xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.สงขลาดึงงบฯกว่า 5 หมื่นล้าน พัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ตามผังเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อบจ.สงขลาจัดระดมความคิดเห็นประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการ ในโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา โดยมีการกำหนด 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาควบคู่การบังคับใช้ผังเมือง รวม 215 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งหมด 50,985 ล้านบาท ขณะที่ภาคประชาชนเสนอ ให้คำนึงถึงแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และเสนอให้นำแผนชุมชนเข้าพิจารณาควบคู่ด้วย

วานนี้ (9 พ.ย.) ที่ห้องตะกั่วป่า โรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ จ.สงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา โดยมีตัวแทนภาคประชาชน หัวหน้าส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นายนวพล บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา(อบจ.) กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 มาตรา 17 ที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตนเอง และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรัดให้มีการถ่ายโอนภารกิจการวางผังเมืองรวมจังหวัดให้แก่อบจ. ดังนั้น อบจ.สงขลาจึงได้ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ในปีงบประมาณ 2548

"ประชาชนชาวสงขลา ส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการปรับตัวรองรับการประกาศใช้ผังเมืองที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะในบางเรื่องจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ และในเรื่องผังเมืองนี้ ถือว่าเราเสียโอกาสมามากแล้ว เพราะเราสร้างเมืองก่อน แล้วมาวางผังทีหลัง ทำให้เกิดความยากลำบากขึ้น แต่หลังจากนี้จะเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะนักลงทุน จะมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะลงทุนตรงจุดไหนได้บ้าง เช่น ในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ หากสงขลาซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ไม่สามารถกำหนดผังที่ชัดเจนได้ ก็จะไม่มีความชัดเจนในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต" นายนวพล กล่าว

สำหรับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่ อบจ.สงขลา ได้จัดทำขึ้นได้กำหนดวิสัยทัศน์ของผังคือ "สงขลาเมืองอยู่ดีมีสุข เป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมของภาคใต้ตอนล่าง ภายใต้การบูรณาการที่สมดุลด้านการพัฒนาเมืองและชนบท" และมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การจัดการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานอย่างบูรณาการ 2.การเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่ง 3.การบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 4.การส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร

สำหรับการพัฒนาระดับอำเภอ ได้มีการจัดแบ่งกลุ่มการพัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย อ.ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ และสิงหนคร 2.กลุ่มบริการด้านการขนส่งสินค้า ประกอบด้วย อ.สิงหนคร รัตภูมิ ควนเนียง และบางกล่ำ 3.กลุ่มศูนย์กลางเศรษฐกิจหลัก ประกอบด้วย อ.หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง นาหม่อม และสะเดา 4.กลุ่มพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย

ในการจัดทำแผนผังพัฒนาระดับอำเภอ เพื่อให้เกิดความความชัดเจนและสอดคล้องต่อการพัฒนาระดับจังหวัด โดยนำเสนอในรูปแบบของแผนผังเสนอแนะประเภทต่างๆ เช่น แผนผังเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินและเกษตรกรรม แผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง แผนผังการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แผนผังการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ แผนผังการพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้มีการจัดทำแผนงานโครงการ เพื่อพัฒนาตามผังเมืองรวม รวมทั้งสิ้น 215 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งหมด 50,985 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การจัดการด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานอย่างบูรณาการ จำนวน 125 โครงการ ใช้งบประมาณ 22,146.80 ล้านบาท 2.การเชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่ง 36 โครงการ 11,171.50 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 37 โครงการ 11,787 ล้านบาท 4.การส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างครบวงจร 17 โครงการ 5,880.50 ล้านบาท

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ได้มีการจัดระดมความคิดเห็นประชาชนมาแล้วรวม 12 เวที แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือการจัดประชุมระดมความคิดเห็นครั้งที่ 1 จำนวน 4 เวที การจัดระดมความคิดเห็นครั้งที่ 2 จำนวน 8 เวที โดยในการจัดระดมความคิดเห็นครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้นำเสนอความคิดเห็นที่สำคัญคือ ให้คำนึงถึงแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ควบคู่กับการจัดทำผังเมือง มีการเสนอให้นำแผนชุมชนที่จัดทำโดยชุมชนต่างๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับผังเมือง และการตั้งคณะกรรมการบังคับใช้ผังเมือง ขึ้นมาควบคุมการใช้ผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น