ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ยังชะลอตัวท่ามกลางไฟใต้ที่ปะทุ ผู้ประกอบกิจการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ดิ้นเพื่ออยู่รอด เสนอแบงก์ชาติยืดเวลา - ขยายความครอบคลุมกิจการที่ให้ความช่วยเหลือเงินกู้ซอฟต์โลน ไม่เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ด้านแบงก์ชาติเผยให้ความช่วยเหลือ 5 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว 12,000 ล้านบาท เหลือเงินอีกกว่า 9,000 ล้าน รอผู้ประกอบกิจการแสดงความจำนงรับความช่วยเหลือ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ - สงขลา ได้ยื่นหนังสือให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เพื่อขอความช่วยเหลือด้านธุรกิจของผู้ประกอบการจ.สงขลา - สตูล ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ในโครงการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ ในจังหวัดสงขลาและสตูล ด้วยวิธีรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้ประกอบกิจการใน จ.สงขลา-สตูล โดยการกู้ยืมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ซอฟต์โลน รวมถึงการขยายธุรกิจนอกเหนือจากที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้(ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท.ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการในจังหวัดสงขลาและสตูล ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่กลางปี 2549 ขณะนี้ธปท.ได้อนุมัติวงเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ จำนวน 80 ราย ในวงเงิน 1,793.8 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2549 มียอดเงินที่เบิกใช้แล้ว 1,302.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.63 ของวงเงินรวม
ดังนั้น วงเงินการใช้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการใน จ.สงขลา-สตูล ยังคงเหลืออีกจำนวน 1,206.2 ล้านบาท ซึ่ง ธปท.สำนักงานภาคใต้ได้ขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ โดยกำหนดให้แต่ละสถาบันการเงิน สามารถยื่นขอความช่วยเหลือภายในวันที่ 22 ของแต่ละเดือน จนกว่าจะเต็มจำนวนที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ได้นำไปสู่การพิจารณาของ ธปท.สำนักงานใหญ่ ว่าจะสามารถให้นโยบายในการช่วยเหลือได้หรือไม่และอย่างไร
สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายพงศ์อดุล กล่าวว่า มีการอนุมัติวงเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการจำนวน 5,751 ราย วงเงิน 20,736.7 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2549 มียอดเงินที่เบิกใช้แล้ว 11,613 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56 ของวงเงินรวม
ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้มีการส่งตัวแทนพบรองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ขยายประเภทกิจการ และครอบคลุมลูกค้ารายใหม่ที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินแก่กิจการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนยื่นพิจารณาของธปท. แต่คาดว่าเมื่อนโยบายใหม่ออกมาชัดเจนแล้วจะสามารถจัดสรรเม็ดเงินที่เหลือได้ในเดือนมกราคม 2550 ในวงเงินเท่าเดิมคือ 20,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธปท.กำลังปรับปรุงระเบียบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบใหม่ โดยจะพิจารณากำหนดพิธีปฏิบัติและรูปแบบการให้กู้ยืมเงินเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
อาทิ 1.ขยายระยะเวลาสิ้นสุดของระเบียบออกไปอีก 1 ปี คือจากเดิมสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็น 2551 2.การให้ความช่วยเหลือจะครอบคลุมผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ ทั้งรายที่กู้ยืมอยู่เดิมและรายใหม่ รวมทั้งที่มีการควบรวมกิจการด้วย 3.วงเงินให้ความช่วยเหลือ จะคงมีจำนวนเท่าเดิม คือ 20,700 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการขอเบิกเงินกู้ยืมตามระเบียบนี้เพียงร้อยละ 56 ของวงเงินรวมเท่านั้น ดังนั้น ธปท. จะนำวงเงินของผู้ประกอบกิจการรายที่ไม่เบิกใช้เงินกู้ยืม มาจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ ที่ยื่นขอรับความช่วยเหลือตามข้อ 2 ต่อไป
"แม้ว่าเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้ ประคับประคองกิจการให้คงอยู่ โดยไม่ยอมย้ายออกไปไหนด้วยความรักในถิ่นอาศัย ธปท.จึงต้องให้ความช่วยเหลือให้สู้กันต่อไป เพื่อต่อสายผ่านทางการเงิน และหวังว่าจะถึงวันที่ฟ้าเปิดให้ธุรกิจได้เติบโตและอยู่ได้อีกครั้ง" นายพงศ์อดุลกล่าว
ทั้งนี้ ธปท. จะจัดชี้แจงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อขยายการสนับสนุนทางการเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนระหว่างเวลา 09.30-11.30 น. ณ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา