ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตเตรียมพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง หลังโครงการปรับปรุงท่าเรือ ให้ได้มาตรฐานยุโรปเสร็จในเดือน ก.ค. เตรียมพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง 10 ไร่ เป็น "ตลาดอาหารซีฟูด" หวังพัฒนาประมงควบคู่กับการท่องเที่ยว เบื้องต้นของบ 15 ล้านบาททำแผงขายซีฟูด ก่อนขอเพิ่มเป็น 40 ล้านบาทดึงนักท่องเที่ยวเข้า
นายประมวล รักษ์ใจ ผู้อำนวยการกองท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้า โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตให้ได้มาตรฐานในการส่งออกสัตว์น้ำว่า ตามที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ได้รับงบประมาณเกือบ 300 ล้านบาท ในการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมง ทั้งการขยายหน้าท่า การทำถนนทางเข้า ระบบบำบัดน้ำเสีย และโรงคัดแยกสัตว์น้ำ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปกว่า 90% และจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้
ภายหลังการปรับปรุงเสร็จ จะมีการจัดระบบการใช้บริการท่าเทียบเรือประมงใหม่ โดยแบ่งพื้นที่การให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือ ท่าเทียบเรือประมงสำหรับบริการเรือประมงไทย ทั้งเรืออวนล้อม อวนลาก เรือปลากะตัก บริเวณริมคลองท่าจีน ประมาณ 300 เมตร รองรับเรือได้พร้อมกันครั้งละ 15 ลำ
ส่วนที่ 2 สำหรับรองรับกองเรือทูน่าเบ็ดราวของต่างชาติ โดยจะกันพื้นที่ด้านในที่ได้มีการขยายท่าเรือเพิ่มออกไป เป็นโซนทูน่าเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะที่เป็นสัดส่วน ซึ่งขณะนี้ได้มีการของบประมาณในการทำรั้วกั้นและให้เอกชนที่นำปลาทูน่ามาขึ้นลงทุนก่อสร้าง โรงคัดแยกปลาของตนเองเป็นห้องๆ เพื่อให้การคัดเลือกปลาและการล้างปลาได้มาตรฐานการส่งออกไปต่างประเทศ คาดว่าใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 เดือน
"หลังจากปรับปรุงแล้วเสร็จท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต จะเป็นท่าเรือที่ได้มาตรฐาน ในการที่จะส่งสัตว์น้ำออกไปต่างประเทศว่า จะเป็นตลาดยุโรป ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาและที่สำคัญน้ำที่จะนำมาล้างสัตว์น้ำเป็นที่น้ำผ่านการบำบัดก่อนจะทำให้สัตว์น้ำมีความสะอาดมากยิ่งขึ้น"
นายประมวล กล่าวถึงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงอย่างต่อเนื่องว่า ขณะนี้ท่าเทียบเรือประมงยังมีพื้นที่ว่างอยู่อีก 10 ไร่ ในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2545 เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ท่าเทียบเรือฯได้วางแผนในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวไว้แล้ว โดยจะพัฒนาเป็น "ตลาดอาหารทะเล" หรือ "Sea Food Market"
ภายในโครงการตลาดอาหารทะเล ตามแผนที่วางไว้จะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก แผงจำหน่ายสัตว์น้ำที่เน้นความสด สะอาด ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาซื้อได้ เพราะปกติแล้วที่ท่าเทียบเรือ ประชาชนจะสามารถซื้อได้เนื่องจากขายส่งเป็นจำนวนมากๆ
ส่วนที่สองพัฒนาเป็นร้านอาหาร ที่เน้นขายอาหารซีฟูด โดยเฉพาะ ซึ่งในส่วนนี้ เรามุ่งหวังที่จะพัฒนาให้เป็นเป็นเหมือนต่างประเทศที่สามารถพัฒนาเรื่องประมงควบคู่กับการท่องเที่ยว โดยการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเดินในตลาดอาหารทะเลและรับประทานอาหาร และส่วนสุดท้ายจะเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์ ของบริเวณดังกล่าวให้สวยงาม
นายประมวล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ของบประมาณผ่านจังหวัดภูเก็ตในเบื้องต้นไป 15 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2549 นี้เพื่อพัฒนาเป็นตลาดขายอาหารทะเลก่อนในระยะต่อไปจะพัฒนาเป็นร้านอาหาร ซึ่งทั้งโครงการคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 40 ล้านบาท