ครูทั่วประเทศกว่าหมื่นคน ตบเท้าชุมนุมคัดค้านถ่ายโอนการศึกษาให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประท้วงเดือดโกนผม กรีดเลือด "ทักษิณ"หนีหน้า ส่ง"จาตุรนต์"รับหน้าเสื่อแทน ม็อบเรือจ้างประกาศไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลหลังประชุมครม.เชื่อมีวาระซ่อนเร้น ลั่น"ไม่ไป ไม่ถ่าย ไม่โอน"กดดันให้แก้กฎหมายกระจายอำนาจ ขู่ถวายฏีกา และหยุดสอนจนกว่าจะคัดค้านสำเร็จ ระบุตุกติกเจอม็อบใหญ่กว่า 1 แสนคนแน่นอน ส.ส.ทรท.ชี้งานนี้กระทบฐานเสียงพรรค
วานนี้(8 พ.ย.)ครูจากทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 คน สวมเสื้อสีเหลืองพิมพ์คำว่า“คัดค้านการถ่ายโอนครูไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)"ทยอยมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 05.00 น.โดยแกนนำผู้ชุมนุมประกอบด้วย นายธนารัชต์ สมคเณ โฆษกเครือข่ายองค์กรคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษา นายทวี พิมพ์ขันธ์ นายวิชาญ อธิกพันธุ์ นายนิพนธ์ ชื่นตา สลับกันขึ้นเวทีปราศรัยแสดงเหตุผลถึงการคัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษาให้ อปท. โดยตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า การถ่ายโอนการศึกษาให้ อปท. เด็ก ชาวบ้าน ครู และประเทศชาติ ได้อะไร รวมทั้งแสดงความห่วงใยว่าจะทำให้โรงเรียนไม่มีมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อการศึกษาถึงขั้นวิกฤติใน 20-30 ปีข้างหน้า เนื่องจากอปท.หลายแห่งยังไม่มีความพร้อม และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
จากนั้นเวลา 09.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และทำพิธีประกาศโองการแช่งน้ำ สาปแช่งผู้ที่กระทำผิดเพี้ยนจากการก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ให้เป็นผู้จัดการศึกษา ที่หน้าพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการปราศรัยกดดันให้ ดร.รุ่ง แก้วแดง รมช.ศธ.พ้นจากตำแหน่งด้วย
**กรีดเลือดดึงแม้วรับหนังสือเอ
ระหว่างที่ปักหลักปราศรัยอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น นายอำนวย โทชุโย ผอ.ร.ร.ในจ.หนองบัวลำภู และนายพงศ์ศักดิ์ พีระวรรณสาร ผอ.ร.ร.วัดคำใต้ จ.สมุทรปราการ ได้กรีดเลือดที่แขน และตัวแทนครู 6 คน โกนหัวเพื่อประท้วง พร้อมระบุว่า จะมีผู้โกนหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่านายกรัฐมนตรี จะลงมารับหนังสือ
กระทั่งเวลา 12.00 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.ได้เดินทางมาพบแกนนำครู เพื่อรับหนังสือ และกล่าวว่า หลังประชุมครม.นายกฯ จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ จึงไม่สามารถมาพบกับกลุ่มครูได้ จึงฝากให้ตนเองมาพบ และรับหนังสือแทน โดยรับปากจะนำหนังสือไปมอบให้นายกฯ พร้อมกับนำไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
หลังจากนั้น แกนนำผู้ชุมนุมครูได้สลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่นัดกันมารวมกลุ่มที่หอประชุมครุสภา ศธ.เพื่อรอฟังมติ ครม.
สำหรับหนังสือที่องค์กรเครือข่ายคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษานั้น ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการถ่ายโอนการศึกษาไปสู่ อปท.โดยขอให้ ยกเลิกกฎ ศธ.ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ อปท.2547 และประกาศ ศธ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ตัวชี้วัด และระดับคุณภาพ ในการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ อปท.2547 เพราะสาระเนื้อหาของกฎกระทรวงและประกาศดังกล่าว เกินขอบเขตของกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ และรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งให้แก้ไขปรับปรุงแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนการศึกษาแยกออกจากแผนดังกล่าวทั้งหมด และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯบางข้อความ โดยขอให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 8 พ.ย.48
**ครม.ยกธงขาว
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมครม.ว่า ครม.มีข้อยุติเรื่องการโอนย้ายครูฯ ให้เป็นไปในลักษณะของความสมัครใจ มี 2 ระดับ คือ ระดับสถาบันหรือตัวโรงเรียนนั้นๆ กับระดับผู้บริหาร หรือครู ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายสมัครใจ และ อปท.พร้อมจะรับ โดยต้องผ่านการประเมินจากศธ. ถ้าโรงเรียนไหนยังไม่พร้อมจะไม่ไปก็ได้ ซึ่งช่วงแรกให้เป็นเรื่องความสมัครใจไปก่อน ถ้ามีความสมัครใจ รัฐบาลพร้อมโอนงบฯให้ท้องถิ่นนั้นๆ
ต่อข้อถามว่า ถ้าโรงเรียนและครูส่วนใหญ่ ต้องการโอนย้ายไปสังกัด อปท.แต่ครูส่วนน้อยไม่ต้องการจะทำอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะต้องมีการโหวต และถ้าส่วนน้อยไม่ต้องการสังกัด อปท.ก็ไม่ต้องไป และสามารถย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นได้ ทั้งนี้ การโอนย้ายไปสังกัดอปท.ก็จะมีสวัสดิการไม่น้อยกว่าที่สังกัดอยู่กับศธ.ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะคัดค้าน
สำหรับปัญหาเรื่องมาตรฐานการเรียนการสอน จะดูทั้ง 2 ระดับ คือ มาตรฐานการศึกษา และหลักสูตร จะต้องพิจารณาร่วมกัน และให้ท้องถิ่นสามารถเข้ามาปรับปรุงให้ระบบการศึกษาดีขึ้นได้ โดยยกตัวอย่างโรงเรียน กทม.ที่ไม่มีใครบอกไม่พร้อม ทุกคนแฮปปี้หมด ส่วนปัญหาที่ อปท.ยังมีเรื่องทุจริตอยู่นั้น เป็นกฎหมายคนละฉบับ
ด้านน.ส.ศันสนีย์ นาคพงษ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านของการถ่ายโอน ให้งบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าใช้จ่ายด้านวิชาการอยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ.โดยผ่านระบบของจีเอฟเอ็นไอเอส ส่วนงบประมาณทางด้านอื่นๆให้อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท.
