ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - "ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" เชื่อมั่นแผนซื้อหนี้ - ฟื้นฟูเกษตรกร อีก 47,000 ราย วงเงิน 8 พันล้านในปี 50 ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองแน่นอน หลัง ครม.มีมติให้ออกพันธบัตรรัฐบาลระดมเงิน คาดเหลือเวลาอีก 6 เดือน ก.คลังดำเนินการทันแน่ และล่าสุดเปิดโต๊ะรับซื้อหนี้ สหกรณ์ล็อตแรกที่เชียงใหม่ 31 ราย รวมยอดปีนี้รับซื้อแล้วกว่า 100 รายแล้ว
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดการหนี้สินเกษตรกร ว่า ล่าสุดกองทุนฯได้เข้ารับซื้อหนี้สินของเกษตรกรแล้วประมาณ 100 กว่าราย รวมวงเงินที่ใช้ไปทั้งสิ้น 100 กว่าล้านบาท จากเป้าหมายตลอดทั้งปีทั้งหมด 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯรับซื้อหนี้ 1,200 ล้านบาท งบฯสำหรับฟื้นฟูเกษตรกรอีก 600 ล้านบาท แยกเป็นงบฯอุดหนุน 100 ล้านบาท และงบฯกู้ยืมอีก 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ก็ได้รับซื้อหนี้เกษตรกร ในส่วนที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ล็อตแรกจำนวน 31 ราย วงเงิน 3 ล้านกว่าบาท ทั้งหมดเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ 9 แห่ง จำนวน 31 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 3,022,384 บาท ซึ่งการชำระหนี้แทนเกษตรกรในครั้งนี้ กองทุนฯจะชำระให้สหกรณ์เจ้าหนี้ครึ่งหนึ่งของเงินต้น ส่วนที่เหลือเป็นการขอตั้งงบประมาณ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อชดเชยให้แก่สหกรณ์ ภายใต้เงื่อนไขการผ่อนชำระคืนของเกษตรกร ให้กองทุนระยะยาว 10-20 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินต้น แต่ไม่เกินร้อยละ 4 บาทต่อปี
นายประพัฒน์กล่าวอีกว่า ภายในระยะเวลาที่เหลืออีก 6 เดือน ก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ เชื่อว่า จะสามารถจัดการหนี้สินเกษตรกร ได้ตามเป้าหมายทั้งในส่วนของหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส. ) และสหกรณ์ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4,800 - 5,000 ราย รวมวงเงิน 1,600 ล้านบาท (งบฯฟื้นฟูเกษตรกรอีก 600 ล้านบาท) ได้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้มีหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ที่ได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นหนี้ เอ็นพีแอล ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้ว ทั้งในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตร สหกรณ์ และหนี้ธนาคารพาณิชย์
ส่วนปีงบประมาณ 2550 ที่เกรงกันว่า จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามา เพราะเกิดวิกฤตการเมืองอยู่ในขณะนี้ นายประพัฒน์ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจาก ครม.มีมติออกมาแล้วว่า งบประมาณของกองทุนฟื้นฟูฯในปีหน้า ให้ออกพันธบัตรรัฐบาลเข้ามาดำเนินการ ซึ่งกองทุนฯเองไม่สามารถออกพันธบัตรได้ กระทรวงการคลังก็จะเข้ามาดำเนินการแทน และเชื่อว่าด้วยระยะเวลาที่เหลืออีก 6 เดือนนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา สำหรับการเตรียมการออกพันธบัตรระดมเงินเช่นกัน โดยกองทุนฯจะกู้เงินจากกระทรวงการคลังอีกต่อหนึ่ง
ในปี 2550 กองทุนฯมีเป้าหมายที่จะเข้าไปจัดการหนี้สินเกษตรกรทั้งสิ้น อีก 47,0000 ราย ในวงเงินทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯรับซื้อหนี้ 6,000 ล้านบาท และงบฯฟื้นฟูเกษตรกรอีก 2,000 ล้านบาท โดยจะช่วยเหลือเกษตรการรายย่อยที่มีเงินต้นไม่เกิน 2,500,000 บาท
ด้านความคืบหน้าของการพัฒนาเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ ได้อนุมัติงบประมาณให้แก่ตัวแทนเกษตรกรในแต่ละภาค ซึ่งภาคเหนือมีอยู่ 2-3 คนด้วยกัน คนละ 500,000 บาท เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรขึ้นมานำเสนอ ก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปแล้ว
กองทุนฯส่วนกลางจะวางกรอบกติกาให้ แต่จะไม่มีการสั่งการเหมือนการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา จนสร้างปัญหาให้กับเกษตรกร หรือสร้างบาปให้กับเกษตรกรทั่วประเทศอีกต่อไป ควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดฟื้นฟูอาชีพ และสาขากองทุน 30 แห่งเข้าไปสนับสนุน เช่น กรณี ในภาคอีสาน ชาวนามีแนวคิดที่จะจัดการโรงสีด้วยกลุ่มสมาชิก โดยให้กองทุนฯเข้าไปจัดการให้ในเรื่องการสร้างโรงสีกลาง หรือชาวสวนมะนาว ในภาคกลางต้องการตั้งโรงงานแปรรูปมะนาว เพื่อรักษามะนาวที่มีราคาถูกในช่วงฤดูกาลผลิตแล้วเก็บไว้จำหน่าย ในช่วงที่มะนาวมีราคาสูง
กรณีอย่างนี้กองทุนฯจะเข้าไปช่วย โดยนำนักวิชาการเข้าไปร่วมคิดค้นหาวิธี แต่กลุ่มเกษตรกรเองจะต้องมีความเข้มแข็งพอและทำจริง ทุกโครงการที่กองทุนฯเข้าไปสนับสนุน จะต้องผ่านกระบวนการคิดให้ตก โดยจะไม่มีโครงการที่ล้มเหลวอีกต่อไป