xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กแอ๊ด"ขู่"บรรณวิทย์"งัด กม.อาญาทหารฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ธรรมรักษ์”งัดกฎหมายอาญาทหาร ม.41 ปี 2476 ขู่ ”บรรณวิทย์” ฐานอาฆาตและวิจารณ์ผู้บังคับบัญชาโทษคุก 3 ปี เสียงแข็งการเมืองไม่เคยล้วงลูกย้ายทหาร ขณะที่บรรณวิทย์หมูไม่กลัวน้ำร้อน เปิดแถลงข่าวย้ำการเมืองแทรกแซงทหารจนกองทัพอ่อนแอ พร้อมรับผลที่จะตามมา ถึงแม้จะถูกกลั่นแกล้ง แต่ต้องพูดความจริง ตามคำที่ “ป๋าเปรม” แนะนำว่าต้องอดทน ทำงานเพื่อชาติและกองทัพให้ดีที่สุด ด้าน อดีต ส.ส.ร.ระบุ โผทหารต้องผ่าน กกต. ตาม รัฐธรรมนูญ ม.215 วรรคสอง ส่วน กกต.เปิดผลหารือร่วม 3 หน่วยงานปี 2543 โผทหารไม่ต้องผ่าน กกต.

พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม ออกมาวิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารว่ามีการเมืองเข้ามาล้วงลูกว่า ถ้า พล.ร.อ.บรรณวิทย์ มีพวกอยู่บ้าง ก็ลองถามในที่ประชุมว่าตนเองมีอะไรเกี่ยวข้องกับเขาบ้าง ไม่มีเลย เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการโยกย้ายเสนอมาก็เห็นชอบตามนั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ และ นายทหารหน้าห้องออกมาออกมาเคลื่อนไหวพร้อมกล่าวหาว่ากองทัพถูกทำลาย คงต้องเอากฎหมายอาญาทหารมาดำเนินการ แต่โดยส่วนตัวไม่อยากทำ ส่วนจะเข้าข่ายวิจารณ์ผู้บังคับบัญชาหรือไม่นั้น พล.อ.ธรรมรักษ์ได้หันไปขอกฎหมายจากนายทหารติดตาม ก่อนกล่าวว่ากฎหมายอาญาทหาร มาตรา 41 ระบุไว้ว่า ผู้ใดเป็นทหารและมันบังอาจแสดงความอาฆาตมาตร้ายต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อทหารที่เป็นผู้ใหญ่เหนือมัน หรือมันหมิ่นประมาท ใส่ความ หรือโฆษณาความหมิ่นประมาทใด ๆ ขึ้นก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้มีมาตั้งแต่เมื่อปี 2476 แม้ว่าปรับปรุงแก่ไขไปแล้วก็ยังยึดถืออันนี้อยู่

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าผู้ที่ออกมาวิจารณ์ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวว่า ไม่รู้ อ่านให้ฟังแล้วก็แปลกันเอาเอง
“แทรกแซงยังไง ผมไม่ได้แทรกแซงผมทำทุกขั้นตอนคือ ตั้งกรรมการตามระเบียบกลาโหม และให้เขาหารือกันโดยไล่กันตามตำแหน่ง ผมมีหน้าที่เป็นประธานแล้วถามว่าเอาตามนี้นะ ก็จบ การโยกย้ายปีนี้มันก็ไม่ขี้เหร่อะไร แต่ละคนก็คิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐศรีหมด การแต่งตั้งโยกย้ายคนเป็นร้อยจะให้พอใจทุกคนคงเป็นไปไม้ได้ มันต้องดูที่มาที่ไปของแต่ละคนเป็นอย่างไร”
ส่วนกรณีที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต้องผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)นั้น พล.อ.ธรรมรักษ์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม แต่เดิมรัฐธรรมนูญนั้นระบุว่า การโยกย้ายข้าราชการซี 10 และ 11 ที่ผ่านมา ครม.ต้องให้ กกต.เห็นชอบ แต่กรณีทหารทางสำนักนายกฯ บอกว่าได้หารือกับ กกต.ชุดเก่าแล้ว กฎหมายยกเว้นทหาร ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา เราก็ยึดถือตรงนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องผ่าน กกต.ทางสำนักนายกฯคงจะพิจารณาเอง

บรรณวิทย์แถลงย้ำการเมืองแทรกแซง
