ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ไทย-ลาวถกความร่วมมือการจ้างแรงงานต่างด้าวครั้งที่ 4 พร้อมหาข้อสรุปการจัดการปัญหาแรงงานนอกระบบตามแนวชายแดน ป้องกันขบวนการค้ามนุษย์ ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวเถื่อน เผยแรงงานลาวในไทยที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วมีเพียง 4 หมื่นกว่าคน ขณะที่ตัวเลขตกค้างรอการพิสูจน์อย่างน้อย 5 หมื่นคน
วานนี้ (30 ม.ค.) ที่โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น กรมการจัดหางานได้ประชุมหารือแนวทางปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-ลาวครั้งที่ 4 โดยมีนายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ขณะที่ท่านสูนจัน พมมะจัก รักษาการหัวหน้ากรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประธานร่วมฝ่ายลาว
ในที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางปฏิบัติฯ ระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยกับผู้แทนฝ่ายลาว ในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การประเมินผลและกำหนดแผนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาว การจัดระบบแรงงานลาวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและขออนุญาตทำงาน (กรณี Temporary Passport-TP จะหมดอายุ) การติดตามผลการนำเข้าและส่งออกแรงงานถูกกฎหมายและการจัดระบบการจ้างแรงงาน บริเวณชายแดนและตามฤดูกาลบริเวณชายแดน
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้ (31 ม.ค.) ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ การประชุมไทย-ลาว ครั้งที่ 4 เพื่อให้นำผลสรุปและข้อกำหนดที่ได้หารือเห็นพ้องร่วมกัน ไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
นายมนูญ ปุญญกริยากร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการที่ทั้ง 2 ประเทศได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการจ้างงาน MOU ไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545 และทั้งสองฝ่ายได้ผลัดเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมหารือ การประชุมในครั้งนี้จึงมีเป้าหมาย เพื่อทบทวน และประเมินผลการดำเนินการนำเข้าแรงงานสัญชาติลาวที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการกำหนดแผนการพิสูจน์สัญชาติในระยะต่อไป ควบคู่ไปกับการนำเข้าและส่งออกแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การจัดระบบแรงงานสัญชาติลาว ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ การขออนุญาตทำงาน กรณี Temporary Passport-TP หมดอายุและการจัดระบบการจ้างงานแรงงานตามแนวชายแดนไทย-ลาว
นายมนูญ กล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า คณะผู้แทนฝ่ายลาวได้ส่งเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2549 โดยแรงงานลาวได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 43,657 คนและฝ่ายไทยได้จัดตั้งศูนย์เบ็ดเสร็จให้วีซ่าและใบอนุญาตทำงานในรูปแบบ One Stop Service เพื่อดำเนินการตรวจลงตราวีซ่า และพิจารณาอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานสัญชาติลาวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว
โดยมีแรงงานลาวมาขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานจำนวน 28,316 คน และยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวน 51,336 คน โดยทางการไทยได้ผ่อนผันให้อยู่และทำงานต่อได้อีก 1 ปี เพื่อให้ทางการลาวเข้าไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติต่อไป
นายมนูญ กล่าวอีกว่า การนำเข้าแรงงานสัญชาติลาว เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายกลุ่มใหม่นั้น ฝ่ายไทยได้แจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวรับสมัครและคัดเลือก เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย จำนวน 55,089 คน ซึ่งฝ่ายลาวได้คัดเลือกและส่งคนมาทำงานแล้ว จำนวน 5,265 คน ตัวเลขดังกล่าวสรุปล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา
ด้านนายสูนจัน พมมะจัก รักษาการหัวหน้ากรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สปป.ลาว กล่าวว่า การจัดจ้างแรงงานลาว ทางฝ่ายไทยถือว่าดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ดี ทางการลาวพอใจที่มีการจัดระบบจ้างงานที่มีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายไทย ตามแนวชายแดนนั้นปัจจุบันยังมีอยู่มาก
ทางการลาวเองก็พยายามหามาตรการสกัดแรงงานผิดกฎหมายกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง หวั่นว่าการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานลาวในลักษณะดังกล่าวจะนำไปสู่กระบวนการค้าแรงงานเถื่อน หรือกระบวนการค้ามนุษย์ ทางการลาวเชื่อว่า ภายหลังการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือจัดการระบบจ้างแรงงานลาวกับไทยครั้งนี้แล้วเสร็จ จะทำให้การกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวชัดเจนยิ่งขึ้น
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวปี 2550 ซึ่งเป็นการดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าว หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 และ 2548 โดยการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานปี 2549 จำนวน 668,567 คน สามารถทำงานต่อได้อีก 1 ปีโดยใบอนุญาตจะหมดอายุ วันที่ 30 มิถุนายน 2551
มติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการสกัดกั้นและปราบปรามจับกุม การลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรายใหม่ และแรงงานต่างด้าวที่อยู่เก่า แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านอาชญากรรม ความสงบเรียบร้อยในสังคม และความมั่นคงของประเทศ