xs
xsm
sm
md
lg

พยานแฉแหลกถูกหักหลังเบี้ยวค่าจ้างเหตุปูด ทรท.จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไต่สวนยุบ ทรท.นัดที่ 2 เข้มข้น พยานแฉเหตุปูด ทรท.จ้างลงสมัครเพราะถูกหักหลังเบี้ยวจ่ายเงินตามข้อตกลง เผยลิ้วล้อบิ๊ก ทรท.คุยโวทำอะไรก็ได้เพราะเส้นใหญ่ ขณะที่ทนาย ทรท.ยิ่งซัก ยิ่งเข้าตัว ด้าน “พงศ์เทพ” ยังปากแข็งอ้างมีข้อมูลแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคในระบบ กกต.ตั้งแต่เดือน ก.พ.ซึ่งไม่ตรงกับคำให้การ

วานนี้ ( 23 ม.ค.) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนครั้งที่ 2 ในคดียุบพรรคในกลุ่มคดีแรกที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้สั่งยุบพรรคไทยรักไทย เนื่องจากมีการว่าจ้างพรรคแผ่นดินไทยและพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยก ว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นการไต่สวนพยานเรียกของผู้ร้องคืออัยการสูงสุดรวม 7 ปาก โดยทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทยต่างก็ส่งแกนนำพรรคมาร่วมรับฟัง

อย่างไรก็ตามก่อนการไต่สวนอัยการสูงสุดได้แจ้งต่อคณะตุลาการฯว่า ไม่สามารถติดต่อน.ส.มณทิราพร พิมพ์จันทร์ พยานมาให้การได้ คณะตุลาการ โดยนายสมชาย พงษธา ตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้ดำเนินการไต่สวน จึงให้ติดต่อมาให้การในนัดต่อไป

จากนั้นจึงได้เริ่มไต่สวนพยานปากแรก คือ นายไพบูลย์ ร่วมสุข อดีตผอ.กิจการพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งนายไพบูลย์ ได้ยืนยันคำให้การตามที่ให้ไว้ในชั้นอนุกรรมการสืบสวน

สำหรับพยานปากที่ 2 คือนาย สุขสันต์ ชัยเทศ อดีตผอ.พรรคพัฒนาชาติไทย คณะตุลาการฯเพียงแต่ให้นายสุขสันต์ ยืนยันคำให้การที่ให้ไว้กับคณะอนุกรรมการ กกต. และเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ซักค้าน โดยอัยการสูงสุดได้ถามถึงที่มาของเงิน 5 หมื่นบาทที่ให้กับนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายในการแก้ไขฐานข้อมูลพรรคการเมือง ขั้นตอนในการหาบุคคล มาลงสมัคร การเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเคยถูกดำเนินคดี ฐานส่งผู้ไม่มีสิทธิสมัครลงสมัครหรือไม่

นายสุขสันต์ ชี้แจงว่า เงินจำนวน 5 หมื่นบาทที่ให้กับนายบุญทวีศักดิ์เป็นเงินที่ พรรคพวกเรี่ยไรกันในกลุ่ม และขาด 5 พันบาท จึงได้ติดต่อขอจากนายชวการ โตสวัสดิ์ ส่วนขั้นตอนการหาผู้สมัครนั้น จะมีผู้ส่งโทรสารชื่อผู้ที่ลงสมัครมายังโรงแรมที่พักในขณะนั้น โดยจะนำเลขบัตรประชาชนกรอกใส่ใบสมัครด้วยลายมือ จากนั้นจึงไปแก้ไขในทะเบียนข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคหรือ ท.พ. 6 โดยเปลี่ยนชื่อที่อยู่ เลขที่บัตรประชาชนของสมาชิกพรรคเดิม และนำชื่อของผู้ที่จะลงสมัครเข้าไปสวมแทน ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 30 รายชื่อ มีแค่ 3 คนเป็นสมาชิกพรรคเดิมและมีสิทธิลงสมัคร ส่วนการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นั้น หลังลาออกจากพรรคไทยรักไทยในปี 47 ก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชิปัตย์และลาออกมาเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 49

