xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติหมดหวังศก.ไทย ชี้จุดพลาดจากนโยบาย"อุ๋ย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สื่อดังอังกฤษตีแพร่ความผิดพลาดของนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลขิงแก่ ชี้นโยบาย ‘หม่อมอุ๋ย-แบงก์ชาติ’สกัดกั้นเงินบาทแล้วพาลปิดกั้นเงินทุนไหลเข้าทำทุกอย่างพินาศ แถมแก้กฎหมายต่างด้าวสร้างความสับสนจนไม่ขยาด เย้ยครม.ขิงแก่ทำตัวเหมือนเป็นกรรมบริษัท นั่งเฉยๆปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า เผยผู้จัดการกองทุน ให้น้ำหนักตลาดหุ้นไทยเป็น ‘ศูนย์’ ด้าน ‘เพิร์ก’ เผยผลสำรวจ ชี้ความเสี่ยงในไทยทะยานลิ่ว จากปัญหาการเมืองภายในยืดเยื้อ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความไม่สงบทางสังคม ขณะที่สิงคโปร์ขึ้นแท่นอันดับ 1 เศรษฐกิจมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

4 เดือนหลังจากรัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ นโยบายเศรษฐกิจภายใต้การดูแลกำกับของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ก่อปัญหาต่อเนื่อง โดยจากการคาดการณ์ของ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ และประธานสายงานวิจัย บล.ภัทร มองว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 4% เพราะ การลงทุนในประเทศยังถือว่าชะลอตัว เนื่องจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร มีปัจจัยลบที่ยังไม่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นมาตรการกันเงินสำรอง30% การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจต่างด้าว กฎหมายค้าปลีก ฯลฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสัญญาณทางด้านลบต่อนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้ไม่มีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุน ประกอบกับภาครัฐยังไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่างอย่างเต็มที่

**ต่างชาติตีแพร่นโยบายอุ๋ยพลาดซ้ำซาก

ขณะที่ในมุมมองของต่างชาติล่าสุด ไฟแนนเชียลไทมส์(เอฟที) หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจอันทรงอิทธิพลของอังกฤษ ตีพิมพ์รายงานข่าวชี้ว่า ความผิดพลาดของรัฐบาลไทยภายหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะการใช้มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ และการแก้กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ตกฮวบฮาบที่สุดในประวัติศาสตร์ และเวลานี้กำลังถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยที่การลงมือปฏิบัติการของรัฐบาลเท่านั้น จึงจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้กลับคืนมาได้

ในรายงานข่าวซึ่งตีพิมพ์ในส่วน “เอฟที ฟันด์แมเนเจอร์” รายงานประจำสัปดาห์ว่าด้วยอุตสาหกรรมการลงทุนของไฟแนนเชียลไทมส์ ฉบับวันจันทร์(12)ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุว่า ประเทศไทยกำลังสร้างความสับสน แม้กระทั่งแก่พวกนักลงทุน “ผู้ช่ำชอง” ซึ่งเมื่อก่อนเคยมองว่าความยุ่งเหยิงทางการเมืองของไทย เป็นเพียงเครื่องประดับประดาอันไร้ความสำคัญ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความหนักแน่นมั่นคงเรื่อยมา

เอฟทียกคำพูดของ เคียมโด นักยุทธศาสตร์การลงทุนอาวุโสแห่งบริษัทจัดการหลักทรัพย์ แบริง แอสเสต แมเนจเมนต์ ในฮ่องกง ที่กล่าวว่า “เวลานี้เราแทบไม่ได้ลงทุนอะไรแล้ว เรากำลังขอเวลานอกจากประเทศไทย เวลานอกแบบบาสเกตบอล เราไม่สามารถคำนวณได้ว่าเขากำลังไปในทิศทางไหน”

ขณะที่รายงานแสดงความคิดเห็นของพวกผู้จัดการการลงทุน ต่างก็เต็มไปด้วยคำพูดอย่าง “รู้สึกผิดหวัง” , “น่าที่จะเลวร้ายลงอีกก่อนที่จะกระเตื้องดีขึ้นมา”, และ “จะอยู่ตรงแค่ชายขอบตลอดช่วงอนาคตที่พอมองเห็นได้”

