xs
xsm
sm
md
lg

ปี49 ท่าเรือภูเก็ตพร้อมรับเรือทูน่า ทุนจีน-ไต้หวันผุดรง.แปรรูปรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต -กลางปี 49 ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต จะกลายเป็นท่าเรือประมงที่ได้มาตรฐานของอียู หลังลงทุนปรับปรุง 300 ล้านบาทขยายท่าเรือให้ยาวขึ้น จัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบน้ำสะอาดและถนน หวังรองรับเรือไทย-ทูน่าต่างชาติ ขณะที่ทุนต่างชาติทั้งจากไต้หวันและจีน เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทูน่าส่งออกแล้ว 4-5 ราย

นายประมวล รักษ์ใจ ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลาจังหวัดภูเก็ต (ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ต) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต เพื่อให้เป็นท่าเทียบเรือประมงที่ได้มาตรฐานของสหภาพยุโรป(อียู) ว่า ตามที่ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ต ได้รับงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท ในการปรับปรุง 4 ส่วนหลัก คือ การขยายท่าเทียบเรือประมงเพิ่มอีก 660 เมตร เพื่อรองรับเรือประมงไทยและกองเรือทูน่าของต่างชาติ การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย การจัดทำระบบน้ำสะอาดในการล้างสัตว์น้ำ และการปรับปรุงถนนทางเข้า-ออกท่าเทียบเรือประมงนั้น

ปรากฏว่า การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70% โดยคาดว่าจะเสร็จ และจะเปิดให้บริการเรือประมงได้ประมาณกลางปี 2549 ซึ่งเมื่อการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ จะทำให้ท่าเรือประมงภูเก็ต เป็นท่าเรือที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป และจะเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับ กองเรือทูน่าเบ็ดราวของต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาภูเก็ตสามารถรองรับกองเรือทูน่าของต่างชาติ ทั้งไต้หวันและจีนได้ค่อนข้างจะจำกัด เนื่องจากมีข้อจำกัด ในเรื่องความยาวของท่าเรือ ที่ไม่เพียงพอกับปริมาณเรือที่เป็นเรือไทยที่มีประมาณ 200 ลำ แต่เมื่อได้มีการขยายท่าเรือเพิ่มอีก 660 เมตร จะมีความยาวในการรองรับเรือได้มากยิ่งขึ้น

ในปี 2548 มีกองเรือทูน่าเบ็ดราว จากจีนและไต้หวันมาใช้บริการท่าเรือประมงภูเก็ต ในการขึ้นปลาทูน่าประมาณ 50-100 ลำ ปริมาณปลาทูน่าที่นำมาขึ้นอยู่ที่ประมาณ 4,000 ตัน และในปี 2549 คาดว่าเรือทูน่าเบ็ดราวจากจีนและไต้หวัน จะเข้ามาใช้ท่าเรือประมงภูเก็ตมากยิ่งขึ้น จากความพร้อมในเรื่องของท่าเรือที่ยาวขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วกองเรือทูน่าเบ็ดราว ทั้งจีนและไต้หวันจะเข้ามาขึ้นปลาที่ท่าเรือประมงภูเก็ต ในช่วงเดือนธ.ค.-มี.ค.ของทุกปี

สำหรับปลาทูน่า ที่เรือต่างชาตินำมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต นายประมวล กล่าวว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือประมาณ 60% ส่งออกไปต่างประเทศเป็นตัวๆ เช่น ตลาดญี่ปุ่น และอีก 40% ส่งเข้าโรงงานแปรรูปและบริโภคในประเทศ

ในส่วนของการแปรรูป ขณะนี้ที่จังหวัดภูเก็ตได้มีนักลงทุน ทั้งจากจีนและไต้หวัน ได้เข้ามาร่วมทุนกับนักลงทุนไทย ลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปปลาทูน่า ที่ในส่วนที่ไม่สามารถส่งเป็นตัวออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 4-5 ราย ที่บริเวณตรงข้ามกับท่าเรือรัษฎา ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต และโรงงานดังกล่าว จะแปรรูปปลาทูน่า ในลักษณะของการแล่เนื้อปลาทูน่าแช่แข็ง ส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และจีน เป็นต้น

นายประมวล กล่าวว่า การที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ตั้งโรงงานแล่ปลาทูน่าส่งไปต่างประเทศที่ภูเก็ต เป็นเพราะว่าภูเก็ตเป็นจุดที่กองเรือทูน่าของต่างชาตินำปลาทูน่ามาขึ้น และภูเก็ตยังมีความสะดวกในเรื่องของเที่ยวบินที่จะส่งออกไปต่างประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น