ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรนัดประชุมใหญ่ปลายเดือนตุลาฯนี้ หลังสะสางบัญชีหนี้สินคืบ พบ 70,000 บัญชีหนี้ / 20,000 เกษตรกร ต้องถูกตรวจสอบซ้ำ เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านภาคเหนือ ตั้งแท่นขอกองทุนฯหนุนแปรรูปเหล้าขาวเป็นพลังงานทดแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน ฟื้นฟูเกษตรกร และนางจุฬารัตน์ เสรีเชษฐพงษ์ เลขาฯได้เรียกประชุมหัวหน้าสำนักงานกองทุนฯในภาคเหนือ และกลุ่มเกษตรกรบางส่วน รวม 700 คน ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อ แจ้งความคืบหน้าการแก้ปัญหา และการทำงานของกองทุนฯในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา
นายประพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ได้เริ่มสะสางทะเบียนหนี้ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งมีอยู่ 300,000 รายเศษ โดยจะให้เสร็จโดยเร็ว และ อีกเรื่องที่จะต้องสะสาง คือ การจัดการในองค์กรที่มีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีฝ่ายการเมืองหลายฝ่าย ส่งคนเข้ามาแล้วต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน นอกจากนั้นได้ยกเลิกโครงการที่ส่งเข้ามาฟื้นฟูอาชีพแล้วทั้งหมด
สำหรับการจัดการบัญชีหนี้ของเกษตรกร เครือข่ายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) ได้ขึ้นทะเบียนหนี้แล้วจำนวน 110,000 ราย ซึ่งจำนวนนี้มีอยู่ 70,000 ราย จะต้องตรวจสอบซ้ำ มีหนี้เร่งด่วนหมายถึงหนี้ที่กำลังถูกยึดทรัพย์จำนวน 245 ราย ด้านสมาชิกที่เป็นเครือข่ายสหกรณ์ขึ้นทะเบียนจำนวน 90,000 ราย มีอยู่ 20,000 รายตรวจสอบซ้ำ มีหนี้เร่งด่วนจำนวน 2,000 ราย ที่กำลังจะถูกยึดทรัพย์ ส่วนที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้หรือล่าช้า ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์
ในส่วนของหนี้เร่งด่วน จะต้องดำเนินการทันที โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เร่งให้คณะกรรมการบริหารชุดใหญ่ประชุมในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำทะเบียนหนี้ที่ตรวจสอบเรียบร้อย เข้าพิจารณาแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด และนายกรัฐมนตรีรับปากว่า จะเดินทางมาร่วมเป็นประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง
การบริหารภายในองค์กร เลขาฯและคณะกรรมการบริหาร ได้วางแนวทางหลักการบริหารด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีความขัดแย้งหลายระดับ แต่ปัจจุบันกองทุนฯมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว โดยจะไม่มีใครเป็นเด็กนักการเมืองคนใดอีกต่อไป
ส่วนปัญหาในสำนักงานสาขา หลายแห่งที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ หรือยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขต่อไป ซึ่งถือว่าไม่มีปัญหาและไม่สนใจมากนักใน ประเด็นดังกล่าว เชื่อว่าขณะนี้การทำงานถูกต้องแล้ว คนฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษ ใครที่แอบแฝงมาจะต้องถูกเขี่ยออกไปซึ่งที่สาขาเชียงใหม่ ก็ยังมีปัญหาอยู่พอสมควร ในส่วนของความขัดแย้งก็จะให้เวลาแก้ปัญหา เพราะไม่อยากทำร้ายใคร
นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดการหนี้ทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องควบคู่ไปกับการฟื้นฟูด้วย โดย ในการประชุมคราวหน้า จะมีการเสนอแนวทางที่ชัดเจน และเมื่อมีการโอนหนี้ ที่ตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว กลุ่มแรกจะเร่งฟื้นฟูอาชีพต่อไป
นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการงาน กองทุนฯส่วนกลางจะวางกรอบกติกาให้ แต่จะไม่มีการสั่งการเหมือนการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา จนสร้างปัญหาให้กับเกษตรกร หรือสร้างบาปให้กับเกษตรกรทั่วประเทศอีกต่อไป ควรให้เกษตรกรมีส่วนร่วม ในกระบวนคิดฟื้นฟูอาชีพและสาขากองทุนฯ 30 แห่งเข้าไปสนับสนุน เช่น กรณี ในภาคอีสาน ชาวนามีแนวคิดที่จะจัดการโรงสีด้วยกลุ่มสมาชิก โดยให้กองทุนฯเข้าไปจัดการให้ในเรื่องการสร้างโรงสีกลาง หรือชาวสวนมะนาว ภาคกลางต้องการตั้งโรงงานแปรรูปมะนาว เพื่อรักษามะนาวที่มีราคาถูกในช่วงฤดูกาลผลิตแล้วเก็บไว้จำหน่ายในช่วงที่มะนาวมีราคาสูง
กรณีนี้กองทุนฯจะเข้าไปช่วย โดยนำนักวิชาการเข้าไปร่วมคิดค้นหา แต่กลุ่มเกษตรกรเอง จะต้องมีความเข้มแข็งพอและทำจริง ทุกโครงการที่กองทุนฯเข้าไปสนับสนุน จะต้องผ่านกระบวนการคิดให้ตก โดยจะไม่มีโครงการที่ล้มเหลวอีกต่อไป
"ขณะนี้ยังไม่มีการรับโครงการของเกษตรกร ใครจะมาเสนอแนะให้เขียนโครงการเรียกเก็บเงินอย่าเชื่อ เกษตรกรและกองทุนฯจะรับรู้พร้อมกันร่วมกันตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะโครงการเมื่อเขียนแล้วควรปฏิบัติได้จริงเท่านั้น ที่ผ่านมาเกษตรกรเขียนโครงการฟื้นฟูเข้าไป ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ถอดแบบเดียวกันหมด เชื่อว่ามีการเขียนโดยใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่กลุ่มเกษตรกร โครงการทั้งหมดจึงถูกยกเลิก"
ด้านนางจุฬารัตน์ กล่าวว่า หนี้ของเกษตรกรมีอยู่มากและหลายรูปแบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยกันจัดหมวดหมู่เพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้ในกรอบอำนาจของกองทุนฯเท่านั้น หนี้ในบางรายที่หมุนเวียนได้ให้ดำเนินการไปก่อน
กองทุนฯจะเข้าไปช่วยคนที่หมดแรงก่อนไม่ให้จมน้ำตายและการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าว ไม่ทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงิน หมายความว่า เมื่อมีกองทุนฯเข้ามาช่วยลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯจะงดการส่งเงิน เรื่องนี้เกษตรกรทราบดีและไม่มีใครงอมืองอเท้าต้องช่วยกัน
นายประนอม เชิมชัยภูมิ แกนนำเกษตรกรจากจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ของกองทุน และนายกรัฐมนตรียอมรับการทำงานของ พ.ร.บ.ดังกล่าวที่มุ่งแก้ปัญหาให้กับคนฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่เต็มไปด้วยหนี้สิน จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตามเกษตรกรในภาคเหนือต้องสามัคคีกัน เพื่อต่อสู้ให้ พระราชบัญญัติดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มผลิตเหล้าพื้นบ้านทั่วภาคเหนือ กำลังเสนอให้กองทุนฯเข้ามาสนับสนุนการผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อนำไปทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสามารถนำภูมิปัญญาการต้มเหล้า ไปใช้ในเรื่องการการผลิตแก๊สโซฮอล์ได้ โดยกองทุนฯต้องสนับสนุนให้ชาวบ้านสามารถผสมน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านให้ได้