ด้าน พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวว่า ที่มีข่าวตามโผโยกย้ายทหารว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เสนาธิการทหาร ซึ่งอาวุโสรองบ๊วยในอัตราจอมพลแต่จะได้รับความเห็นชอบให้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น คงไม่พูดอะไรมาก เพราะเหล่านี้คือการตอบเรื่องการเมือง เข้ามาแทรกแซงการโยกย้าย
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ที่มี รมว.กลาโหม เป็นประธาน ก็มี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ,ผบ.ทบ. ,ผบ.ทร. และ ผบ.สส. โดยมี เจ้ากรมเสมียนตราเป็นเลขาฯ ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่า ผบ.สส. ก็เป็นผู้บังคับบัญชา ผบ.เหล่าทัพ ก็เท่ากับว่าท่านมี 4 เสียง ปลัดกระทรวงกลาโหม มีเพียง 1 เสียง อย่างนี้ภาษา ไฮ-โล เขาเรียกว่าเปิดถ้วยแทงเลย ยกมือเดียวได้ 4 เสียง ลักษณะนี้เช่นนี้ถือเป็นหุ้นบริษัท คือใครซื้อหุ้นมากก็ยกมือมาก ท่านถือหุ้นใหญ่ ยกมือเดียวเกินครึ่งก็ได้ คะแนน 4 ต่อ 1 โหวตร้อยครั้ง แพ้ร้อยหนึ่งครั้ง
พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวต่อว่า ตนภูมิใจในเครื่องแบบทหารเรือ แม้ทหารเรือจะเป็นเหล่าเล็กๆ แต่ทหารเรือเป็นกองทัพที่น่าสงสาร ปลัดกระทรวงกลาโหมที่เป็นทหารเรือท่านสุดท้ายคือเมื่อปี 2520 ตอนนี้ล่วงเลยมา 30 ปี ถึงได้มีโอกาสที่ทหารเรือเป็นแคนดิเดทอีกครั้ง ก็มีข่าวว่าพลาดโอกาส ก็ขอความเห็นใจจากท่านว่า อีก 30 ปีทหารเรือจะมีโอกาสแคนดิเดทหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้แล้วตนเองไม่ได้คำนึงจะได้เป็นปลัดฯ หรือไม่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ก็เป็นตำแหน่งหนึ่ง เช่นเดียวกับปลัดกระทรวงอื่น เพียงแต่วันนี้ต้องการให้ทหารอยู่ได้ ขอให้เป็นทหารที่ท่านภูมิใจ วันที่ออกไปรบแล้วเราชนะได้ เรือออกไปรบได้ เครื่องบินรบบินได้ ซึ่งต้องเริ่มจากที่การเมืองต้องไม่เข้ามาแทรกแซง
”ถ้าแทรกแซงบ้างก็ยังพอไหว แต่ทุกวันนี้แทรกแซงกันจนกระทั่งจะไปไม่ได้แล้ว ผมเรียนตรงๆว่าการที่ถูกแทรกแซงเช่นนี้ ผมท้อแท้ และก็เบื่อหน่าย แต่เมื่อฟังประธานองคมนตรีที่บอกว่า เราเป็นม้าต้องมีความเป็นอดทน จึงรับราชการต่อไป ไม่เช่นนั้นผมคงลาออกไปแล้ว ไม่ต้องมาอยู่ยากลำบากอย่างนี้”
พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม น่าจะยึดหลักธรรมาภิบาล ถ้าเป็นจ๊อกกี้ก็ขอให้ดีหน่อย ตนเป็นม้าก็อยากวิ่ง ถ้าจ็อกกี้ดี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากจ็อกกี้ไม่ดี ทหารจะเอ็กซ์เซอร์ไซส์ หรือไปตบเท้าคุยกับคนที่คุมจ๊อกกี้หรือไม่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า ตนเป็นทหารเรือ ก็ได้แต่ไหว้พระสยามเทวาธิราชทุกวัน และ ไหว้พระแก้วมรกต ทุกวัน ก่อนเข้าที่ทำงาน
”พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีเคยพูดไว้ว่า เราเป็นข้าราชการ ต้องอดทน ต้องเป็นแบบม้าผมได้ยึดถือมาตลอดว่าเป็นข้าราชการต้องอดทน เราก็จะทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อกองทัพให้ดีที่สุด ถึงแม้จ๊อกกี้บนหลังม้าเราจะเป็นเช่นไรก็ตาม เราต้องอดทน และ ต้องเจ็บปวด เพราะจ๊อกกี้มีทั้งบังเหียน และ แส้ แต่ถึงแม้เราจะเจ็บปวดเราก็ต้องทำ”
พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่ากลัวการเมืองเข้ามากลั่นแกล้งที่ออกมาพูดเช่นนี้ แต่จำเป็นต้องออกมาเพราะยึดถือแนวทางฯที่ประธานองคมนตรีได้สั่งสอนมา อบรมมา และมาคิดดูว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะทำงานให้ประเทศและกองทัพ ทำงานเพื่อตอบสนองคุณแผ่นดิน

