ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กลุ่มน้ำตาลวังขนาย วางยุทธศาสตร์พัฒนาสู่เกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ มุ่งผลิตอ้อยอินทรีย์ รับกระแสตอบรับสินค้าสุขภาพ ทุ่มกว่า 300 ล้านบาท กำหนดแผนเลิกใช้สารเคมีทั้งปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช วางกรอบเวลา 5 ปี ผลิตอ้อยอินทรีย์เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2553 เผยเตรียมดึงชาวไร่อ้อยในโควตา เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกว่า 572 กลุ่มในพื้นที่ 4 โรงงานทั่วประเทศ เป็นกลไกปฏิบัติ คาดส่งผลดีทั้งต่อเกษตรกรขายอ้อยได้ราคาสูง ขณะที่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลได้รับการยอมรับสูงในตลาด
ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า กลุ่มวังขนายกำหนดยุทธศาสตร์ นำรูปแบบเกษตรชีวภาพ มาปรับใช้กับกระบวนการปลูกอ้อย ลดปริมาณและเลิกใช้เคมีภัณฑ์ปราบศัตรูพืช พร้อมทั้งนำปุ๋ยอินทรีย์มาบำรุงอ้อยทดแทนปุ๋ยเคมี รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม พัฒนาไปสู่ผู้ผลิตอ้อยอินทรีย์เต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้
ผู้บริหารกลุ่มวังขนาย ให้ความสำคัญต่อการนำเกษตรอินทรีย์ มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล โดยทุ่มงบประมาณ มาใช้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างจริงจัง เบื้องต้นไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท สำหรับใช้จัดฝึกอบรมเกษตรกร รวมถึงลงทุนก่อสร้างโรงเรือน จัดซื้อวัสดุ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับสู่เกษตรชีวภาพในพื้นที่ 4 โรงงานน้ำตาลของกลุ่มฯ
กลุ่มวังขนาย ได้กำหนดแผนงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นระยะต่อเนื่อง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2549 และสิ้นสุดในปี 2553 ครอบคลุมทั้งการส่งเสริม ตั้งแต่การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการเพาะปลูก การปราบศัตรูพืชด้วยชีววิธี งดใช้สารเคมีทุกกระบวนการผลิต ส่วนรูปแบบดำเนินงานระยะต้นเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในโควตา พร้อมกับให้การส่งเสริมเชิงรุก ติดตามประเมินผลต่อเนื่อง จนบรรลุผลสมบูรณ์ภายในปี 2553
ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า กลไกปฏิบัติงาน กลุ่มวังขนายจะเร่งส่งเสริมความรู้และปรับวิธีการผลิต ผ่านเกษตรกรในโควตาทั้ง 4 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลราชสีมา โรงงานน้ำตาลมหาวัง โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที.เอ็น. และโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง โดยเริ่มต้นส่งเสริมกับกลุ่มแกนนำชาวไร่อ้อย พื้นที่โรงงานละ 200 คน ไปขยายผลต่อ ควบคู่กับการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
"จุดแข็งของกลุ่มวังขนาย ณ ปัจจุบัน มีเครือข่ายเกษตรกร ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 จำนวนถึง 572 กลุ่ม คิดเป็นจำนวนเกษตรกรถึง 6,000 คน การส่งเสริมปลูกอ้อยอินทรีย์จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ เพราะเครือข่ายวิสาหกิจดังกล่าว มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้"ดร.ณรงค์กล่าวและว่า
ประโยชน์ที่เกิดขึ้น จากการปรับยุทธศาสตร์สู่การผลิตอ้อยอินทรีย์ จะส่งผลดีต่อการผลิตอ้อยและน้ำตาลในระยะยาว โดยเกษตรกรจะสามารถขายผลผลิตอ้อยได้ราคาสูงกว่า และส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์น้ำตาลของกลุ่มวังขนาย เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเกษตรชีวภาพ ได้รับการยอมรับสูง เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สร้างความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค
นอกจากนี้ กลุ่มวังขนายได้ถ่ายทอดความรู้การจัดการเกษตร เน้นให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นำเทคโนโลยีชีวภาพที่เกิดประโยชน์มาอบรมเกษตรกร ทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเคมีภัณฑ์ทั้งยาปราบศัตรูพืช และปุ๋ยบำรุงอ้อย ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยภาพรวมแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสามารถลดต้นทุนผลิตลงได้
ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า การจัดการเกษตรที่ใช้เคมีภัณฑ์ในการเพาะปลูกอ้อยที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า เป็นต้นเหตุทำลายสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล เพราะการใช้สารเคมีภัณฑ์เพื่อกำจัดศัตรูอ้อย หรือปุ๋ยบำรุงอ้อย มีผลข้างเคียงเกิดสารพิษตกค้างสะสมในพื้นดิน บางส่วนไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นอันตรายต่อชาวไร่อ้อยและสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันผู้บริโภคเกิดความวิตก ถึงประเด็นความไม่ปลอดภัยต่อสุขอนามัยด้วย
ที่ผ่านมา การใช้ยาปราบศัตรูในไร่อ้อย ไม่ใช่วิธีปราบศัตรูพืชที่ดีที่สุด กรณีการระบาดของหนอนกออ้อย ไม่สามารถใช้ยาปราบศัตรูพืชกำจัดหนอนกอ ในพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสารเคมีพ่นได้ไม่ทั่วถึงต้นอ้อยทั้งแปลง ชาวไร่ที่ฉีดพ่นเสี่ยงอันตราย ต่อการสูดดมสารพิษยาฆ่าแมลงสะสมในร่างกาย
กรณีการระบาดของหนอนกออ้อยปี 2543 ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งการใช้ยาปราบศัตรูพืชไม่สามารถควบคุมพื้นที่การระบาดได้ กลุ่มน้ำตาลวังขนาย เป็นกลุ่มแรกที่นำรูปแบบวิธีกำจัดศัตรูอ้อยแบบธรรมชาติ มากำจัดและควบคุมพื้นที่การระบาด โดยแจกจ่ายแตนเบียนไข่ แตนเบียนหนอน ให้แก่ชาวไร่ปล่อยในไร่อ้อย เพื่อกำจัดหนอนกออ้อย
"ผลการดำเนินการ ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรสามารถป้องกันการทำลายของหนอนกอได้อย่างทันท่วงที แต่ปัจจุบันการผลิตตัวแตนเบียน ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการกลุ่มวังขนาย จึงมีนโยบายจะสร้างโรงเรือนเพาะขยายพันธุ์แตนเบียน ให้ครบทั้ง 4 โรงงานคือ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ลพบุรี นครราชสีมา และมหาสารคาม" ดร.ณรงค์กล่าวและว่า
ทั้งนี้ มีเป้าหมายผลิตแตนเบียนโรงงานละ 100 ล้านตัว โดยใช้งบประมาณโรงงานละ 10 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือนและเพาะขยายพันธุ์แตนเบียน ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรส่วนการกำจัดศัตรูในไร่อ้อย นอกจากการการใช้แตนเบียนกำจัดหนอนกออ้อยแล้ว ยังจะขยายผลไปสู่ศัตรูอ้อยชนิดอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งานกำจัดศัตรูอ้อยด้วยวิธีธรรมชาติ ครอบคลุมการจำกัดศัตรูอ้อยมากที่สุด