xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รัฐบาลยุคนี้แม้แก้รธน.ได้ก็ไม่ดีกว่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “อภิสิทธิ์” ชี้แก้ รธน.ยุคนี้ไม่ส่งผลให้ดีขึ้น ตราบใดที่รัฐบาลยังมีเสียงเกิน 350 เสียงก็ยังสามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ระบุมีทางเดียวคือประชาชนต้องกดดันให้รัฐบาลยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้ไข ถ้าสภาไม่รับก็ต้องทำประชาพิจารณ์ ลั่นหากเป็นรัฐบาล จะแก้ไขกลไกการตรวจสอบ เพราะไม่มีแผลให้ต้องกลัว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “ประเด็นร่วมสมัยในการเมืองการปกครองไทย” จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่ง ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในองค์กรอิสระว่า ตามเงื่อนไข ให้ใช้เสียง 2 สภา จำนวน 350 เสียง แต่มีปัญหาที่ กำหนดให้ส.ส. 500 คน ส.ว. 200 คน ซึ่งคนที่ต้องการตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่ต้องการ ให้มีเสียงเกิน 300 เสียง เพื่อไม่ให้ผู้นำรัฐบาลถูกอภิปราย ดังนั้นเมื่อมีเสียง 350 เสียง จึงไม่ใช่เรื่องยากในการควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตาม ความต้องการ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฉะนั้นตนจึงไม่ค่อยคิดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นทางออกในแง่ของการแก้ไขสาระในเรื่องใด แต่ตนคิดทางออกทางเดียว ในเชิงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากกระแสสังคมแรงพอก็ต้องกดดันให้รัฐบาลยอมรับว่ามีช่องทางอื่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ขอแก้ไขได้ ซึ่งถ้าสภาไม่รับเรื่องก็ต้องไปลงประชามติ และหากขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขแล้วจะไม่เกิดปัญหาซ้ำอีก

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่าคนเก่งกว่ากฎหมาย และคนที่เลี่ยงกฎหมายเก่งกว่าคนเขียนกฎหมาย และถ้าเอาคนที่เก่งมาเขียนกฎหมายก็จะมีคนที่เก่งกว่ามาเลี่ยงกฎหมาย เพราะฉะนั้นทางออกเรื่องนี้ตนจึงไม่มองในเชิง กฎหมายมาแก้ไขปัญหาแต่เรื่องนี้ควรเป็นการให้การเรียนรู้กับสังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น เช่น ช่องทางการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ผ่านส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน จะตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล ก็มีการหลบเลี่ยงที่จะมาตอบ หรืออย่างการทำผิดหรือไม่ขององค์กรอิสระ กกต. ป.ป.ช. ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแต่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ยมเข้าชื่อร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อทำหน้าที่

“ถ้าถามว่าวันนี้จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมบอกเลยว่าไม่ใช่คำตอบ แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายไม่ควรแก้เลย เพราะยังมีหลายเรื่องที่ควรแก้ไข ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาก็ต้องต่อสู้อยู่ในระบบและรู้ว่ากำลังสู้กับอะไร แต่ก็พร้อมที่จะสู้ต่อไป และผมให้ความมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่า ถ้ามีโอกาสเข้าไปรับผิดชอบบริหารบ้านเมือง จะขอแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลไกในการตรวจสอบ เพราะผมไม่มีอะไรที่ต้องกลัวการตรวจสอบ ผมอยากชนะการเลือกตั้งแต่ไม่อยากได้เสียงเกิน 300 ผมยินดีให้คนอภิปรายถ้าผมได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่ากระบวนการ ตรวจสอบในระบบประชาธิไตยเป็นเรื่องธรรมดา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการบรรยายได้มีนัก ศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ลุกขึ้นชี้แจงกรณีที่นายอภิสิทธิ์กล่าวพาดพิงในเรื่องการตัดสินของป.ป.ช.ว่า การตรวจสอบการทุจริตที่ไม่สามารถโยงถึงนักการเมืองได้นั้น เป็นเพราะ การสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ยอมพาดพิง หรือให้ถ้อยคำถึงนักการเมืองว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับตัวเองและครอบครัว และไม่ว่าใครจะมาทำหน้าที่ป.ป.ช.ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ โดยผู้ที่มาเป็นป.ป.ช.นั้นมาดูแค่ส่วนของนโยบายเท่านั้น แต่การสอบสวนตัดสินเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ส่วนการสรรหาที่มีปัญหาจาก 18 คน เหลือผู้ถูกคัดสรรเพียง 17 คน เพราะมีการถอดตัว 1 คนนั้นเชื่อว่าเป็นความพยายามสร้างปัญหาเพื่อไม่ให้มี ป.ป.ช.เกิดขึ้น เพราะกลัวป.ป.ช.มาตรวจสอบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยของผู้มาให้ข้อมูล การทุจริตกับ ป.ป.ช.ตนจึงเห็นว่าควรมีการเร่งดำเนินการคุ้มครองพยานอย่างจริงจัง โดยต้องมีกฎหมายและกลไกคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล แต่ก็ติดปัญหาในเรื่องการ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่อาจจะมีคนใช้อำนาจตามพ.ร.บ.นี้เข้ามาขอดูสำนวน การสอบสวนการทุจริตได้ ซึ่งทำให้ผู้ที่มาเป็นพยานกลัวจะไม่ปลอดภัย ทำให้เรื่องนี้มีปัญหาในเรื่องของกฎหมายและกรอบความคิดที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร และในเรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สินควรมีการตรวจสอบทรัพย์สินของญาติของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่มีเงินในบัญชีเพิ่มมากผิดปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น