแล้ว

“ส่วนที่ผมอาจจะได้พูดอะไรแล้วขัดกับแง่กฎหมาย ผมก็คงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะในความเป็นจริงส่วนตัวไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกจากอยากเห็นความต่อเนื่องนอกเหนือที่จะเห็นความสำคัญของการดำเนินงานของสื่อมวลชน แต่เมื่อมีผลกระทบในแง่กฎหมาย ผมก็จำเป็นที่จะยืนอยู่กับความถูกต้องของกฎหมาย โดยยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก” พล.อ.สุรยุทธ์กล่าว

**สั่งปิดจอไอทีวีตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในการพิจารณาของครม.นั้น ตนและนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอผลการดำเนินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อครม.โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ1.เรื่องโครงสร้างที่มีข้อจำกัดที่มีข้อจำกัดในข้อกฎหมาย 2.เรื่องสัญญาที่มีสัญญาร่วมการงานฯ ที่จะต้องแจ้งยกเลิกสัญญา ซึ่งมีมูลค่าที่ทางบริษัทไอทีวีติดค้างอยู่จะต้องชำระกับให้ สปน.ประมาณกว่าหนึ่งแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่ได้ตรวจสอบก็พบว่า ทรัพย์สินอุปกรณ์ต่างๆ ที่ในสัญญาเขียนไว้วา จะต้องตกเป็นของ สปน. เมื่อได้ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า มีมูลค่าไม่ตรงกัน เพราะมูลค่าที่ทาง สปน.มีอยู่ ยังมีการค้างอยู่อีกประมาณ 557.2 ล้านบาท ดังนั้นในแง่รายละเอียดของอุปกรณ์ที่ต้องตกเป็นของสปน.ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ไม่ตรงกันอยู่

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่ไอทีวีทำสัญญาไว้กับบริษัทย่อยๆ ซึ่งในสัญญาที่ต้องดูแลถ้าจะมีการรับมอบกันมีสัญญามากถึง 446 สัญญา ส่วนบุคลากรของไอทีวีนั้นจากที่ได้ดูข้อกฎหมายถือว่าเป็นความรับผิดชอบของไอทีวี จากการประสานงานกับนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่ามีกฎหมาย 2 ฉบับ ที่จะดูแลพนักงานไอทีวี หลังจากที่หยุดกิจการ คือกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม

คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า ในการบริหารวิทยุโทรทัศน์มีสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญคือคลื่น อุปกรณ์ และบุคลากร ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยการมอบให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้บริหาร ทางกรมประชาสัมพันธ์ก็จำเป็นต้องมีบุคลากร แต่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ดังนั้นแนวทางที่คณะทำงานจะดำเนินการต่อคือต้องพิจารณารายละเอียดของบุคลากร มีความเป็นไปได้ว่าจะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นที่มีความสามารถนอกเหนือจากพนักงานไอทีวีเดิมเข้าไปสมัครได้ด้วย

“วันนี้สิ่งที่ครม.ได้พิจารณาและอภิปรายกันอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าในเรื่องของรูปสัญญาและการปกป้องคุ้มครองพิทักษ์สิทธิอันเป็นประโยชน์ของทางราชการ ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนทุกประการ โดยทางสำนักงานอัยการสูงสุด จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดในการรักษารูปคดีเอาไว้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ทางราชการไว้ ดังนั้นถ้ามีการยกเลิกสัญญาก็จะต้องเข้าไปดำเนินการทางกฎหมาย ส่วนอุปกรณ์ต่างๆนั้นจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดที่มีเงื่อนเวลาและมีวิธีการทางกฎหมายที่จำเป็นต้องรักษาไว้ไม่ให้เสียรูปคดี”คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

ทั้งนี้มีการพิจารณาในประเด็นที่ว่าเมื่อคลื่นได้กลับมาภายใต้ความรับผิดชอบของ สปน.จะมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปเป็นผู้บริหารคลื่นนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบในเชิงอำนาจหน้าที่ของ สปน.เพื่อไม่ให้มีประเด็นที่ผิดกฎหมายมาตรา 80 ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ ก็จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยตีความให้ถูกต้อง คาดว่าวันศุกร์นี้จะได้รับคำตอบ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.จนถึงความชัดเจนในแง่ของกฎหมายที่จะให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามาบริหารคลื่นนี้แทน สปน.ก็คงจะมีการเว้นช่วง

