xs
xsm
sm
md
lg

อดีตทูตมะกันพบ"อุ๋ย-เกริกไกร"บีบล้มแผนผลิตยาติดสิทธิบัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตทูตสหรัฐฯ นัดพบ “อุ๋ย-เกริกไกร” ถกกรณีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรยาเอดส์-หัวใจ ขณะที่กลุ่มธุรกิจยาออกแถลงการณ์โต้ การอ้างว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้และไม่เคยมีมาก่อนในโลก ขู่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ด้าน “เกริกไกร”ยันไทยมีสิทธิผลิตได้เอง ตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา และดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว “หมอมงคล” ระบุ “พล.อ.สุรยุทธ์” เห็นดีด้วย พร้อมขอข้อมูลอธิบายนานาประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า วันนี้(31 ม.ค.) นายดาร์ริล จอห์นสัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จะเข้าพบม.ร.ว.ปริดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เพื่อหารือ ถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยจะบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครอง ภายใต้ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ขององค์การการค้าโลก (WTO)เพราะสหรัฐฯมีบริษัทยาที่มีสิทธิบัตรอยู่มาก และจะได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิดังกล่าว เพราะหากไทยสามารถผลิตยาได้เองจะทำให้ประชาชนสามารถซื้อยาได้ในราคาถูกลง และไม่ต้องซื้อยาจากบริษัทผู้ผลิตอีกต่อไป

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสหารือกับนพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ออกประกาศบังคับใช้สิทธิผลิตยา 2 ชนิดคือ ยารักษาโรคเอดส์ และโรคหัวใจที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงยาได้มากขึ้น และซื้อยาในราคาถูกลงกว่าการซื้อยาที่ผลิตโดยเจ้าของสิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาในต่างประเทศ โดยได้ชี้แจงให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งหารือกับเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อเจรจาให้ค่าตอบแทน เบื้องต้นทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขจะให้ค่าตอบแทนเจ้าของสิทธิบัตร 0.5% ของมูลค่าที่องค์การเภสัชกรรมจะขายได้

“ผมหวังว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้ด้วยดี แต่หากเจ้าของสิทธิบัตรไม่พอใจ ก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องไทยได้ แต่ยืนยันว่า ไทยดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว”

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้(30 ม.ค.) ได้มีการหารือทำความเข้าใจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ภายหลังจากที่เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าพบ เพื่อถามถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขของไทยจะใช้สิทธิผลิตยารักษาโรคเอดส์ และโรคหัวใจ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การบังคับใช้สิทธิสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย มาตรา 51 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร โดยไม่จำเป็นต้องมีการหารือกับบริษัทยาก่อน ซึ่งทุกคนมีความเข้าใจ โดยจะดำเนินการให้เกิดความอะลุ้มอล่วยยิ่งขึ้น

“กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ต่างมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองคงไม่ต้องเป็นห่วง เพราะหารือมีความเข้าใจ ไม่เป็นข้อโต้แย้ง และไม่มีปัญหาใดๆ แล้ว โดยประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่บังคับใช้สิทธิ อเมริกา แคนาดา อินโดนีเซีย ต่างก็มีการบังคับใช้สิทธิมาแล้ว ส่วนประเทศไทยก็เคยมีความพยายามในการบังคับใช้สิทธิ แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จิ นพ.มงคล กล่าวและว่า ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เห็นว่า เป็นการตัดสินใจที่ดีแล้ว และได้ให้กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมข้อมูล เพื่อขอทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว เพื่อสามารถอธิบายกับนานาชาติได้

วันเดียวกัน นายธีระ ฉกาจนโรดมนายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทย (PReMA) ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้กระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่าการบังคับใช้สิทธิทรัพย์สิน เพียงเพราะว่ากระทรวงมีงบประมาณไม่เพียงพอเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้และไม่เคยมีมาก่อนในประเทศใดๆในโลก ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่า เป็นการกระทำแบบมองการในระยะสั้นจนทำให้ถูกประณามเป็นข่าวไปทั่วโลก

ทั้งนี้ การตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุขในการละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทนวัตกรรมยา เพื่อผลิตยาโรคหัวใจและโรคต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ได้สร้างความตกตะลึงอย่างรุนแรงให้กับวงการอันมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ และยังได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชุมชนธุรกิจระดับโลกอีกด้วย

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ในสองสามปีที่ผ่านมาการบังคับใช้สิทธิกับผลิตภัณฑ์ยาในลักษณะเช่นนี้ทั่วโลกถือว่ามีอยู่น้อยมาก ที่สำคัญคือไม่เคยมีการใช้มาตรการบังคับขั้นเด็ดขาดอย่างไร้ความยุติธรรมโดยทางการเช่นนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม สมาคมวิจัยและผลิตภัณฑ์ไม่ได้คัดค้านการที่ประเทศไทยจะผลิตหรือนำเข้ายาสามัญ (generics) แต่สิ่งที่คัดค้านคือ การอนุญาตให้เอาผลิตภัณฑ์ที่มีสิทธิบัตรไปลอกเลียนแบบโดยไม่มีการเจรจาหารือกับเจ้าของสิทธิบัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น