“คืนวันที่ 7 มี.ค. 49 ได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าพรรคธรรมาธิปไตย ให้ไปพบที่โรงแรมย่านสะพานควาย เจอกับตัวแทนของ เสธ.ไอซ์(พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต) เขาก็บอกว่ามีนครพนม เขต 5 และสกลนคร เขต 3 ที่ยังไม่มีคนสมัคร ถามผมว่าจะส่งคนลงหรือไม่ ก็บอกว่าไม่ส่ง เพราะเตรียมผู้สมัครไว้ทุกเขตใน 2 จังหวัดแล้ว แต่พรรคธัมมาธิปไตย กฤชไทยมั่นคงรับจะส่งเอง จึงจ่ายเงินกันที่เคาท์เตอร์โรงแรม ซึ่งผมถามหัวหน้าพรรคธัมมาธิปไตยว่าคนที่มาจ่ายเงินเป็นใคร ทราบว่าเป็นนายทหารชื่อผดุงศักดิ์(พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผช.หัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำรมว.กลาโหมในขณะนั้น) จึงได้จดเลขทะเบียนรถเบนซ์ และชื่อในนามบัตรที่ยื่นให้”

ทรท.ยิ่งซักยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง

ด้านนาย สุขุมพงศ์ โง่นคำ ผู้รับมอบอำนาจจากพรรคไทยรักไทย และนายสุรชัย ชินชัย ผู้รับมอบอำนาจจากพรรคพัฒนาชาติไทย พยายามซักค้านชี้ให้เห็นว่านายสุขสันต์มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยนำภาพถ่ายนายสุขสันต์กับนายชวน ที่บ้านพักจ.นครพนมมาแสดง และระบุว่า นายสุขสันต์เคยเป็นสมาชิกหลายพรรค เคยแก้ไขข้อมูลพรรคการเมืองมาก่อน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 และการออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ของนายสุขสันต์เพื่อแลกกับประโยชน์จากพรรคประชาธิปัตย์ จนบางครั้งคำตอบของนายสุขสันต์กลายเป็นผลเสียกับพรรคไทยรักไทยเอง ถึงขนาดที่ นายสมชาย ถึงกับออกปาก ว่า “จะถามให้เข้าตัวทำไม” เช่น ถามว่า เหตุใดเมื่อเป็นผู้ดำเนินการเรื่องแก้ไขฐานข้อมูลจึงไม่ลงสมัคร และการที่พานายสุเทพ ไปพบนายบุญทวีศักดิ์ ที่บ้านต้องการแลกกับประโยชน์ที่จะได้รับจากนายสุเทพหรือไม่ และที่เคยเป็นผู้ช่วยประสานงานของนายไพจิต ศรีวรขาน ทำไมจึงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

นายสุขสันต์ ชี้แจงว่า เคยลงสมัครส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ปี 39 เมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งจึงลาออก พอจะมาลงสมัครระดับท้องถิ่นจึงมาสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งอีก จึงลาออกมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในปลายปี 47 และลาออกเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 49 มาสังกัดพรรคพัฒนาชาติไทย ส่วนภาพถ่ายคู่ นายชวนเกิดขึ้นในปี 42 ขณะนายชวนเป็นนายกฯ ไปเปิดสวนหลวงร. 9 จึงแวะเยี่ยมบ้านตนและปราศรัยกับชาวบ้าน ส่วนที่ไม่ลงสมัครในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเพราะไม่จบปริญญาตรี

“วันที่ 26 ก.พ. ผมได้รับการประสานจากนายชวการซึ่งเคยรู้จักกันมาก 4-5 ปี ว่าให้หาพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงได้โทรศัพท์แจ้งให้นายบุญทวีศักดิ์ จากนั้นนายบุญทวีศักดิ์จึงประสานกับพรรคธรรมาธิปไตย พรรคกฤชไทยมั่นคง จนมีผู้พร้อมจะสมัครในระบบบัญชีรายชื่อทั้ง 3 พรรครวม 15 คน ส่วนการแก้ไขฐานข้อมูลพรรคการเมืองทำที่โรงแรมกานต์มณี โดยการเปลี่ยนแปลงรายชื่อในแผ่นดิสก์มีนายสายัณห์ เจียมสวัสดิ์ มาดำเนินการให้ เมื่อแล้วเสร็จจึงได้นำเอกสารมาให้นายบุญทวีศักดิ์ไปดำเนินการแก้ไขฐานข้อมูล ที่กกต.”