นอกจากนี้ครม.ยังมีมติว่าในช่วงเวลาที่จะต้องทำคู่ขนานกันไปได้ขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟที่ตนเป็นประธานไปพิจารณาแนวทางและอนาคตของคลื่นว่าจะบริหารต่อไปอย่างไร ดังนั้นภารกิจที่มอบหมายกำหนดเวลาให้ดำเนินการไม่เกิน 1 เดือน และต้องนำมารายงานให้ครม.ทราบอีกครั้ง

“มันต้องปิดเป็นการชั่วคราว ต้องรอจนกว่าจะมีความชัดเจนในข้อกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกา จะเป็นผู้ตอบคาดว่าวันศุกร์ที่ 9 มี.ค.นี้จะได้รับคำตอบที่ชัดเจน”คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

**ขนย้ายอุปกรณ์มากรมประชาฯ

เมื่อถามย้ำว่านับจากวันที่ 7 มี.ค.เป็นต้นไป จะมีการออกอากาศหรือไม่ คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า ไม่มี เพราะเมื่อมีการยกเลิกสัญญาแล้วคงไม่สามารถออกอากาศได้จนกว่าจะได้รับคำตอบจากกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ติดขัดอีกคือ ขณะนี้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเช่าตึกชินวัตร 3 ดังนั้นเมื่อมีการยกเลิกสัญญาก็ต้องยกเลิกสัญญาการเช่าตึกด้วย ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะถูกถ่ายโอนออกจากสำนักงานมาไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์หรือสถานที่ที่ สปน.กำหนด ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ขลุกขลักประมาณ 3-4 วัน โดยตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.นี้จะมีการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เพราะถือว่าเมื่อบอกเลิกสัญญาทุกอย่างต้องสิ้นสุดลง และกลับคืนมาเป็น สปน.

เมื่อถามว่ามติครม.เป็นไปตามข้อกฎหมายหรือแรงกดดันทางการเมือง คุณหญิงทิพาวดี กล่าวยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปตามข้อกฎหมายและคณะกรรมการฯที่พิจารณาเรื่องนี้ก็มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่ากระบวนการเปิดประมูลจะมีความโปร่งใส โดยไม่มีการ ล็อกสเปกให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า ยังไม่มีการตัดสินใจให้เปิดประมูล เพราะในแง่ของกฎหมายยังทำไม่ได้ ต้องขอย้ำว่าในขณะนี้ตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุฯมาตรา 80 กำหนดไว้ว่าผู้ครอบครองคลื่นไม่สามารถไปจัดสรรต่อ หรือโอนให้ใครได้ ดังนั้นการประมูลจึงขัดข้องด้วยข้อกฎหมาย ดังนั้นเวลา 1 เดือน ที่ครม.มอบหมายให้ตนไปดำเนินการจะต้องมองภาพใหญ่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายได้

“เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นบริษัทไอทีวีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมการงาน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องรับภาระนี้ทั้งที่ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เอกชนสร้างขึ้นมา แนวทางแก้ไขที่รัฐบาลพยายามทำมาตลอดคือทำด้วยความระมัดระวัง เพราะสัญญามีมูลค่าถึงแสนกว่าล้านบาท และมีรายละเอียดขึ้นตอนเยอะมาก ฉะนั้นต้องทำด้วยความรอบครอบเพื่อประโยชน์ของรัฐ และในฐานะเจ้าหนี้เรามีข้อมูลที่จะต้องรักษารูปคดีไว้ด้วย”

**โบ้ยดึง อสมท.ไม่ใช่แนวคิดตน

ต่อมาคุณหญิงทิพาวดีกล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งผลการตีความมาให้รัฐบาลแล้วก็จะสามารถออกอากาศได้เลย แต่จะให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ส่งสัญญาณ ซึ่งตนขอชี้แจงว่า แนวความคิดในการให้ อสมท.เข้ามาบริหารไอทีวีนั้นไม่ใช่ความคิดของตน แต่เป็นแนวคิดของนายจุลยุทธ ที่ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง

นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ ว่า ตนถูกขอร้องจากครม.ไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่ขอพูดอะไร โดยจะให้ความชัดเจนได้ในวันนี้(7 มี.ค.) แต่คาดว่ากรมประชาสัมพันธ์คงตั้งบริษัทลูกหรือหน่วยงานขึ้นมาดูแลไอทีวี และวันนี้ก็พร้อมที่จะขนย้ายอุปกรณ์ได้ โดยเตรียมพื้นที่แล้วที่กรมประชาสัมพันธ์เดิม ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ขณะเดียวกัน การประชุมของบอร์ด บมจ.อสมท เมื่อวานนี้ จากเดิมที่กำหนดเวลา 15.00 น. ปรากฏว่าได้ยกเลิกกะทันหัน หลังจากที่ ครม.มีมติออกมาว่าให้ไอทีวีหยุดออกอากาศ และให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดำเนินการแทน ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการล้มแนวคิดก่อนหน้าที่จะให้ อสมท เข้าไปบริหารไอทีวี

**พนักงานไอทีร่ำไห้-ดิ้นยื่นศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมครม. วานนี้เป็นไปอย่างสับสนอลหม่าน เมื่อผู้บริหารบริษัทผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศนฺ พร้อมด้วยพนักงานไอทีวีประมาณ 100 คน นำโดยนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ เจ้าของบริษัทบอร์น ออพเปอเรชั่น จำกัดและพิธีกรชื่อดัง นายจอม เพชรประดับ ผู้ช่วยบรรณาธิการฝ่ายข่าว ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงมือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเรื่องการแพร่ภาพรายการของสถานีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือด้วยตัวเองพร้อมรับปากว่าจะรับข้อมูลไว้พิจารณา

จากนั้นเมื่อครม.มีมติ บรรดาพนักงานที่รอเฝ้าชมการถ่ายทอดสดอยู่ที่สำนักงานอาคารชินวัตร 3 ต่างแสดงความเสียใจร่ำไห้ต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็รายงานข่าวนี้ตลอดทั้งวันโดยให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่า เสียดายไอทีวีอย่างไร โดยไม่ได้พูดถึงประเด็นความรับผิดชอบของบริษัทไอทีวี หรือ ผู้บริหารระดับสูงต่อพนักงาน

นอกจากนี้ยังได้หารือกันจะส่งตัวแทนไปยื่นต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการระงับการออกอากาศคลื่นความถี่โทรทัศน์สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และในระหว่างนี้ พนักงานในฝ่ายข่าวจะไม่หยุดทำงาน และจะส่งทีมข่าวออกปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้เงินจากกองทุนที่ได้จากรางวัลในการทำข่าวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 700,000 บาท ส่วนอาคารที่ทำการจะหาที่ใหม่ รถข่าวจะใช้รถส่วนตัว ส่วนกล้อง และอุปกรณ์ในการทำข่าว จะใช้ของส่วนตัว และหยิบยืมจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ

ต่อมาเวลา 16.00 น. นายจตุรงค์ สุขเอียด ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติครม. เรื่องการดำเนินการระงับการออกอากาศคลื่นความถี่โทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยระบุว่า มติครม.โดยการเสนอของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มี.ค. เรื่องให้ยุติการออกอากาศ คลื่นความถี่ในระบบยูเอชเอฟ ซึ่งเดิมบริษัทไอทีวี จำกัด ( มหาชน) ได้รับสัมปทาน จากสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ โดยต่อมาถ้าหากสำนักงานปลัดฯ ยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวของบริษัทไอทีวีฯ คลื่นความถี่ดังกล่าวนี้ต้องตกเป็นคลื่นความถี่ของรัฐและไม่สามารถออกอากาศได้ทันที่ทันใด เนื่องมาจากขาดความพร้อมด้านทรัพย์สิน อุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรที่สามารถดำเนินการออกอากาศ เพื่อให้ประชาชนรับชมข่าวสารได้

มติครม.ดังกล่าว เป็นการดำเนินการขัดต่อกฎหมายตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง มาตรา 9 ( 1 ) )(2) และ(3) เนื่องจากมติครม.ที่ออกมาเป็นการสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม เป็นการวางกฎเกณฑ์สร้างความฟุ่มเฟือย โดยที่ครม.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความข้อกฎหมายเป็นการสร้างภาระเกินสมควรให้กับพนักงานไอทีวี

