xs
xsm
sm
md
lg

แฉ รธน.ชั่วคราวหมกเม็ด ล็อกการแปรญัตติของ ส.ส.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เจิมศักดิ์"ชี้ รธน.ชั่วคราวหมกเม็ด วางกรอบการแปรญัตติให้ทำได้ยาก เตรียมรวมกลุ่มให้ได้ 11 คนเพื่อแปรญัตติในเรื่องที่สำคัญ ขณะที่กระแสหนุน"จรัญ"นั่งประธาน กมธ.ยกร่างรธน.ยังแรง ปล่อยข่าว คมช.อาจไม่รับร่าง หากไม่ตรงตามต้องการ ด้าน"คณิน"ค้านการออกกฎหมายประชามติร่างรธน. อ้างเป็นสิทธิของประชาชนจะไปลงประชามติหรือไม่ก็ได้ ไม่ควรใช้กฎหมายมาบังคับ ระบุเงื่อนไขที่ให้ คมช.หยิบ รธน.มาประกาศใช้หากร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ เป็นเรื่องอันตราย พร้อมแนะทางแก้ประชาชนลงประชามติคว่ำ ร่าง รธน.

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ได้แสดงความกังวลในการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2550 มาตรา 27 กำหนดเรื่องการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้เมื่อมี ส.ส.ร.ลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ร.ที่มีอยู่ และสมาชิกที่ยื่นคำขอแปรญัตติ หรือที่ให้คำรับรองคำแปรญัตติของสมาชิกอื่นแล้ว จะยื่นคำขอแปรญัตติ หรือรับรองคำแปรญัตติของสมาชิกอื่นอีกไม่ได้ โดยส่วนตัวเห็นว่า เป็นการล็อกให้ ส.ส.ร.แปรญัตติรัฐธรรมนูญได้ยาก เพราะหาก ส.ส.ร.คนใดจะแปรญัตติ แก้ไข เพิ่มเติม ต้องมี ส.ส.ร.คนอื่น ๆ ลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือจำนวน 10 คน ในขณะที่มีส.ส.ร.บางส่วน ไปดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างฯ ดังนั้น ส.ส.ร.คนหนึ่งหากคิดจะแปรญัตติแก้ไขเพิ่ม เติมร่างรัฐธรรมนูญคงหาคนรับรองไม่ค่อยได้

"แนวคิดในการหาทางออกของผมคือ คงจะจับกลุ่ม ส.ส.ร.สัก 11 คน มาร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วยกัน ว่าจะแปรญัตติมาตราอะไรบ้าง จะได้แปรญัตติไปด้วยกันทีเดียว โดยคนหนึ่งเซ็นชื่อเป็นเจ้าของญัตติ ส่วนที่เหลืออีก 10 คน เซ็นชื่อรับรอง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าทำได้ หากทำไม่ได้อีกก็คงแย่" นายเจิมศักดิ์ กล่าว และว่า ทางออกที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งคือประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากๆ และรีบเสนอความคิดเห็นก่อนที่คณะกรรมาธิการจะยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างจะต้องฟังเสียงคนอื่นด้วย

นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯว่า ส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว ควรมีคุณวุฒิและวัยวุฒิเป็นที่ยอมรับของทุกคน รวมทั้งมีความสามารถในการควบคุมการประชุมได้ ซึ่งทั้ง 35 คน ในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีความเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนี้ แต่ก็ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ชี้ขาด

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า มีการบล็อกตำแหน่งประธาน และเลขาธิการไว้แล้วนั้น ตนให้คำตอบไม่ได้ แต่คิดว่าทุกคนมีเกียรติ มีศักยภาพของตัวเอง และกรรมาธิการทุกคนมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าจะเลือกใคร คงไม่มีใครชักนำได้ และคิดว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)คงไม่ทำ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งนี้ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ จะทำหน้าที่ควบคุมการประชุม ส่วนมติของที่ประชุม จะขึ้นอยู่กับ 34 คน เพราะฉะนั้นทั้ง 35 คนมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่ใช่แค่ตัวประธาน ดังนั้น ใครจะเป็นประธาน คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

รายงานข่าวแจ้งว่า เสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าจะสนับสนุน นายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างฯ ให้เป็นประธาน และมีการวิเคราะห์กันว่า คมช. จะเลือกคนของตัวเองจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เข้ามาควบคุมจริงหรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะให้คนนอกเข้ามา เหมือนเป็นการเอาฝ่ายบริหาร มายุ่งเกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหาก คมช.มีแนวคิดแบบนี้จริง หวั่นว่าจะมีเสียงครหาว่ามาครอบงำกรรมาธิการยกร่างฯ แทนที่จะให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชนอย่างแทนจริง การเลือกประธานกรรมาธิการฯ น่าจะเลือกจาก 25 คนเท่านั้น และเสียงกรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบสัดส่วน 10 คนที่ คมช.จะเลือกมาทำหน้าที่ ทำให้กรรมการธิการหลายคนหนักใจ ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้วไม่ตรงตามความต้องการของ คมช.ก็จะไม่รับ

**ค้านยืดเวลาร่างรธน.เกิน 180 วัน

ด้านนายสมควร พรหมทอง รองเลขาฯครป.กล่าวถึงกรณีการเลือกประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนุญ ว่า ครป.เห็นว่า ตำแหน่งนี้ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องสร้างความไว้วางใจจากกรรมาธิการด้วยกัน และสังคมด้วย จากรายชื่อที่ปรากฏทั้ง นายจรัญ ภักดีธนากุล น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายเกริกเกียติ พิพัฒน์เสรีธรรม และ นายวิชา มหาคุณ ทั้ง 4 ท่าน ถือว่ามีความเหมาะสมทั้งคุณวุฒิ และวัยวุฒิ เพียงแต่จุดที่ต้องระวัง ซึ่งอาจถูกโจมตีจากคนบางกลุ่มได้คือ หากเป็นคนนอก หรือไม่ใช่คน ที่มาจากสมาชิก ส.ส.ร.อาจถูกกล่าวหาได้ว่า เป็นร่างทรงหรือใบสั่งของคมช. จนอาจเปิดช่องให้อำนาจเก่าปลุกกระแสคว่ำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้