เด็กบิ๊กทรท.โวเส้นใหญ่ไม่มีความผิด

นายสุขสันต์กล่าวว่าที่ผ่านมาพบนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์ และนายต้อย ไม่ทราบนามสกุล (คนสนิทของพล.อ.ธรรมรักษ์)ที่โรงแรมหลายครั้ง โดยทั้งหมดมาร่วมประชุมกับผู้สมัคร และนำเงินมาจ่ายให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงสมัคร ซึ่งก็ทราบว่าการปลอมแปลงเอกสารราชการมีความผิด แต่นายพงษ์ศรียืนยันว่าไม่เป็นไร เพราะเส้นใหญ่

ส่วนที่ไม่ได้ยื่นให้กกต.ตรวจสอบ เพราะไม่เชื่อมั่น รวมถึงทราบจากนายชวการ ว่าถูกหักหลัง ไม่ได้รับเงินสนับสนุนตามที่ตกลงกันไว้ นายชวการบอกจะไปร้อง กกต. แต่ตนไม่เห็นด้วย จึงแจ้งนายบุญทวีศักดิ์ ซึ่งเขาบอกว่าตกลงกับชวการอย่างไร ก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น จึงได้ติดต่อกับนายไทกร พลสุวรรณ และไปให้ข้อมูลกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคิดว่าเมื่อไม่ได้เงินแล้วและทำความผิด อย่างน้อย พรรคประชาธิปัตย์น่าจะช่วยและปกป้องได้ โดยเมื่อให้ข้อมูลกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วจึงเดินทางไปบ้านนายบุญทวีศักดิ์เพื่อขอหลักฐานการแก้ไขข้อมูล โดยตน ได้ลงไปคุยกับนายบุญทวีศักดิ์ก่อนนำมาพบกับนายสุเทพในรถ

“ผม นายชวการ และนายไทกร ไปถึงบ้านนายบุญทวีศักดิ์ ก่อนนายสุเทพ จึงเข้าไปก่อนกับนายบุญทวีศักดิ์ที่เมื่อเห็นหน้านายไทกร นายบุญทวีศักดิ์ถึงกลับชี้หน้า และให้ของลับพร้อมกับบอกว่าเพราะมึงคนเดียว กูเลยไม่ได้เงิน ผมก็บอกนายบุญทวีศักดิ์ว่าเรื่องแดงแล้ว เราถูกหักหลัง และผมให้ข้อมูลกับพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว ซึ่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็ตามมาด้วยเพราะต้องการ ท.พ. 6 และแผ่นดิสก์ฉบับที่ยังไม่ได้แก้ไข แต่ไม่มีการเสนอเงินให้ โดยนายบุญทวีศักดิ์บอกว่า อยากคุยกับนายสุเทพเอง จึงเดินไปส่งที่รถ จากนั้น 30 นาที นายบุญทวีศักดิ์เดินกลับมาบอกผมว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งผมเองยืนยันไม่ได้อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีกับนายบุญทวีศักดิ์ไปเอาประโยชน์จากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผมก็ไม่ไว้ใจพรรคประชาธิปัตย์ จึงบอกไปว่าหลักฐานไม่ได้อยู่ที่ผม แต่อยู่ที่นายบุญทวีศักดิ์”

ต่อมา คณะตุลาการได้ซักถามพยานอีก 4 ปาก คือนายสายัณห์ เจียมสวัสดิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านแสงเภา ต.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ที่เป็นผู้แก้ไขข้อมูลในแผ่นดิสก์ ก่อนนำไปให้เจ้าหน้าที่ โดยคณะตุลาการได้สอบถามว่า ในการพบปะกับนายบุญทวีศักดิ์ที่สนามกีฬาแห่งชาติได้มีการเสนอเงินสนับสนุนลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ และการแก้ไขข้อมูลเริ่มทำและเสร็จเวลาใด นายสายัณห์ ชี้แจงว่า พบกับนายบุญทวีศักดิ์ ไม่เคยมีการพูดเรื่องเงินสนับสนุนการลงเลือกตั้ง และจำไม่ได้เรื่องเวลาแก้ไขฐานข้อมูล ในแผ่นดิสก์ ทราบเพียงว่ารายชื่อที่จะให้แก้ไขใส่แผ่นดิสก์เขียนไว้ในเอกสารด้วยดินสอ

ส่วนนายสุรชัย ชินชัย ผู้รับมอบอำนาจจากพรรคพัฒนาชาติไทย ถามว่า เหตุใดจึงไปสังกัดพรรคพัฒนาชาติไทย แล้วทำไมจึงไม่ลงสมัคร โดยนายสายัณห์ กล่าวว่า ตนสนใจการเมือง แต่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยไม่ให้โอกาส จึงสังกัดพรรคพัฒนาชาติไทย ครั้งแรกตัดสินใจลงสมัคร เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลง จึงคิดว่ามีโอกาสได้รับเลือกตั้ง แต่สุดท้ายไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคพัฒนาชาติไทย จึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

จนท.กกต.ยันรับเงินเปลี่ยนฐานข้อมูล

ต่อมาคณะตุลาการได้ไต่สวนนายอมรวิทย์ สุรรณผา เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ กกต. ซึ่งเป็นผู้แก้ไขข้อมูลทพ.6 ในฐานข้อมูลของสำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักงานกกต. ว่า คดีอาญาเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารอยู่ในขั้นตอนใดตั้งใจจะสู้คดีหรือรับสารภาพ และในการนัดพบนายบุญทวีศักดิ์ เหตุใดจึงไม่ให้มาพบที่สำนักงาน ตลอดจนที่บอกกับนายบุญทวีศักดิ์ว่าจะแก้ไขฐานข้อมูลได้หรือไม่ ต้องหารือเพื่อนก่อนหมายความว่าอย่างไร แล้วเหตุใดจึงไม่หารือผู้บังคับบัญชา

นายอมรวิทย์ ให้การว่า ทำงานอยู่ที่กกต.ตั้งแต่ปี 47 คดีปลอมแปลงเอกสารอยู่ในชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตั้งใจรับสารภาพ ส่วนการไปพบนายบุญทวีศักดิ์ เพราะได้รับการติดต่อหลายครั้งจนรำคาญ จึงไปพบที่บริเวณแถวรามคำแหงเนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันหยุด โดยนายบุญทวีศักดิ์แจ้งว่าต้องการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลท.พ.6 เพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ตนจึงอ้างว่าต้องกลับมาหารือนางเลียม พงษ์อุดทา เพื่อนร่วมงาน ซึ่งนางเลียม บอกว่าทำได้ เพราะเป็นข้อมูลของพรรคตัวเอง และที่ไม่ได้หารือกับผู้บังคับบัญชา เนื่องจากผู้บังคับบัญชาเคยบอกไว้ว่าถ้าไม่ว่าง ให้หารือกับเพื่อนร่วมงานแทนได้ จากนั้นตนจึงให้นางเลียมโทรศัพท์คุยกับนายบุญทวีศักดิ์ถึงขั้นตอนการแก้ไข ท.พ. 6