“ ในฐานะพนักงานรวมถึงพนักงานคนไทยทุกคน เห็นว่ามติครม.ที่ให้ยุติการออกอากาศทันทีในวันนี้ ( 7 มี.ค.) เป็นการกระทำเกินสมควร ถือเป็นการละเลย และปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่มีการเตรียมการแต่เนินๆ ส่งผลให้พนักงานไอทีวี และประชาชนคนไทยทุกคนได้รับผลกระทบในการบริโภคข่าวสารอย่างมาก ขณะที่ยังต้องรอข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายประเด็นจึงไม่น่าจะสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีก่อน จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนมติครม.ดังกล่าว และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ออกอากาศได้ตามปกติจนกว่าจะได้ข้อสรุปทางกฎหมายี่ชัดเจน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ และทรัพยากรของประเทศชาติ คำร้องระบุ

ทั้งนี้ศาลปกครองกลางได้รับคำร้องไว้แล้วและจะมีการไต่สวนฉุกเฉินตามที่ไอทีวีร้อง ในวันนี้ เวลา 9.30 น.

** ตั้ง “จิระ หงส์ลดารมย์”นั่งเอ็มดี “ที-ไอทีวี”

เมื่อเวลา 18.00 น. คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการสถานีวิทยุโททัศน์ระบบยูเอชเอฟ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ สปน. ส่งเรื่องข้อปัญหาไอทีวีไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับคลื่นยูเอชเอฟที่เป็นของ สปน. กรณีที่เป็นเจ้าของสัมปทานและมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ที่อยู่ในกำกับของ สปน. ดูว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อกฎหมายหรือไม่

“ดังนั้นถ้าคืนวันที่ 6 มี.ค. ถ้าไอทีวี ไม่ใช้หนี้กลับมา สปน.ก็จะส่งหนังสือไปยังไอทีวีในวันที่ 7 มี.ค.เพื่อยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ ถ้าการยกเลิกเป็นไปโดยเรียบร้อย ทางกรมประชาสัมพันธ์ก็พร้อมที่จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูอุปกรณ์ต่าง โดยการขนย้ายคาดว่าจะนำไปที่ สถานีเดิมของช่อง 11 ที่ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปัญหานี้รัฐบาลก็คงจะต้องวางแผนกันเป็นวัน ๆไปก่อน ”

นอกจากนี้ ที่ประชุมแต่งตั้งนายจิระ หงส์ลดารมย์ นักวิชาการ เป็นรักษาการผู้อำนวยการโครงการดำเนินสถานีระบบยูเอชเอฟหรือเป็นกรรมการผู้จัดการ หลังจากมีการบอกเลิกสัญญาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้นายจิระ นายจุลยุทธ หิรัญยะวสิต ปลัดฯสปน. และนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็จะร่วมหารือกับพนักงานไอทีวี ผู้ประกอบการ ในวันที่ 7 มี.ค. ที่ตึกชินวัตร 3 เพื่อหารือถึงการดำเนินการเกี่ยวกับพนักงานในอนาคตต่อไป

คุณหญิงทิพาวดี กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรี มีมติให้ตนและคณะกรรมการจัดทำแผนระยะยาวในอนาคต โดยจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนในสัปดาห์หน้า

นายจิระ กล่าวว่า ตนรับปากกับที่ประชุมจะรักษาการในตำแหน่งนี้เพียง 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่า พนักงานไอทีวีจะสามารถทำงานร่วมกับตนได้หากจะมองว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นคลื่นใต้น้ำในอนาคต ทั้งนี้จะทาบทาม อสมท.ให้มาช่วยแนะนำวิธีการทำงานด้วย ส่วนแผนงานในอนาคตจะมีการเชิญนักวิชาการด้านสารสนเทศและนิเทศศาสตร์มาหารือ เพื่อให้เปิดกว้างในการบริอหารสถานีแห่งใหม่ อย่างไรก็ตามเราคาดฝันได้ว่าจะมีโทรทัศน์แบบบีบีซี แต่ควรพบกันครึ่งทางให้มีความเป็นจริง ตนอยากจะสร้างผู้ผลิตรายการใหม่ๆขึ้นมาแต่ทุกอย่างต้องลงทุน หากกฤษฎีกาวินิจฉัยออกมาแล้ว ผู้ผลิตรายการก็เสนอผังรายการมาได้ ทีวีต้องสมดุลในเรื่องรายได้-รายจ่าย หากเนื้อหาข่าวมากไปก็ไม่สามารถหาเงินได้ เราควรมองความจริงด้วย

