xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติสำรวจไทยโกงเพิ่มอยู่ลำดับเดียวกับเลบานอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2549 พบประชาชนทุจริตเพิ่ม ส่งผลให้ไทยมีอันดับการคอร์รัปชั่น นมากขึ้นคะแนนเต็ม 10 ได้แค่ 3.6 อยู่อันดับเดียวกับเลบานอน โดยมี ไฮติ อยู่ในลำดับสุดท้ายได้แค่ 1.8 ส่วนกีนี อีรัก พม่า รองบ๊วย 1.9 ขณะที่ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และ นิวซีแลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 9.6

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 ต.ค.) องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ได้รายงานผลสำรวจการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชันประจำปี 2549 จัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลจากการ สำรวจระดับความรู้สึกและการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอรัปชันในประเทศนั้นๆ ซึ่งการจัดอันดับในปีนี้ ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 163 ประเทศทั่วโลก ใช้ผลสำรวจจากแหล่งข้อมูล 12 แห่ง 9 สถาบัน เช่น ธนาคารโลก ฯลฯ ที่ได้ดำเนินการสำรวจในปี 2548 และ 2549

นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจว่า ประเทศไทยตกจากอันดับที่ 59 ด้วยคะแนน 3.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เมื่อปี 2548 มาอยู่อันดับที่ 63 ด้วยคะแนน 3.6 คะแนน โดยอยู่ในอันดับเดียวกับเลบานอนและซีเชลล์ ขณะที่ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์และนิวซีแลนด์เป็นกลุ่มประเทศที่ครองอันดับที่ 1 ด้วยคะแนน 9.6 คะแนน ส่วนไฮดิเป็นประเทศที่อยู่อันดับสุดท้ายด้วยคะแนน 1.8 คะแนน โดยมีประเทศกินี อิรักและพม่าอยู่ในอันดับรองสุดท้ายด้วยคะแนน 1.9 คะแนน

ส่วนผลการจัดอันดับเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียไม่รวมประเทศในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกกลาง จำนวน 21 ประเทศ เลขาธิการ องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ด้วยคะแนน 9.4 คะแนน โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ด้วยคะแนน 3.6 คะแนน ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุด คือ พม่าด้วยคะแนน 1.9 คะแนน ด้านประเทศที่มีคะแนนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดียและบังคลาเทศ ขณะที่มาเลเซีย ไทย ลาวและกัมพูชามีคะแนนต่ำลง

นางจุรี กล่าวต่อว่า จากผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชันประจำปี 2549 เป็นที่น่าสนใจว่า ประเทศที่มีอัตราการคอรัปชันสูงจะสัมพันธ์กับประเทศที่การพัฒนาของประเทศต่ำและมีรายได้น้อย โดยโอกาสที่จะเกิดการคอรัปชันสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูง แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการคอรัปชันน้อยเสมอไป เช่น สหรัฐฯ ที่ได้อันดับเดียวกับฟินแลนด์ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชันครั้งนี้ คงจะไม่สามารถป้องกันการคอรัปชันได้ทันที แต่จะเป็นการกระตุ้น รวมทั้งเป็นกลไกและเครื่องมือให้แต่ละประเทศรับรู้ว่า ประชาคมโลกในระดับนานาชาติมองประเทศตัวเองเรื่องคอรัปชันอย่างไร

เลขาธิการ องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กล่าวอีกว่า หวังว่า ผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชันครั้งนี้ จะกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยรู้สึกและกระตือรือร้นที่จะพัฒนา ป้องกันและปราบการการคอรัปชันอย่างจริงจังและตั้งใจจริง เพราะที่ผ่านมา สังคมรับรู้ว่า การคอรัปชันในประเทศไทยจะมีจำนวนมากขึ้นและวงเงินใหญ่ขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยจะได้ส่งข้อมูลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอรัปชันทั้งหมด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามคอรัปชันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น