"ครป.ไม่เห็นด้วยกับว่าที่กรรมาธิการยกร่างบางคน ที่ขอขยายกรอบเวลาร่างรัฐธรรมนูญไปให้มากกว่า 180 วัน เพราะกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้นั้น ส.ส.ร.สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะในขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ส.ส.ร.ควรเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาเป็นฐาน"รองเลขาฯ ครป.กล่าว

**ค้านออกกม.ประชามติร่างรธน.

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้ออกกฎหมายออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 29 ระบุไว้ชัดเจนว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนด จึงไม่สามารถนำไปออกกฎหมายได้

นายคณิน กล่าวว่า การออกเป็นกฎหมาย ยังมีผลเสียอีกอย่างน้อย 2 ประการ คือ เมื่อออกเป็นกฎหมายแล้วต้องใช้บังคับตลอดไป จะนำมาใช้แค่ครั้งเดียวไม่ได้ และหากออกเป็นกฎหมาย ต้องมีบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ถือเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของประชาชน ซึ่งนอกจากจะออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้อย่างอิสระแล้ว ยังมีสิทธิที่จะไม่ไปออกเสียงได้ด้วย

ส่วนกรณีที่อ้างว่าจำเป็นต้องมีกฎหมาย เพื่อลงโทษคนซื้อเสียงนั้น เป็นการวิตกเกินกว่าเหตุและไม่มีเหตุผล เพราะการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่การเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้น จะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

นายคณิน ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้นำกฎหมายประชามติ ที่ออกตามรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 40 ถูกยกเลิกไปแล้ว กฎหมายดังกล่าวก็ใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ กฎหมายประชามติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ไม่เหมือนกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวและเป็นคนละเรื่องกัน โดยกฎหมายประชามติตามรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นเพียงการขอความเห็นจากประชาชน เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ขณะที่การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าประชาชนออกเสียงไม่เห็นด้วย ก็ตกไป แต่ถ้าประชาชนเสียงเห็นด้วย ต้องนำไปประกาศใช้

"กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น ถ้าดูเพียงผิวเผินอาจจะเห็นว่าดี เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่เงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่า ถ้าประชามติไม่เห็นด้วย ให้ คมช.หยิบรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ถูกยกเลิกไปมาแก้ไข แล้วประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้เลย ตรงนี้อันตรายมาก เพราะเท่ากับไม่เห็นความสำคัญของเสียงประชามติของประชาชน"อดีต ส.ส.ร.กล่าว

ส่วนวิธีที่จะป้องกันมิให้ประชาชนออกเสียงประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายคณิน กล่าวว่า ต้องงดการเขียนรัฐธรรมนูญที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกขัดแย้ง และสวนกระแสความต้องการของประชาชน และต้องไม่ลืมว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนพอใจ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ คมช.หรือตัวเองพอใจ ขณะเดียวกันต้องให้ประชาชนรับรู้และเห็นดีด้วยตลอดเส้นทางของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

"ที่สำคัญต้องตอบคำถามและข้อสงสัยของผู้ที่คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญอย่างหมดจดและด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ในการตอบโต้ เสมือนหนึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นศัตรู หรือฝ่ายตรงข้ามเป็นอันขาด นอกจากนี้ ควรจัดเวทีทางสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้อภิปรายโดยเท่าเทียมกันด้วย เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน" อดีต ส.ส.ร.กล่าว

**ยึดหลักประกันเสรีภาพของประชาชน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังจับตาดูการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ การกำหนดโครงสร้างของสังคม และการเข้ามาสู่อำนาจหรือการตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะที่ผ่านมาในอดีตต้องยอมรับว่า การใช้อำนาจของผู้นำทางการเมืองได้ทำให้โครงสร้างทางอำนาจภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ส่งผลกระทบต่อความไม่มีเสถียรภาพของประเทศ แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้ ปัญหาวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ที่ยังถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูยควรคำนึงถึงหลักประกันในเสรีภาพของประชาชนอย่างจริงจังและควรหาทางในการกำหนดบทลงโทษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด

**สป.ร่วมระดมสมองร่าง รธน.

นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)เปิดเผยว่า สป.จะจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง"รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยควรมีสาระสำคัญอย่างไร" เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมือง ระหว่างวันที่ 26 ม.ค.-7 ก.พ.50 โดยจัดการประชุมสัมมนาระดับกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ 23 ครั้งๆ ละประมาณ 150–200 คน สำหรับพื้นที่ภาคใต้กำหนดดำเนินการ 5 ครั้ง และกลุ่ม จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ดำเนินการที่จ.สุราษฎร์ธานี ในเวลา 08.00–16.00 น. วันเสาร์ที่ 27ม.ค.50 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า

ทั้งนี้ รูปแบบในการประชุมสัมมนา จะมีการรับชมวีดีทัศน์ การแบ่งกลุ่มย่อยในหัวข้ออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และภาคบ่าย จะแบ่งกลุ่มย่อยในหัวข้อ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และสรุปผลการสัมมนาโดยสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นายโคทม กล่าวอีกว่า สป.จะสรุปประเด็นที่เป็นสาระสำคัญจากการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และตรงกับความเป็นจริงของประเทศมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น