xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจอีเว้นท์คึกรวมพลตั้งชมรมปีนี้โตน้อยงานรัฐเงียบหาย1,500ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ธุรกิจอีเว้นท์รวมพล 39 บริษัทตั้งชมรมอีเว้นท์แมเนจเมนท์  หวังสร้างความเป็นเอกภาพและมาตรฐานสู่ตลาดโลก   ชี้จุดเด่นไทยอยู่ที่การออกแบบงานและราคาที่ถูกกว่าอเมริกาที่เป็นผู้นำธุรกิจอีเว้นท์อยู่ 50%   ประธานชมรมเผยช่วงไตรมาสสุดท้ายลูกค้าเอกชนแห่จัดงานคึกคัก  ขณะที่ภาครัฐเงียบเหงาเพราะอยู่ในช่วงพิจารณาค่าใช้จ่ายงบ  คาดเม็ดเงินจากรัฐหายไปกว่า 1,500 ล้านบาท    คาดการณ์ภาพรวมอีเว้นท์ปีนี้โตน้อยกว่าทุกปีหรือประมาณ 5%

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็ม ออแกไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) และประธานกลุ่มอีเว้นท์แมเนจเมนท์ (Event Management Clubหรือ EMC)  เปิดเผยว่า  บริษัทที่ประกอบธุรกิจอีเว้นท์ 39 บริษัทได้ร่วมมือกันก่อตั้งชมรมอีเว้นท์แมเนจเมนท์หรืออีเอ็มซีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต้องการสร้างความเป็นเอกภาพให้ธุรกิจ หรือเป็นศูนย์รวมแหล่งข้อมูลให้แก่ลูกค้าในด้านยอดขายและข้อมูลทางการตลาด ซึ่งในทุกไตรมาสชมรมฯจะมีการสรุปผลการดำเนินงาน   

อีกทั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานของกลุ่มอีเว้นท์แมเนจเมนท์ให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งเบื้องต้นการบุกตลาดต้องเจาะตลาดนิชก่อน ซึ่งตรงนี้ไทยได้เปรียบในเแง่ราคาที่ถูกกว่าผู้นำตลาดอย่างอเมริกา 50%   นอกจากนี้ทางชมรมยังมีการให้ความรู้ในด้านการศึกษาซึ่งได้มีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง 3 คณะ ได้แก่ นิเทศศาสตร์ ,คณะที่เกี่ยวกับดีไซน์และการตลาดแก่สมาชิก  เพื่อต้องการสร้างมาตรฐานให้อยู่ในระดับเดียวกัน อาทิ การคิดค่าบริการในการออกแบบอีเว้นท์ให้ลูกค้า ซึ่งถ้าเรื่องนี้มีมาตรฐานเดียวกันแล้ว บริษัทต่างๆก็จะหันไปแข่งขันทางด้านครีเอทีฟมากกว่าแข่งด้านราคา เป็นต้น

  “การที่หลายบริษัทมารวมกันก่อตั้งเป็นอีเอ็มซีในช่วงนี้ เนื่องจากช่วงนี้ธุรกิจอีเว้นท์มีความชัดเจนมากขึ้นแล้วถ้าเทียบกับเมื่อ 3-4 ปีก่อนที่สังคมทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จัก  โดยวัตถุประสงค์หลักอีกอย่างเพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานอีเว้นท์แมเนจเมนท์ไปสู่ระดับโลกมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ในเอเชียเราถือเป็นว่าไทยเป็นเบอร์ 1  โดยจุดเด่นของคนไทยอยู่ที่อาร์ท ไดเร็คชั่นของงานที่มีความชัดเจนและบุคลากรเรามีมาก”

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทอีเว้นท์แมเนจเมนท์มีสมาชิก 39 บริษัทจากบริษัทที่มีในตลาดกว่า 150 บริษัท  อาทิ ซีเอ็ม ออแกไนเซอร์ ,เอวี โปรเจคก์, ตือ, เจเอสแอล, ปิโก้ (ไทยแลนด์), แม็ทชิ่ง เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และอินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเยนซี่ เป็นต้น  เบื้องต้นภายใน 1 ปีนี้ทางกลุ่มตั้งเป้าจำนวนสมาชิกไว้ที่ 45 บริษัท  โดยจะเปิดรับสมาชิกไม่มากเพราะกลัวไม่ได้มาตรฐาน    

นอกจากนี้ทางชมรมเตรียมเปลี่ยนเป็นสถานะจากชมรมเป็นสมาคมต่อไปภายในปีนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่สมาคมอีเว้นท์ระดับโลกอย่าง IFEA  (International Festival &Events Association) และ ISES (International Special &Events Society)

ด้านนางสาวเกณิกา วงศ์เกล็ดนาค ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท เอวี โปรเจคก์ จำกัด เปิดเผยว่า การที่บริษัทฯเข้าร่วมคลับอีเอ็มซีเพราะต้องการมีเพื่อนทางธุรกิจที่ทำอาชีพเดียวกันมากกว่าจะแข่งขันกัน   อีกทั้งมองว่ายังมีที่ปรึกษาทางธุรกิจเพิ่ม และชมรมนี้ยังเป็นเหมือนศูนย์รวมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายในกันได้

สำหรับธุรกิจอีเว้นท์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ในส่วนของธุรกิจเอกชนจะคึกคักกว่าภาครัฐบาล  อาทิ กลุ่มธุรกิจรถยนต์จะมีการจัดงานมาก เนื่องจากจะมีงานมอเตอร์โชว์ในช่วงปลายปี   ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น กลุ่มสื่อสารและแฟชั่นก็ยังนิยมใช้บริการอีเว้นท์อยู่ในช่วงนี้ เพราะมีงานเทศกาลมาก   ขณะที่งานจากภาครัฐคาดว่าจะมีการชะลอการใช้งบเนื่องจากบางหน่วยงานกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาการใช้งบอยู่  ตรงนี้คาดการณ์ว่าเม็ดเงินที่หายไปคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท  
 
สำหรับมูลค่าธุรกิจอีเว้นท์ในไทยมีกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ของบริษัทสมาชิกคิดเป็นสัดส่วน 65%      ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมอีเว้นท์จะมีอัตราการเติบโต 10-15%  แต่สำหรับปีนี้คาดว่าจะโตเพียง 5%  เนื่องจากฐานของตลาดใหญ่ขึ้นและในช่วง 3 เดือนแรกของปีอุตฯโดนผลกระทบจากคลื่นสึนามิต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัวลง   ซึ่งหากเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับนี้ปีหน้าคาดการณ์ว่าธุรกิจอีเว้นท์จะโตประมาณ 10%    
กำลังโหลดความคิดเห็น