xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งอนุกก.สอบโกง เอ็กซิมแบงก์หนุนตรวจสอบเงินกู้พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แก้วสรร” ฟิตจัดเตรียมเสนอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโกงชาติเรียงตัววันจันทร์หน้า ประธานเอ็กซิมแบงก์หนุน คตส. สุดตัวตรวจสอบให้กู้พม่า สตง.ชี้ชัดรัฐบาลทักษิณล้วงเอาเงินภาษีประชาชน 700 กว่าล้านแบกรับดอกเบี้ยส่วนต่างแทนเอ็กซิมแบงก์ แถมให้กระทรวงคลังรับความเสี่ยงแทนชินแซทเทิลไลท์ฯ หากรัฐบาลพม่าเบี้ยวหนี้เงินกู้ 4,000 ล้านบาท ด้าน “วุฒิพงษ์" หอบข้อมูลทุจริตให้ "กล้านรงค์"ขยายผลฟันครม.แม้ว ไทยรักไทยแบะท่าพร้อมให้สอบแต่ต้องไร้อคติ

วานนี้ (3 ต.ค.)นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้เดินทางเข้ามาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องบุคลากร งบประมาณ สถานที่ปฏิบัติงานและระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการ ซึ่งการทำงานของคตส.นั้นเป็นการสอบสวนคดีที่ยังไม่มีความสมบูรณ์จะต้องมีการตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว

ในการประชุมคตส.วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2549 นั้น จะมีการเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการ เพื่อแบ่งงานรับผิดชอบ เพราะแต่ละอนุกรรมการ 1 กองงานจะรับเรื่องการตรวจสอบทุจริต 3 เรื่อง จากนั้นจะเริ่มทำการไต่สวนเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เนื่องจากโครงการทุจริตที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการอยู่ ยังไม่สมบูรณ์คณะกรรมการฯ จึงต้องสานต่อเพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด และหากงานส่วนใดบุคลากรไม่พอ ก็จะขอเพิ่มจากส่วนต่าง ๆ

“การขอบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนต่างๆ เพื่อให้งานแต่ละด้านบรรลุตามเป้าหมายได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลที่เก่งมีความสามารถเก็บความลับได้ดี โดยในวันที่ 9 ตุลาคมนี้จะประชุมคณะกรรมการฯ โดยเชื่อว่าบุคคลที่จะแต่งตั้งขึ้นมาจะไม่มีความผิดพลาดแน่นอน เนื่องจากเป็นการตั้งโดยคณะกรรมการฯ ทั้งหมดและเป็นคนที่น่าเชื่อถือเราจะเอาแต่คนดีเท่านั้นเข้ามาร่วมงาน” นายแก้วสรร กล่าว

สำหรับการทำงานของคตส.คงต้องใช้ระบบกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มารองรับ โดยปรับปรุงให้เข้ากับการทำงานของคณะกรรมการฯ ในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในรายละเอียดปลีกย่อยคตส.จะสามารถร่างระเบียบปฏิบัติเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัวและรวดเร็วได้

นายแก้วสรร ยังกล่าวถึงคดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านด้วยว่า คตส.ไม่ได้ตรวจสอบ เนื่องจากอยู่ใน ป.ป.ช.อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาเริ่มต้นใหม่

ในวันเดียวกันนายสรุพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อประเทศไทย เดินทางมายัง สตง. เพื่อยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างถนนสะพานและอุโมงค์ลอดทางแยกจำนวน 16 โครงการ มูลค่า 20,000 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงหลายพันล้านบาท

**ประธานเอ็กซิมแบงก์หนุน สตง.-คตส.ตรวจสอบให้กู้พม่า

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานบริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ในฐานะคณะที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เปิดเผยว่า การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบโครงการปล่อยเงินกู้ของธนาคารที่ให้แก่ประเทศพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขการชำระคืนในระยะเวลา 12 ปี รวมถึงที่มีข่าวว่าเตรียมส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐการ (คตส.) ตรวจสอบด้วยนั้น มองว่าการตรวจสอบดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการตรวจสอบว่า โครงการที่รัฐบาลทำมีความถูกต้องเพียงใด ซึ่ง ธสน. ยินดีให้ความร่วมมือกับ สตง. และ คตส. ในการให้ข้อมูลต่างๆ อย่างเต็มที่ เพราะธนาคารมีเอกสารทุกอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว

"เขาจะตรวจสอบว่า ที่รัฐบาลทำถูกต้องไหม ส่วนเอ็กซิมแบงก์ ได้ทำหน้าที่ของธนาคารอย่างดีที่สุด โดยทำงานครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงทุกอย่าง ซึ่งธนาคารก็ได้เงินคืนทั้งหมด เรื่องนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือพม่า ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะแบงก์ก็เป็นแบงก์" นายณรงค์ชัย กล่าว

ส่วนที่ว่าโครงการดังกล่าว จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองหรือไม่นั้น คงต้องไปถามรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะตนเข้ามาเป็นประธาน ธสน. ภายหลังมีโครงการเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี มองว่าการที่มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองได้ผลประโยชน์ภายหลังนั้น เกิดจากการที่รัฐบาลพม่าเลือกบริษัทของนักการเมืองเหล่านั้นเข้าไปเอง ไม่ใช่ธนาคารไปบอกให้เลือก ส่วนรัฐบาลไทยจะเสียประโยชน์หรือไม่นั้น คงต้องไปถามรัฐบาลที่อนุมัติโครงการ

นายณรงค์ชัย กล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าว ถือว่าเป็นการที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือทางการเงินให้แก่พม่า ในลักษณะเข้าไปเปิดไลน์ให้ โดยมีการประเมินความเสี่ยงแล้วว่า พม่าสามารถใช้เงินคืนได้หรือไม่ หรือมีความคุ้มทุนหรือไม่ ซึ่งในส่วนของธนาคารถือว่าครอบคลุมความเสี่ยงแล้ว

** ล้วงภาษีชาวบ้านจ่ายดอกเบี้ยส่วนเกิน 700 กว่าล้าน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สตง. ได้เข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าว พบว่า ธสน.ใช้วิธีระดมทุนระยะสั้นจากตลาดเงินและระดมทุนระยะยาวจากตลาดทุน ซึ่งมีต้นทุนในการออกพันธบัตรที่ 3.11 – 5.64% แต่การปล่อยกู้ให้กับพม่าดังกล่าว มีการคิดดอกเบี้ยเพียง 3% เท่านั้น ทั้งที่ต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคารเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% ซึ่งส่วนต่างของต้นทุนดอกเบี้ยดังกล่าว กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้รับภาระชดเชยให้กับ ธสน. ซึ่งคิดเฉพาะค่าดอกเบี้ยส่วนเกิน เป็นเงินกว่า 700 ล้านบาท

ประเด็นข้างต้น สตง. ตั้งข้อสังเกตว่า ในการทำธุรกิจของธนาคาร แม้ว่าจะเป็นการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ก็ไม่ควรปล่อยให้ธนาคารต้องมาแบกรับส่วนต่างของต้นทุนที่สูง รวมทั้งเงินที่กระทรวงการคลังต้องนำมาชดเชยให้กับธสน. ก็เป็นเงินภาษีของประชาชน จึงเห็นว่าควรมีการตรวจสอบการปล่อยกู้ดังกล่าวว่า มีความเหมาะสมเพียงใด

นอกจากนี้ สตง. ยังตรวจสอบพบว่า การปล่อยกู้ดังกล่าว มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนการเมืองโดยในจำนวนบริษัทเอกชนของไทยที่เป็นคู่สัญญากับรัฐบาลพม่า 17 บริษัท พบว่า มีอยู่ 2 บริษัท มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดยตรง ได้แก่ บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบริษัทกรุงไทย แทร็คเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวของนายปรีชา เลาหพงษ์ชนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

**ก.คลังรับความเสี่ยงแทนชินแซทฯ

กรณีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลพม่านั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 โดยเอ็กซิมแบงก์ของไทย ได้ปล่อยกู้ 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 12 ปี ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ตามโครงการเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศพม่า การให้เงินกู้ดังกล่าวเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ

จนถึงปลายเดือนส.ค. 47 เอ็กซิมแบงก์ ได้อนุมัติโครงการและสัญญาว่าจ้างไปแล้วประมาณ 2,377 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 600 ล้านบาทเป็นการปล่อยกู้เพื่อให้กระทรวงไปรณีย์และโทรคมนาคมของพม่าจัดซื้อจัดจ้างระบบอุปกรณ์ดาวเทียมความเร็วสูงเพื่อใช้กับบริการไอพีสตาร์ของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ ในบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ตามกฎหมายการลงทุนของพม่า ชาวต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินตลอดจนโครงข่ายโทรคมนาคมในพม่าได้ ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้การระดมทุนด้านโทรคมนาคมพื้นฐานในพม่าเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากรัฐบาลพม่าไม่สามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ เพราะหากพม่าไม่ชำระหนี้จะทำให้ผู้ให้กู้จากต่างประเทศต้องยึดโครงข่ายโทรคมนาคมหรือที่ดิน ซึ่งใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นของตนซึ่งเป็นการขัดกับกฎหมาย

หนทางเดียวที่พม่าจะสามารถลงทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐานได้จึงต้องมาจากการขอสินเชื่อจากซัพพลายเออร์ ซึ่งรวมถึงชินแซทฯ ที่ขายอุปกรณ์หรือโครงข่ายการสื่อสารต่างๆ ในพม่าอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีที่ไม่มีสินเชื่อจากเอ็กซิมแบงก์ ซัพพลายเออร์เหล่านั้นต้องแบกความเสี่ยงจากการที่ไม่ได้รับชำระหนี้จากรัฐบาลพม่าที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอด้วยตนเอง

การที่เอ็กซิมแบงก์ ได้ให้สินเชื่อแก่รัฐบาลพม่าในการจัดหาระบบอุปกรณ์ดาวเทียมความเร็วสูง จึงเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงจากชินแซทฯ มายังกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันความเสี่ยงของเอ็กซิมแบงก์ตามกฎหมาย ในกรณีที่เกิดความสูญเสียอันเกิดจากเอ็กซิมแบงก์ ให้สินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล มติครม.ในเรื่องนี้จึงทำให้บริษัทชินแซทฯ ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดให้รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างบริการโทรศัพท์และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยให้ผู้ประกอบการไทยทุกรายสามารถเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรมทั้งที่สามารถทำได้ในฐานะเจ้าของเงิน แต่กลับปล่อยให้รัฐบาลพม่ากำหนดว่าต้องเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมความเร็วสูงอย่างเดียว

กรณีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่านี้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ครม.ทักษิณ มีมติให้กระทรวงการคลัง นำเงินภาษีของประชาชนไปแบกรับภาระดอกเบี้ยส่วนต่างสูงถึง 700 กว่าล้านและแบกรับความเสี่ยงจากเงินกู้ 4,000 ล้าน แถมยัง “ล็อกสเปก” ให้บริษัทในครอบครัวชินวัตรและพวกอีกด้วย

** “วุฒิพงษ์” ดอดให้ข้อมูล ป.ป.ช.ฟันครม.ทักษิณ

สำหรับความเคลื่อนไหวที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเวลา 13.40 ด.ร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษและเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้หิ้วกระเป๋าเอกสารใบใหญ่เดินทางมาที่สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อพบนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช. โดยระบุว่ามาพบนายกล้านรงค์ เพื่อพูดคุยธุระ

ด้านนายกล้านรงค์ กล่าวว่า ตนนัดหมาย ด.ร.วุฒิพงษ์ มาหารือเป็นการส่วนตัว สำหรับการทำงานของ ป.ป.ช.ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ แต่ต้องดูความชัดเจนถึงการสะสางคดีต่างๆ อีกครั้งในการประชุมวันที่ 6 ตุลาคมนี้

แหล่งข่าวใน ป.ป.ช.ระบุว่าเหตุที่ดร.วุฒิพงษ์ เดินทางมาพบนายกล้านรงค์ ครั้งนี้เพื่อนำหลักฐานและข้อมูลการทุจริตโครงการต่างๆในสมัยรัฐบาลทักษิณที่รวบรวมไว้มามอบให้นายกล้าณรงค์ เพื่อนำเข้าที่ประชุมวันที่ 6 ตุลาคมนี้ เพื่อนำไปสืบสวนขยายผลเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

**ทรท.พร้อมให้สอบทรัพย์สิน แต่ต้องไร้อคติ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ตามคำสั่ง คปค. เตรียมตรวจสอบความไม่โปร่งใสของรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย ว่า การตรวจสอบเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องชี้แจงตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ แต่ขอให้ทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ซึ่งพรรคปล่อยให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่และพร้อมให้ความร่วมมือ และยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น