เอฟทีอ้างความเห็นของผู้จัดการกองทุนจำนวนมากที่กล่าวว่า ถึงแม้พวกบริษัทที่น่านับถือยังคงอยู่ในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่การรัฐประหารในเดือนกันยายนได้ปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในกำมือของพวกชนชั้นนำอนุรักษนิยม ซึ่งบ่อยครั้งชอบกระทำการประหนึ่งว่า การเปิดกว้างให้แก่กระแสโลกาภิวัตน์ของไทย เป็นสิ่งที่ควรชะลอหรือกระทั่งถอยหลังกลับด้วยซ้ำ

คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยคนแก่ที่ชินกับการนั่งอยู่ในคณะกรรมการเสียเป็นส่วนใหญ่ ได้ทำความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่านับแต่การรัฐประหาร โดยที่วันเวลาซึ่งจะกลับคืนสู่การปกครองประชาธิปไตยก็ยังมีความไม่แน่นอน

“เราหันไปเลือกตลาดอื่นๆ ในเอเชียแทบจะทุกตลาด ลูกค้าของเราจำนวนน้อยลงๆ ทุกทีซึ่งดูพรักพร้อมที่จะมีทัศนะระยะยาวอันดีต่อประเทศไทย” กิลเลม ทูลลอค ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแห่งบริษัทหลักทรัพย์ซีแอลเอสเอ ในกรุงเทพฯกล่าว ขณะที่ คริสโตเฟอร์ วูด นักยุทธศาสตร์ประจำภูมิภาคของซีแอลเอสเอ ระบุว่า ให้น้ำหนักการลงทุนในไทยไว้ที่ “ศูนย์”

คณะรัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ดำเนินการอย่างผิดพลาด แม้กระทั่งในความเคลื่อนไหวที่น่ายกย่องอย่างเช่น การพยายามที่จะยับยั้งค่าเงินบาทซึ่งพุ่งขึ้นจนคุกคามการส่งออก ทั้งนี้การประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นชนวนทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 30 ปีของตลาด มาตรการลงโทษเงินลงทุนในพอร์ตโฟลิโอที่ไหลเข้าไทยเช่นนี้ ได้ถูกยกเลิกอย่างรวดเร็วไม่ใช้กับหลักทรัพย์ นอกจากนั้นยังมีการถอยหลังกลับอื่นๆ อีก ถึงแม้กฎเกณฑ์นี้ใช้บังคับใช้กับการลงทุนในตราสารหนี้

หรือความปรารถนาของชนชั้นนำผู้ปกครองประเทศ ที่ต้องการเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขายอาณาจักรสื่อสารของเขาให้แก่สิงคโปร์โดยได้กำไรอย่างงดงาม ก็ได้ถูกขยายกลายเป็นการทบทวนกันใหม่ เกี่ยวกับวิธีการใช้นอมินีอย่างกว้างขวาง เพื่อหลบเลี่ยงข้อบังคับจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติ

“รัฐบาลทำไปโดยมีเจตนาดี แต่พวกเขาไม่ได้ดำเนินการอย่างดีเพียงพอ และกำลังส่งสัญญาณผิดๆ ออกมา ทุกๆ คนต่างลดเกรดประเทศไทยกันทั้งนั้นในขณะนี้” เป็นความเห็นของ เจมส์ มาร์แชลล์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของกลุ่มฟินันซา ในกรุงเทพฯ

**ถึงทางแยกต้องตัดสินใจจะเลือกศก.แบบไหน

ขณะที่ จอร์จ มอร์แกน ที่ปรึกษาทำข้อตกลงสำหรับหลักทรัพย์นอกตลาดหุ้น (private equity) บอกว่า “โดยเนื้อแท้แล้ว คุณกำลังโยนพวกผู้ลงทุนถือหลักทรัพย์นอกตลาดหุ้นซึ่งมีความสำคัญมาก ออกไปนอกหน้าต่าง ถ้าคุณไม่ยินยอมให้นักลงทุนต่างชาติควบคุมบริษัทที่พวกเขาเลือกสรรไว้ มีบางบริษัทที่รอดชีวิตจากพวกลงทุนถือหลักทรัพย์นอกตลาดหุ้นนี่เองภายหลังปี 1997 ด้วยความช่วยเหลือของช่องโหว่ทางกฎหมาย”

