xs
xsm
sm
md
lg

"วังขนาย/ผาแดงฯ"ซับน้ำตาเหยื่อแคดเมียม หนุนปลูกอ้อย3 หมื่นไร่ป้อน รง.เอทานอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตาก -กลุ่มวังขนาย จับมือผาแดงฯ หนุนเกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบจากแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาวชายแดนแม่สอด ปลูกอ้อยป้อนโรงงานเอทานอล พร้อมตั้งเป้าส่งเสริมเขตชายแดนตากให้ได้ 30,000 ไร่ ก่อนตั้งโรงงานผลิตเอทานอลมูลค่า 800 ล้านบาทในอนาคต

นายเชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการตาก เปิดเผยว่า จังหวัดตาก และบริษัทเอกชนสองแห่ง ได้แก่บริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด(มหาชน)และกลุ่มบริษัทน้ำตาลวังขนาย ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ สนับสนุนการปลูกอ้อยผลิตเอทานอล เพื่อเป็นอาชีพใหม่ ทดแทนการปลูกพืชอาหาร ของผู้ได้รับผลกระทบจากแคดเมียมปนเปื้อน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 192 ราย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2549 โดยมีนายวินิจ องค์เนกนันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด และนายบุญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย ซึ่งจะใช้งบประมาณ 18 ล้านบาท ตามแผนงานสนับสนุนการประกอบอาชีพใหม่ ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาว

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ตาว เป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 800 ราย ใน 12 หมู่บ้านของ ต.แม่ตาว, พระธาตุผาแดง และแม่กุ ที่งดปลูกข้าว และพืชอาหารอื่น ตามมติ ครม.เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก 13,238 ไร่ ปนเปื้อนสารแคดเมียม และให้หาทางส่งเสริมอาชีพอื่นแทน

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า โดย จังหวัดได้ร่วมกับ 2 บริษัทจัดทำโครงการนำร่อง สนับสนุนการปลูกอ้อย ในพื้นที่ปนเปื้อน 3,325 ไร่ โดย 192 เกษตรกร ผู้เดือดร้อนเข้าร่วมโครงการในฤดูเพาะปลูกนี้ ได้ทำสัญญากับกลุ่มวังขนายแล้ว ขณะนี้กำลังเตรียมพื้นที่ปลูก และจะเริ่มปลูกเป็นปฐมฤกษ์วันนี้(17 พฤษภาคม 2549 )

"มีผู้เดือดร้อน สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมากเกินกว่าเป้าหมาย แต่เนื่องจากพันธุ์อ้อยมีจำกัด กลุ่มสามารถสนับสนุนได้เพียงกว่า 3,000 ไร่ ส่วนที่เหลือจะขยายให้เต็มพื้นที่ในปีต่อไป" นายเชิดศักดิ์ บอกและว่า

สำหรับการส่งเสริม จะสนับสนุนพันธุ์อ้อย, การเตรียมพื้นที่, ปุ๋ย, ยาปราบศัตรูพืช และค่าแรงงานเก็บเกี่ยว โดยกลุ่มวังขนายจะรับซื้อตามราคาที่ทางการประกาศ ซึ่งจะทำให้เกษตรกร มีรายได้สุทธิจากโครงการกว่า 6,000 บาท/ไร่ มากกว่าปลูกข้าวที่มีรายได้เพียงกว่า 1,000 บาท/ไร่

ส่วนกรณีที่พื้นที่ส่งเสริม เป็นพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียม หากมีการนำผลผลิตไปทำน้ำตาล จะก่อผลกระทบต่อตลาดน้ำตาลอย่างไรหรือไม่ นายเชิดศักดิ์ ชี้แจงว่า โครงการมีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งมีคณะกรรมการจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐ/เอกชน และกลุ่มประชาสังคมเข้าร่วม นอกจากนั้นรูปแบบของโรงงานผลิตเอทานอลที่ต่างจากโรงงานผลิตน้ำตาล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะป้องกันการนำไปผลิตน้ำตาล

