ศูนย์ข่าวขอนแก่น-"น้ำตาลขอนแก่น" รุกธุรกิจพลังงานทดแทน ทุ่มเงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งเป้าผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล 150,000 ลิตร/วัน จากวัตถุดิบกากน้ำตาล 400 ตัน/วัน พร้อมหาวัตถุดิบอื่นเสริมการผลิต คาดเดินสายผลิตภายในเดือนธันวาคมปีนี้ ชี้อุปสรรคต้นทุนผลิตสูงไม่คุ้มผลิตเชิงธุรกิจ ยันต้องเจรจากับรัฐ ให้ลอยตัวราคาเอทานอลกับเบนซิน 95 ในราคา 3-4 บาท/ลิตร แต่ย้ำชัดเดินเครื่องผลิตเอทานอลแน่ แม้ยังไม่ได้ข้อยุติราคารับซื้อเอทานอล
นายณรงค์ จิตร์น้อมรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายผลิต บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงการตั้งโรงงานผลิตเอทานอลว่า บริษัทน้ำตาลขอนแก่น ได้รับอนุมัติตั้งโรงงานผลิตเอทานอล จากคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร บริเวณที่ตั้งโรงงานภายในบริเวณเดียวกับโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ บริษัททุ่มเงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร ไม่รวมค่าที่ดิน ล่าสุดผลการดำเนินงานก่อสร้างอาคาร และติดตั้งเครื่องจักร และระบบต่างๆภายในโรงงานคืบหน้ามากกว่า 82% คาดว่าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ระบบต่างๆ จะติดตั้งแล้วเสร็จ ฑณ็ฮฒทดสอบเครื่องจักรประมาณต้นเดือนธันวาคม และสามารถเดินเครื่องผลิตเอทานอลได้ภายในเดือนธันวาคม 48
นายณรงค์ กล่าวฮ๊ฏว่า ศักยภาพการผลิตเอทานอล เบื้องต้นได้รับอนุญาตผลิตที่ 85,000 ลิตร/วัน ต่อมาบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ได้ขอขยายการผลิตเอทานอล เป็น 150,000 ลิตร/วัน โดยวัตถุดิบที่ใช้ผลิต เป็นกากน้ำตาล หรือโมลาส ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลขอนแก่น มาใช้ผลิตในโรงงานเอทานอล ที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน ซึ่งต้องใช้กากน้ำตาลสูงถึง 400 ตัน/วัน เพื่อแปรรูปเป็นเอทานอล 150,000 ลิตร ขณะเดียวกันสามารถใช้วัตถุดิบชนิดอื่นเสริมการผลิต ในกรณีที่เอทานอลไม่เพียงพอ
สำหรับเครื่องจักรผลิตที่นำมาใช้ผลิตเอทานอล เป็นเทคโนโลยีจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตเอทานอล เครื่องจักรรุ่นที่นำเข้านี้ มีความสามารถในการผลิตเอทานอลได้จากวัตถุดิบหลากหลายชนิด ทั้งกากน้ำตาล น้ำเชื่อม มันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งข้าวฟ่างหวาน โดยเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะใช้กากน้ำตาล เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต
ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลขอนแก่น ได้ทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยในเขตส่งเสริม ในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดขอนแก่น ให้เข้าใจถึงการขยายการลงทุนผลิตเอทานอล ที่ชาวไร่อ้อยจะได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากการผลิตเอทานอล จะทำให้กลไกราคารับซื้ออ้อย ปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการผลผลิตอ้อย โดยชาวไร่อ้อยในเขตส่งเสริมจะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยให้มากขึ้น ให้เพียงพอกับความต้องการในทุกอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล ณ ปัจจุบันคือ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก ไม่สอดคล้องกับราคารับซื้อเอทานอล ที่รัฐบาลใช้นโยบายควบคุมราคาไว้ที่ 15 บาท/ลิตร โดยเฉพาะโรงงานเอทานอลที่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล จะประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงกว่าวัตถุดิบชนิดอื่น เนื่องจากราคากากน้ำตาลปี 2548 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือตันละ 3,600 บาท
นายณรงค์กล่าวว่า ราคากากน้ำตาลระดับดังกล่าว กระทบต่อต้นทุนการผลิตเอทานอล ปรับตัวสูงขึ้นถึง 18-19 บาท/ลิตร ขณะที่รัฐคุมราคาเอทานอลไว้ที่ 15 บาท/ลิตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับต้นทุนผลิตที่แท้จริง โดยผู้ประกอบการผลิตเอทานอล จะเข้าไปหารือกับรัฐบาล เกี่ยวกับราคารับซื้อเอทานอล จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตเอทานอล
กรณีปัญหาราคารับซื้อเอทานอล รัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการควบคุมราคารับซื้อไว้ แต่ควรเป็นในลักษณะลอยตัว ตามราคาน้ำมันเบนซิน 95 โดยกำหนดเพดานช่องว่างระหว่างราคาเอทานอลให้ต่ำกว่าเบนซิน 95 ประมาณลิตรละ 3-4 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาเบนซิน 95 ปรับขึ้นไปถึง 26 บาท/ลิตร ช่องว่างราคากับเอทานอลสูงถึง 11 บาท/ลิตร เชื่อมั่นว่า ช่องว่างราคาที่ระดับ 3-4 บาท ยังเป็นระดับราคาที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน สามารถกำหนดราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 ต่างจากเบนซิน 95 ได้ในระดับ 1.50 บาทได้
สำหรับ สถานการณ์ปัจจุบัน ที่เผชิญปัญหาน้ำมันแพง และการรณรงค์ใช้พลังงานทดแทน ทำให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้แก๊สโซฮอล์สูงเกินคาด จนผลผลิตเอทานอลไม่เพียงพอนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์ จนต้องนำเข้าเอทานอล จากประเทศบราซิล และอินเดีย มาเสริมการผลิตในช่วงขาดแคลน
โดยบริษัท น้ำตาลขอนแก่น ยืนยันที่จะผลิตเอทานอล แม้ว่าระดับราคารับซื้อเอทานอล จะไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง โดยจะดำเนินการผลิตไปก่อนตามเป้าหมายการผลิตที่แจ้งไว้กับคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ขณะเดียวกันจะเร่งเจรจากับรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายราคารับซื้อเอทานอล ให้มีความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงธุรกิจ