xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.โดดโหนกระแสเป็นกลาง รับหน้าเสื่อตั้งโต๊ะเจรจาสามฝ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทปอ.โหนกระแสเป็นกลาง เรียกร้องให้หันหน้ามาคุยกันรับเป็นเจ้าภาพตั้งโต๊ะเจรจา 3 ฝ่าย ระบุแกนนำทั้ง 3 กลุ่มรับที่จะมาเจรจาร่วมกันบ้างแล้ว อธิการฯ มสธ.ยอมรับให้"ทักษิณ"ออกเป็นเรื่องยาก จึงต้องหาทางออกอื่น ด้านอธิการฯมศว.ชมพันธมิตรมีท่าทียืดหยุ่น ส่วนนายกฯแม้มีท่าทีถอย แต่ก็ยังไปเพิ่มเติมมุมรุกอื่นๆ ขณะที่เวทีแถลงข่าวไร้เงาอธิการบดี มธ.

วานนี้(9 มี.ค.)ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการแห่งประเทศไทย (ทปอ.)คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีม.มหิดล และนายสว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมกันแถลงข่าว เพื่อแสดงจุดยืนของ ทปอ.ต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน

นายปรัชญา กล่าวว่า ทปอ. ที่ประชุมอธิการบดีม.ราชภัฏ และที่ประชุมอธิการบดีม.เทคโนโลยีราชมงคล เห็นว่าขณะนี้ประเทศชาติอยู่ในภาวะวิกฤตประชาชนเกิดความขัดแย้งเชิงความคิด และนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายของประเทศในทุกด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้ามาเจรจากันเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความสงบสุขของประเทศชาติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมอธิการบดีรับเป็นเจ้าภาพในการประสานทุกฝ่าย เพื่อเจรจาหาทางออก เพราะข้อเสนอของแต่ละฝ่ายก่อนหน้านี้สร้างทางตัน ไม่อาจทำได้จริงจึงไม่ใช่ทางออกที่ดี โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นความเห็นร่วมกันของ ทปอ.ส่วนใหญ่ ซึ่งมีการประสานหารือกันผ่านทางโทรศัพท์

นายปรัชญา กล่าวอีกว่า ที่ทปอ.ไม่เสนอทางออกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก เพราะเห็นว่าทำได้ยากและน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงทางอับจน ยังน่าจะหันมาพูดคุยกันได้ อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่ของ ทปอ.ยังไม่รวม นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ เพราะไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งแนวทางที่นายสุรพลเสนอ มีทั้งอธิการบดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงถือว่าไม่ใช่ความเห็นร่วมกันของ ทปอ.

ส่วนที่ราชสกุลและกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพ ถวายฎีกาขอพระราชทานนายกฯ และรัฐบาลชั่วคราวตาม มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ขอแสดงความเห็นในนามทปอ.แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เมื่อมีความเป็นห่วงบ้านเมืองก็ออกมาแสดงความเห็น

ด้านอธิการบดีม.มหิดล กล่าวว่า คนไทยทั้งประเทศมีเป้าหมายทางการเมืองระยะยาวที่ชัดเจนว่าจะต้องมีการปฏิรูประบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่มีกลไกถ่วงดุล และเป้าหมายระยะกลาง คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเห็นว่า ทปอ.ในฐานะคนกลางน่าจะเป็นตัวกลางประสานเพื่อให้มีการตั้งตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาตั้งโต๊ะเจรจากัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

"ขณะนี้แกนนำทั้ง 3 ฝ่าย ได้ตอบรับที่จะมาตั้งโต๊ะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน เวลาและสถานที่ แต่เชื่อว่าไม่นานคงจะสามารถเริ่มต้นเจรจากันได้ ส่วนที่มองว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์การเมืองที่กำลังวุ่นวายได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าการพูดคุยกันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรนั้น ที่ ทปอ.ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ก่อน เพราะจะปล่อยให้กระบวนการเจรจาเป็นไปตามธรรมชาติและนำไปสู่ทางออกร่วมกัน"นายพรชัย กล่าว

ขณะที่อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)ในฐานะรองประธาน ทปอ.กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัย มีวัฒนธรรมในการคิดที่แตกต่าง ซึ่งอาจจะสรุปว่าเป็นความคิดเห็นทั้งหมดไม่ได้ แต่เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ความคิดเห็นที่แตกแยก แต่ ทปอ.มีความเห็นตรงกันว่า ไม่อยากเห็นความแตกแยกเพราะวิกฤติการณ์ทางการเมืองในอดีตมีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงมากพอแล้ว การหันหน้ามาเจรจากันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนการเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถทำได้ แต่เชื่อว่าทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีท่าทีที่ยืดหยุ่นและพร้อมจะถอยได้ พิจารณาจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการกดดัน ซึ่งมีทั้งถอยและรุก ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม

"การที่มีผู้ใหญ่หลายท่านออกมาเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายถอยคนละก้าว เป็นเรื่องดีเพราะทุกคนปรารถนาให้สังคมดีขึ้น และเชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องถอยด้วย ขณะนี้แม้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีท่าทีถอย แต่ก็ยังไปเพิ่มเติมมุมรุกอื่นๆ อีก ซึ่งหากจะถอยก็ต้องถอยจริงๆ"นายวิรุณ กล่าว

อธิการบดี มศว กล่าวอีกว่า หากจะมีกลุ่มองค์กรหรือบุคคลขอเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพหรือเป็นตัวกลางในการจัดเจรจา 3 ฝ่าย ทปอ.ก็ยังเกิดความไม่แน่ใจว่าฝ่ายที่ขอเข้าร่วมมีจุดประสงค์อย่างไร และขอให้เชื่อมั่นต่อบทบาทและความเป็นกลางของทปอ.ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนมากอยู่ ให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางไปก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น