จากนั้นนายยืนหยัด ใจสมุทร ทนายผู้ได้รับมอบอำนาจจากพรรคไทยรักไทย ได้ซักค้านพยายามชี้ให้เห็นว่า คำให้การของนายอมรวิทย์ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเคยให้การไว้ว่าแก้ไขข้อมูลในระบบของ กกต.วันที่ 7 มี.ค.เวลา 09.00 น. แต่ผลสอบสวนของอนุฯกกต.ระบุว่ามีการแก้ไขข้อมูลครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 15.00 น. อีกทั้งนายอมรวิทย์ไม่ยอมนำเงิน 3 หมื่นบาทที่ได้รับมาแสดงต่อ อนุฯกกต.ในการให้ปากคำครั้งแรก แต่เอามามอบให้กับอนุฯครั้งที่ 3 จึงเชื่อว่า มีการเสนอประโยชน์ต่างตอบแทนให้ยอมรับกระทำความผิดเพื่อแลกกับการพ้นผิดใช่หรือไม่

นายอมรวิทย์ ชี้แจงว่า ไม่ทราบผลการตรวจสอบของอนุฯกกต. และทำงานเป็นพนักงานกกต.เดือนละหมื่นกว่าบาท แต่เมื่อได้รับเงินจากนายบุญทวีศักดิ์ จำนวน 3 หมื่นบาทก็ไม่กล้าใช้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นเงินอะไร ส่วนที่ไม่ได้นำมาให้กับอนุฯกกต.ในครั้งแรกเป็นเพราะเงินไม่ได้อยู่กับตัว และยืนยันว่าไม่มีการเจรจาให้ยอมรับผิดเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี

ต่อมาคณะตุลาการได้สอบถามนางเลียม เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์กกต. เพื่อนร่วมงานของนายอมรวิทย์ ว่า ที่เคยระบุว่าท.พ.6 สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องทำตามขั้นตอนหมายความว่าอย่างไร โดยนางเลียม ชี้แจงว่า การแก้ไขท.พ.6 สามารถทำได้ เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เช่นเลขที่บัตรประชาชนหรือชื่อสกุล ผิดพลาด ก็สามารถทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอให้แก้ไข เมื่อนายทะเบียนอนุมัติ จึงจะแก้ไขตามที่ร้องขอ และนายอมรวิทย์เป็นคนเดียวที่มีรหัสเข้าไปแก้ไขข้อมูลดังกล่าวได้

ส่วนนายธนพงศ์ รัตนะรัต เจ้าหน้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ สำนักงานกกต. ให้การว่า กกต.มีเซิร์ฟเวอร์ 8 เครื่อง โดยสำนักงานกิจการพรรคการเมืองมี 2 เครื่อง แบ่งเป็นฐานข้อมูลพรรคการเมือง และเครื่องที่เชื่อต่อระบบกับกรมการปกครอง ซึ่งเครื่องแม่ข่ายจะบันทึกการเข้าข้อมูลของเครื่องลูกข่ายไว้หมด จึงสามารถตรวจสอบได้ว่ามีเครื่องลูกข่ายใดเข้าระบบ แต่ไม่สามารถระบุว่าเข้าไปเพื่ออะไร

“พงศ์เทพ”คุยมีหลักฐานพยานกล่าวเท็จ

หลังจบการไต่สวนคณะตุลาการได้แจ้งขยายระยะเวลาให้คู่กรณีในการยื่นคำให้การว่าให้ยื่นต่อคณะตุลาการจากเดิมภายใน 7 วันเป็นภายใน 10 วันก่อนวันนัดไต่สวน และให้ยื่นคำคัดค้านคำให้การจากเดิมที่ต้องยื่นภายใน 3 วัน เป็น 5 วันก่อนวันนัดไต่สวน

นาย พงศ์เทพ เทพกาญจนา หัวหน้าทีมกฎหมาย กล่าวภายหลังการไต่สวนว่า การไต่สวนครั้งนี้ทำให้เห็นว่า พยานที่ให้ข้อมูลเรื่องการแก้ไข ฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยพรรคทราบมาว่า การแก้ไขฐานข้อมูลมีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 49 ที่ขณะนั้นยังไม่มีการประกาศยุบสภา แต่มีการมาทำให้เห็นว่าเป็นความผิดของพรรคไทยรักไทย ซึ่งจะซักค้านในประเด็นเหล่านี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น