ด้านนายบุญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายมีแผนที่จะส่งเสริมการปลูกอ้อยแบบปกติทั่วไปที่ชายแดนตาก กำหนดเป้าหมายอย่างน้อย 30,000 ไร่ เพื่อนำน้ำหวานเข้มข้นไปผลิตเอทานอล โดยจะตั้งโรงงานมูลค่า 800 ล้านบาท ที่แม่สอด เมื่อการส่งเสริมได้ตามเป้าหมาย จะสามารถผลิตเอทานอลได้วันละ 100,000 ลิตร

"แรงจูงใจที่ทำให้มาลงทุนที่นี่ เนื่องจากพบว่าเกษตรกรได้รวมกลุ่มกันอย่างมีศักยภาพ และพบว่าประเทศไทยยังไม่มีการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรงเช่นต่างประเทศ จึงสนใจเข้ามาลงทุนที่นี่"

นายบุญฤทธิ์ บอกอีกว่า ทางกลุ่มมีแผนงานรองรับการผลิตเอทานอล ในระยะ 3 ปีใน 2ปีแรกยังไม่สามารถผลิตได้ เป็นเพียงการส่งเสริมการขยายพันธุ์เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ขยายเพิ่มเติม โดยผลผลิตอ้อยในแต่ละครั้งขยายพันธุ์ได้ 4 เท่า ดังนั้นหลังจากปีที่สามเป็นต้นไปก็จะได้พันธุ์เพียงพอที่จะปลูกใน พื้นที่เป้าหมาย 30,000 ไร่ จึงจะเริ่มการผลิต

ส่วนเรื่องการสนับสนุนโครงการนำร่องในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียม เนื่องจากกลุ่มได้หารือกับ จังหวัดตาก และบริษัทผาแดง พบว่าเกษตรกรผู้เดือดร้อนจำนวนมาก ยังไม่มีอาชีพทดแทน จึงร่วมกับผาแดง เพื่อสนับสนุนการปลูกอ้อยในพื้นที่ หวังว่าการสนับสนุนปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จะเป็นอาชีพใหม่ที่ยั่งยืน โดยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ร่วมโครงการ และกลุ่มยินดีที่ได้ร่วมแก้ปัญหาของเกษตรกร

นายวินิจ องค์เนกนันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า บริษัทผาแดง ฯ เข้ามาทำเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่มานาน มีความผูกพันกับชุมชน เมื่อชุมชนประสบปัญหาความเดือดร้อน จึงเข้ามาร่วมกับภาครัฐ, เอกชน, ประชาสังคม และชุมชน เพื่อร่วมแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้ชุมชนได้ดำรงชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป

รองผู้ว่าฯตาก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้โครงการได้จัดทำแผนแม่บท เพื่อดำเนินโครงการต่อเนื่องในปีนี้ มูลค่า ราว 200 ล้านบาท เสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ แผนแม่บทได้กำหนด 5 แผนงาน รวม 15 โครงการ ซึ่งจะนำโครงการสนับสนุนปลูกอ้อย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวังขนาย และผาแดง ที่ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณ 18 ล้านบาท เสนอเพิ่มเติมในแผนแม่บทด้วย

ส่วนเกษตรกรกว่า 300 คนในพื้นที่ปนเปื้อน ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกอ้อย ได้เรียกร้องค่าชดเชยสำหรับฤดูเพาะปลูกปีนี้ ในอัตราไร่ละ 6,000 บาท ในขณะที่ปีที่แล้วจ่ายในอัตราไร่ละ 4,220 บาท นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า คณะทำงานของจังหวัดก็จะพิจารณาความเหมาะ ก่อนเสนอเพิ่มเติมให้กระทรวงมหาไทยพิจารณาต่อไป

"เราพยายามประชุมกับชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่นหลายครั้งเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาแคดเมียม ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจ และเห็นด้วยกับคณะกรรมการโครงการ ทั้งในเรื่องการจ่ายชดเชย, การทำอาชีพใหม่ทดแทนการทำนา และปลูกพืชอาหาร และการดูแลสุขภาพผู้มีสารแคดเมียมในร่างกาย เมื่อยังมีผู้ไม่เข้าใจคณะทำงาน ก็คงต้องทำงานหนักมากขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น