มาร์แชลล์แห่งฟินันซาคาดหมายว่า รัฐบาลอาจพยายามฟื้นความเชื่อมั่นในประเทศ ซึ่งยังคงมีเงินจำนวนมากกองอยู่ในแบงก์ ด้วยการเริ่มทำโครงการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตลอดจนเริ่มเร่งเครื่องเศรษฐกิจ

กระนั้นก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเห็นว่า ถึงแม้ราคาหุ้นจะกระเตื้องขึ้นได้ แต่ก็น่าจะหมดกำลังไปอย่างรวดเร็ว หากรัฐบาลล้มเหลวไม่สามารถจัดทำแผนการทางเศรษฐกิจที่ดูมีทางเป็นไปได้

“นี่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องประเทศไทยก็คือประเทศไทยเท่านั้น ประเทศนี้กำลังอยู่ตรงทางแยกที่จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ จำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนโรดแมปสำหรับระยะ 10 ปีข้างหน้าออกมา และจำเป็นต้องตัดสินใจว่า ต้องการหรือไม่ที่จะมีเศรษฐกิจแบบเปิดและเสรี สิ่งที่พวกเราต้องการได้ยินได้ฟังนั้น มากกว่าแค่เรื่องการต่อต้านทักษิณ มีองค์ประกอบเกี่ยวกับการหวาดกลัวต่างชาติด้วย ซึ่งจะต้องแสดงความคิดเห็นกันออกมา” ทูลลอคแห่งซีแอลเอสเอกล่าว

ตลาดไทยมีราคาถูกกว่าตลาดอื่นๆ จำนวนมากในภูมิภาคแถบนี้ตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทว่าสิ่งที่ในช่วงเวลาอื่นๆ อาจเป็นเสน่ห์ดึงดูด ตอนนี้กลับถูกมองเป็นเครื่องยืนยันว่า ปัญหาของไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขบรรเทาลง ตัวอย่างเช่น หุ้นหมวดธนาคารของไทย ซื้อขายกัน ณ ราคาต่อมูลค่าทางบัญชีที่ 1.5 เท่า เปรียบเทียบกับธนาคารทั้งเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.6 และของจีนซึ่งอยู่ที่ 3.5

แต่ แอนดริว เยตส์ รองประธานเพื่อการขายสถาบันต่างประเทศ แห่งบริษัทหลักทรัพย์ซีมิโก ชี้ว่า “คุณอาจใช้ทัศนะแบบพวกคอนทราเรียน (พวกสวนกระแส) มาบอกว่าตลาดเวลานี้รับรู้เรื่องเลวร้ายที่สุดแล้ว ตลาดเวลานี้อยู่ในระดับที่ถูกน่าซื้อแล้ว แต่ผมต้องยอมรับว่าพวกลูกค้าสถาบันของเราไม่ยอมรับทัศนะแบบนี้กันหรอก”

เยตส์ยังสงสัยว่า พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ๆ อาจจะเทขายการลงทุนของพวกเขากันยิ่งกว่านี้นักหนา ถ้าหากสามารถหาผู้ซื้อที่ยินดีรับได้

อย่างไรก็ตาม รายงานของเอฟทีชิ้นนี้ชี้ว่า ยังมีผู้จัดการกองทุนที่ตั้งความหวังกับประเทศไทยอยู่เหมือนกัน

เปตริ เดอริง ผู้จัดการคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งทำงานให้กับ พีวายเอ็น ฟันด์ แมเนจเมนต์ ซึ่งจดทะเบียนที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ บ่นว่าน่าเสียใจที่รัฐบาลไทยกำลังตื่นตูมใช้มาตรการระยะสั้น ซึ่งมีนัยต่อการลงทุนระยะยาว และทำให้ทางกองทุนต้องสูญเสียเงิน แต่เขาก็ยังมองว่า ตลาดไทยจะดีในระยะยาว จนกว่าดัชนี SET index จะไต่ทะลุระดับ 1,200 จุด จากที่เวลานี้ยังอยู่ราวๆ ครึ่งเดียวของระดับดังกล่าว