**ครูเมินลมปาก"แม้ว"
ขณะที่กลุ่มครูผู้ชุมนุม นายพิษณุ ตุลสุข นายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการหารือร่วมกันของแกนนำครูที่คัดค้านการถ่ายโอน หลังทราบมติ ครม.ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ตามระดับความเข้มข้นของสถานการณ์ คือ 1.ไม่พอใจต่อท่าทีที่รัฐบาลปฏิบัติต่อครูในวันนี้ จะต้องใช้หนี้ต่อความรู้สึกของครูทั่วประเทศ 2.ให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา จัดชุมนุมเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่คณะครู และผู้ปกครอง ให้ชัดเจนเข้าใจทั่วถึง พร้อมประสานกับสื่อมวลชนท้องถิ่น
3.ให้มีการเตรียมรายชื่อของครู ผู้ปกครองและประชาชน ภายในวันที่ 9-14 พ.ย.48 เพื่อนำทูลเกล้าถวายฏีกาคัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษาแก่อปท.ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4.หากมีเหตุอันจงใจของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการถ่ายโอนฯ จะนัดชุมนุมใหม่ที่กรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนคน และ 5.จะทำการหยุดสอน จนกว่าจะประสบความสำเร็จในการคัดค้าน จากนั้นกลุ่มครูผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุมไปในเวลา ประมาณ 16.00น.
นายธนารัชต์ กล่าวว่า ครูที่มาร่วมคัดค้านทุกคนมีความเห็นว่า ครม.ซ่อนปมบางอย่าง ก็คือ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา มาจากอบต. ดังนั้นอาจจะมีการล็อบบี้ให้ถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้การดูแลของตนเองได้ เพราะฉะนั้นพวกเรายังยืนยันเหมือนเดิมว่า "ไม่ไป ไม่ถ่าย ไม่โอน"
ขณะที่นายคำพันธ์ ป้องปาน ประธานเครือข่ายองค์กรคัดค้านฯ กล่าวว่า ขอให้ครู 500,000 คน ไปร่วมกับคนในครอบครัว หาคะแนนเสียงให้ได้ 10 คะแนน รวมเป็น 5 ล้านคะแนนเสียง เพื่อมอบให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่ส่งเสริมการศึกษา และส่งเสริมวิชาชีพครู ถ้าพรรคการเมืองใดไม่ส่งเสริมการศึกษา และวิชาชีพครูจะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่า หากองค์กรเครือข่ายครูไม่ยอมรับมติที่ประชุม ครม.ในวันที่ 9 พ.ย.จะเชิญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.)และนายสมชาย สุนทรวัฒน์ รมช.มหาดไทย นายรุ่ง แก้วแดง รมช.ศึกษาธิการ มาร่วมชี้แจงรายละเอียดให้องค์กรเครือข่ายครูทราบต่อไป
**ทรท.หวั่นกระทบเลือกตั้ง
ส่วนในการประชุมพรรคไทยรักไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย สุนทรวัตน์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งนายรุ่ง ได้เดินทางมาชี้แจงกรณีการถ่ายโอนครูฯ ด้วย โดยระหว่างที่นายรุ่งกำลังชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคนั้น ส.ส.หลายคนได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น คัดค้านการถ่ายโอนครูฯ เนื่องจากมองว่าแนวคิดของนโยบายดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาโดยรวม ขณะเดียวกันก็อาจทำให้การปฎิรูปการศึกษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้
ภายหลังจากการประชุม ส.ส.ส่วนใหญ่ได้จับกลุ่มแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลพยายามจะโอนครูไปอยู่ภายใต้อปท. เพราะนอกจากจะทำให้นโยบายการปฎิรูประบบการศึกษาอาจไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากการบริหารใน อปท.ขณะนี้ยังไม่มีความพร้อม ที่สำคัญคือ จะกระทบต่อฐานเสียงโดยรวมของพรรคในวงกว้าง และบานปลายไปถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า จนทำให้ครูไม่เลือกพรรคไทยรักไทย