xs
xsm
sm
md
lg

8 คดีที่ทักษิณทำตัวเหนือกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ได้รวบรวมรายละเอียดในแถลงการณ์ของ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เกี่ยวกับ "การเลือกปฏิบัติโดยรัฐตำรวจ คดีผู้นำอันยิ่งใหญ่และเหล่าเครือญาติหายไปไหน"รวม 8 คดี ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1.คดีการซื้อขายที่ดินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คดีนี้ สาระสำคัญ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในราคาเพียง 772 ล้านบาท ซึ่งถือว่าถูกมาก ทำให้ราชการเสียประโยชน์ ผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฐาน "การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม" ตามมาตรา 100 วรรคสอง กฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับกับคู่สมรส (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)โดยกฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 28 พ.ค.47 นายวีระ สมความคิด ไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กองปราบปราม ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนเตะถ่วง และปฏิเสธที่จะดำเนินคดี โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการป.ป.ช. แต่เมื่อมีหนังสือไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. กลับได้รับคำตอบว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. เป็นหน้าที่ของตำรวจ และ ป.ป.ช.เคยตอบเป็นหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ปรากฏว่าตำรวจยังมิได้แจ้งเลขคดีอาญา และดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในที่สุด นายวีระ จึงตัดสินใจไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีอาญากับ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ (อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม)และ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผู้บังคับการกองปราบปรามคนปัจจุบัน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.49

ผลของคดี บัดนี้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ก็ยังมิได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

2.คดีให้สินบนเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คดีนี้ นายวีระ สมความคิด มีหนังสือลงวันที่ 22 ก.พ.49 ต่อกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน (นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจุมพล ณ สงขลา นายผัน จันทรปาน และนายศักดิ์ เตชาชาญ) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167 โดยกฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท

ผลของคดี ยังไม่มีความคืบหน้า

3.คดีความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คดีนี้ นายวีระ สมความคิด ได้ไปยื่นคำร้องเพื่อขอให้ไต่สวน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อวันที่ 6 ก.พ.49 โดยมีข้อมูลว่า ในการยื่นครั้งที่ 1 กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (18 ก.พ.44)ไม่ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ว่าบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (น.ส.พิณทองทา)ถือหุ้นในแอมเพิล ริช จำนวนร้อยละ 20 แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295

ผลของคดี ยังไม่มีความคืบหน้า

4.คดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เป็นบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) คดีนี้ แยกเป็น

4.1 แกนนำพันธมิตร 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มี.ค.49 ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วยการตราพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เพื่อแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ.5/2549

4.2 นายวีระ สมความคิด ได้ไปยื่นคำร้องเพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ 29 มี.ค.49 โดยกล่าวหาว่ามีเจตนาฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 221 มาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสหกิจ พ.ศ.2542 และการตราพระราชกฤษฎีกาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน)พ.ศ.2548

ผลของคดี ยังไม่มีความคืบหน้า

5.คดีเกี่ยวกับความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ คดีนี้ นายวีระ สมความคิด ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และ นางบุษบา ดามาพงศ์ ต่อกองปราบปราม เมื่อวันที่ 3 มี.ค.49 ในความผิดฐานกระทำการใดๆ เพื่อให้ผู้อื่นล่วงรู้ หรือได้ไปซึ่งข้อความ เอกสารหรือสิ่งใดๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับความปลอดภัยของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124 ประกอบ มาตรา 83 เนื่องจากบริษัท ชินคอร์ป หรือ AIS ได้รับสัมปทานคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ)และระบบวงจรดาวเทียมไทยคมจากรัฐบาลไทย ภายใต้การควบคุมขององค์การกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการขายหุ้นดังกล่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จ่ายเงินผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ อันเป็นเหตุให้กิจการและโทรคมนาคมของชาติตกไปเป็นของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบริษัท เทมาเส็ก (Temasek) จะต้องมาตรวจสอบทรัพย์สินที่ตกเป็นเจ้าของทำให้ทราบรายละเอียดของสถานีรับอาณัติสัญญาณของระบบวงโคจรดาวเทียม คลื่นของดาวเทียม คลื่นโทรทัศน์ การรู้ถึงสถานภาพของทรัพย์สินเหล่านี้เท่ากับรู้ความลับทั้งหลายของประเทศไทย จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานเปิดเผยความลับของประเทศตามกฎหมาย

ผลของคดี ยังไม่มีความคืบหน้า

6.คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีนี้ นายสมยงค์ แก้วสุพรรณ กับพวกได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน (พ.ต.ท.พิศิษฎ์ คำชัยภูมิ)สภ.อ.เมืองร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 49 ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ผลของคดี ยังไม่มีความคืบหน้า

7.คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีนี้ นายการุณ ฉายแก้ว ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษถึง 3 ครั้ง คือวันที่ 13, 20 และ 27 มี.ค.49

ผลของคดี ยังไม่มีความคืบหน้า

8. คดีแจ้งความเท็จชิงอุปกรณ์"ไอบีซี" คดีนี้ นายวิลเลียม ไลล์ มอนซัน ชาวอเมริกัน เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฐานแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จในศาลเมื่อเดือนมิ.ย.38 โดยกล่าวหาว่านายวิลเลียม ไลล์ มอนซัน ยักยอกทรัพย์ (เครื่องส่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ)ของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำกัด (ไอบีซี)

ผลของคดี ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 มิ.ย.49

อย่างไรตาม ในกรณีคดีของแกนนำพันธมิตร 5 คน ในข้อหาความมั่นคงของรัฐภายในราชอาญาจักร เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร กับพวกเพิ่งร้องทุกข์กล่าวโทษในเดือนมี.ค.49 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับรีบสนองฝ่ายการเมือง เร่งออกหมายเรียกในเดือนเม.ย.49 ถึงสองครั้งสองครา อยากให้สังคมโปรดเทียบเคียงกับคดีที่ 1, 2, 4 และ 5 ก็จะเห็นการเลือกปฏิบัติของรัฐตำรวจได้อย่างชัดเจน

กรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในดคีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุเกิด วันที่ 24 มี.ค.49 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับกระเหี้ยนกระหือรือรีบดำเนินคดี มีหมายเรียกในเดือนเม.ย.49 แต่กับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในข้อ 6 และ 7 กลับไม่มีการดำเนินการใดๆเลย

จะมิให้เรียกว่า ฯพณฯ ครองความเป็นเจ้า ทำตนอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร

นี่คือ...ผลงานอันยอดเยี่ยมแห่งการเลือกปฏิบัติของ"รัฐตำรวจ"โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ภายใต้การนำอันเด็ดเดี่ยวของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น