เขายังมองโลกแง่ดีว่า ถ้าโชคช่วย วิกฤตที่เกิดขึ้นมาแล้วจะไม่เพียงทำให้นโยบายที่ไทยจะรับมือกับโลกมีความชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยแนวความคิดและพลังวังชาใหม่ๆ “เรากำลังอยู่ในปีจอ ดังนั้นเราจึงต้องเจ็บปวด แต่ปีหน้าเป็นปีกุน ดังนั้น เราทั้งหมดจะร่ำรวย”

**เพิร์กเผยความเสี่ยงไทยทะยานลิ่ว

บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเมือง (เพิร์ก) เปิดเผยผลการจัดอันดับ 14 ประเทศในเอเชียฉบับล่าสุดวานนี้ (13) เสริมอีกว่า “สภาวการณ์ต่างๆในไทยมีแนวโน้มจะเสื่อมถอยลงอีกในปี 2007”

“ไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติอาจพากันจับตามองอย่างใกล้ชิดมากที่สุดต่อไปอีกหลายเดือน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยเสี่ยงต่อธุรกิจ” เพิร์กกล่าว

ผลสำรวจชิ้นนี้จะให้คะแนนจากดี-เลว ด้วยการให้แต้ม 0-10 โดยแดนลอดช่องได้คะแนนโดยรวมดีที่สุดในเอเชียอยู่ที่ 2.74 แต้ม นำหน้าญี่ปุ่นซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับ 2 รวม 3.13

อย่างไรก็ตาม แม้สิงคโปร์จะมีคะแนนต่ำกว่าออสเตรเลียซึ่งมีคะแนน 2.69 แต้ม แต่ก็ยังสูงกว่าแต้ม 3.15 คะแนนของสหรัฐฯ ทั้งนี้ เหตุที่เพิร์กได้นำออสเตรเลียและสหรัฐฯเข้ามาพิจารณารวมในผลสำรวจชาติเอเชีย เพื่อเป็นพื้นฐานในการเปรียบเทียบข้อมูลเท่านั้น

เมื่อตัด 2 ประเทศนี้ออกจากการพิจารณา ฮ่องกงได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3ไล่หลังญี่ปุ่นด้วยคะแนน 3.33 ขณะที่อันดับรองๆลงมา คือมาเลเซีย (4.66) ไต้หวัน (4.76) เกาหลีใต้ (4.78) และเวียดนาม (5.36)

ส่วนจีน (5.44) ได้อันดับ 8 ตามมาคือไทย (5.49) ฟิลิปปินส์ (5.74) อินเดีย (6.24) และสุดท้ายคืออินโดนีเซีย (6.79)

ผลสำรวจฉบับนี้เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงด้านต่างๆของแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากสภาวะการเมืองภายในประเทศ ความไร้เสถียรภาพทางสังคม สถาบันต่างๆ รวมไปถึงทรัพยากรมนุษย์ ปัจจัยทางกายภาพไปจนถึงพัฒนาการภายนอกประเทศ นำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนโดยรวม

อย่างไรก็ตาม แม้สิงคโปร์จะมีคะแนนนำในภาพรวม ทว่า ปัจจัยพิจารณาด้านการเมืองภายในประเทศ “ถดถอยลงเล็กน้อย” เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นด้วย

แนวโน้มที่สิงคโปร์จะตกอยู่ในสภาพเสี่ยงภัยจากพัฒนาการภายนอกนั้น เป็นสาเหตุมาจากการที่ภาคบริษัทของแดนลอดช่องขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยงสูง เกินกว่าอำนาจการควบคุมจัดการของรัฐบาลสิงคโปร์

“เห็นได้จากกรณีการเข้าไปลงทุนในบริษัทชินคอร์ปของเทมาเส็ก ส่งผลให้สิงคโปร์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดปัญหาใหม่ๆด้านเศรษฐกิจและการทูต” เพิร์กกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น