ด้านนายจุลยุทธ กล่าวย้ำว่า ไอทีวีจะถูกยกเลิกสัมปทานในวันที่ 7 มี.ค. 50 และในเวลา 24.00 น.วันที่ 8 มี.ค.ไอทีวีก็จะถูกถอดสัญญาณทันที

**เผย กฤษฎีกาเร่งตีความให้เร็วที่สุด

นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงในประเด็นที่จะส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสอบถามเรื่องที่ ครม.ขอให้พิจารณาข้อกฎหมายว่า จะสามารถให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการเผยแพร่สัญญาณต่อจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่ถูก สปน.บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

“เรื่องนี้คงจะต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดนายมีชัย ฤชุพันธ์ ว่าจะทันวันที่ 9 มี.ค.นี้ และสถานีใหม่จะออกอากาศได้วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 10 มี.ค.ได้หรือไม่ และทางกฤษฎีกาก็คงจะทำได้เร็ว”

นายจุลยุทธ กล่าวว่า หากความเห็นของกฤษฎีกากลับมาได้ทันวันที่ 9 มี.ค.นี้ พนักงานไอทีวีเดิมก็จะได้รับการจ้างจากกรมประชาสัมพันธ์ ให้เป็นพนักงานรับจ้างเหมาเพื่อผลิตรายการ ส่วนการช่วยเหลือในเรื่องของเงินเดือนนั้นขณะนี้ยังไม่ทรายรายละเอียด และหากมีการจ้างเป็นลักษณะจ้างเหมาก็คงจะลดลง ส่วนจะจ้างทั้งหมด 100% หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการสมัครเข้ามาใหม่ของพนักงานไอทีวีเดิม

** ญาติวีรชนยื่นหนังสือถึงนายกฯ

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะจำนวน 7 คน พร้อมจดหมายเปิดผนึกยื่นถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง ปัญหาและทางออกกรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยมี นายอเนกเพิ่มวงศ์เสนีย์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร เป็นผู้รับมอบ

สำหรับข้อเสนอที่ทางคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 เรียกร้องต่อรัฐบาล คือ 1. รัฐบาลต้องกำหนดรูปแบบของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีให้ชัดเจน ว่าสถานภาพหลังจาก สปน.ยกเลิกสัมปทานจะอยู่ต่อไปในรูปแบบใด เพราะความไม่ชัดเจนของรัฐจะทำให้การทำงานของคณะผู้บริหารชุดใหม่เกิดปัญหาจนไม่สามารถปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้ และซ้ำรอยกรณีสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และกรณี อสมท

2. ทางคณะกรรมการฯ ขอเสนอให้รัฐบาลตรากฎหมาย “พระราชกำหนดจัดตั้งบรรษัทมหาชนแห่งชาติไอทีวี” โดยตั้งคณะกรรมคณะหนึ่งที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายและมีตัวแทนภาคประชาชนองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนขึ้นมาบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวีแบบถาวร โดยเน้นทีวีสาธารณะ เน้นรายการข่าวสารสาระคล้ายกับสถานีโทรทัศน์บีบีซีของประเทศอังกฤษ

3. คณะกรรมการฯเห็นว่ากรณีผู้ผลิตรายการซึ่งเช่าเวลากับไอทีวีออกมาเรียกร้องความเห็นใจนั้น ทางคณะกรรมการฯรู้สึกเข้าใจ แต่ถือเป็นความรับผิดชอบของเทมาเส็กกับเครือชินคอร์ปที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหา พร้อมเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายการเรียกค่าเสียหายต่อเทมาเส็กหรือกลุ่ม ผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น