ทั้งนี้ การที่ออกมาระบุว่า ปัจจุบันนี้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการโยกย้ายทหาร และกิจการภายในของทหาร เป็นไปตามที่ พล.อ.มนตรี ศุภาพร จเรทหารทั่วไปพูดว่า มีการแทรกแซงมา 4-5 ปีแล้ว จนทำให้กองทัพอ่อนแอลง เพราะหากการเมืองแต่งตั้งหัวหน้าหน่วย หรือผู้นำหน่วยก็จะเป็นคนที่ต้องตอบสนองนักการเมือง
“การที่ 4 นายพลออกมาเปิดโปงเรื่องการเมืองแทรกก่อนหน้านี้ คิดว่าเขามีความรับผิดชอบ มีวุฒิภาวะ ทำเพื่อประโยชน์ของกองทัพ ทำตามข้อเรียกร้องที่ประธานองคมนตรีออกมาบอกว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องพูด เขาก็เลยคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องทำอะไรซักอย่าง ถามว่าเขาต้องเจ็บปวดหรือไม่ แน่นอนเขาต้องเจ็บปวด แทนที่เราจะไปมองว่าเขาขัดวินัย ทำไมไม่มองเขาว่าเขาคือผู้เสียสละ วันนี้ความจริงที่ปรากฏมันเยอะแยะ แต่ไม่มีใครกล้ามาพูดกัน เพราะเรากลัวใช่ไหมครับ อย่างผมก็กลัว แต่ก็ต้องพูดความจริงและยอมรับว่ากลัว”พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าว
ส.ส.ร.ยันต้องผ่านกกต.
นายคณิน บุญสุวรรณ
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่าการที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ อ้างว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารไม่ต้องผ่าน กกต. เพราะเป็นอำนาจสภากลาโหม ไม่เกี่ยวกับ ครม.ถือเป็นการเข้าใจผิดในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะรายชื่อโยกย้ายนายทหาร รักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการฯ ดังนั้น การนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวาย โดยที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 215 วรรคสอง จึงเท่ากับรัฐบาลรักษาการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อาจเป็นโมฆะในภายหลังได้
ในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ มีรัฐธรรมนูญมาตราเดียวเท่านั้น ที่รัฐบาลรักษาการจะต้องปฏิบัติ เมื่อจะต้องนำรายชื่อข้าราชการหรือนายทหารขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง มาตราดังกล่าว คือ มาตรา 215 วรรคสอง ซึ่งระบุไว้ชัดว่า รัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.เสียก่อน
รายงานข่าวจาก สำนักงาน กกต. แจ้งว่า เมื่อปี 2543 สมัยที่ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยมีหนังสือจากสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีเชิญ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานข้าราชการและพลเรือน (กพ.) และสำนักงาน กกต.ไปหารือในมาตรา 215 ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีการโยกย้าย ครม. จะสามารถทำได้ในระดับไหนบ้าง ในระหว่างรักษาการ
ในที่สุดก็มีความเห็นร่วมกันว่า ตำแหน่งใดบ้างที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำกราบบังคมทูลฯ โดยไม่ต้องผ่าน ครม.และไม่ต้องเสนอไปที่ กกต. ซึ่งก็ได้ออกมาเป็นมติ ครม. ลงวันที่ 7 พ.ย. 2543 ชี้แจงแนวปฏิบัติของ ครม.หลังยุบสภาปี 2543 ไปยังหน่วยราชการต่างๆว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ ตุลาการ ทหาร หรือข้าราชการต่ำกว่าระดับ 9 ไม่ต้องผ่านที่ประชุม ครม.และไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม เป็นเลขาธิการครม.
กำลังโหลดความคิดเห็น