ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักธุรกิจในพื้นที่ IMT-GT หวังอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลรุดหน้า และสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการได้ในต้นปี 2549 รอโครงการก่อสร้างท่าเรือเป็นจุดขนถ่ายระบายสินค้า ในขณะที่จะมีการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน มาเป็นพลังงานในการผลิต คาดจะได้ส่วนแบ่งในตลาดที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ครองส่วนแบ่งแค่ 0.18% เท่านั้น
นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี และกรรมการสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ จ.ปัตตานีได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดมความคิดภาครัฐและเอกชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานแผนงานโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) พร้อมติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่าง 3 ชาติในสาขาการพัฒนาต่างๆ ด้วย
การประชุมครั้งนี้เป็นผลจากภาครัฐและเอกชนฝ่ายไทย ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างในพื้นที่โครงการ IMT-GT ซึ่งนอกจาก 3 จังหวัดชายแดนแล้ว ยังประกอบด้วย สงขลา สตูล พัทลุง ตรังและนครศรีธรรมราช ต่างเห็นร่วมกันว่า กรอบและทิศทางการพัฒนาพื้นที่ IMT-GT เดิมกำหนดใช้มานานแล้ว เวลานี้น่าจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ร่วมกับสภาธุรกิจชายแดนใต้ (IMT-GT) จัดประชุมกลุ่มการประชุมระดมความคิด ในการพัฒนาพื้นที่ความร่วมมือ (IMT-GT) ใน 8 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางใหม่ การดำเนินงานแผนงาน (IMT-GT) ใน 2 กลุ่มจังหวัดคือ กลุ่ม ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช และครั้งสุดท้ายในกลุ่มจังหวัดสงขลาและสตูล โดยจะมีการประมวลการสัมมนาสรุปผลทั้ง 8 จังหวัด เพื่อกำหนดทิศทางใหม่การดำเนินงานแผนงาน IMT-GT ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป
ในการพัฒนาพื้นที่ความร่วมมือ (IMT-GT) ใน 8 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางใหม่การดำเนินงานแผนงาน (IMT-GT) ของกลุ่มจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กลุ่มจังหวัดฯยังคงมีวิสัยทัศน์เพื่อให้พื้นที่นี้ เป็นศูนย์กลางอาหารมุสลิมฮาลาล อิสลามศึกษานานาชาติ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และโลกมุสลิมบนพื้นฐานแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี และดินแดนแห่งสันติสุข
ในขณะที่การดำเนินงานก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ จ.ปัตตานี จะเปิดเฟสแรกในปี 2549 อย่างแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก ทำให้ช่องทางของอาหารฮาลาลยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยประชากรมุสลิมทั่วโลกมี 1,800 ล้านคน หรือ 25% ของประชากรโลก ซึ่งมีการบริโภคอาหารฮาลาลเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้เพียงปีละ 275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.18% เท่านั้น
"นิคมฯอาหารฮาลาล จ.ปัตตานี จะเป็นนิคมฯที่นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทย นอกเหนือไปจากการได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI "
สำหรับการแก้ปัญหาความมั่นใจของนักลงทุน ที่มีต่อสถานการณ์ไฟใต้ ส่วนหนึ่งต้องดึงนักลงทุนหน้าใหม่แทนรายเก่าที่ย้ายฐานไปพื้นที่อื่นๆ และให้รัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำต่อนักลงทุนหน้าใหม่ และยืดระยะเวลาการกู้เงินจากธนาคารนาน 3-5 ปี
ทั้งนี้ จากรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ในประเทศไทย ชี้ว่าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยมีการส่งออก เป็นอันดับที่ 14 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความก้าวหน้าของมาตรฐานการรับรองอาหารฮาลาลในประเทศไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น โดยปี 2544-2545 มีบริษัทที่ได้รับการรับรองฮาลาล 863 บริษัท เพิ่มขึ้น 68.3 % เมื่อเทียบกับช่วงปี 2543-2544 ซึ่งมีเพียง 310 บริษัท นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาความสามารถในการทดสอบอาหารฮาลาลให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาล
นายศิริชัย กล่าวต่อด้วยว่า ในส่วนของด้านแหล่งพลังงานทดแทนนั้น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความเหมาะสมจะปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อสนับสนุนการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งจะเป็นพลังงานสำคัญที่ทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียมที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการทดลองปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ตั้งแต่ปี 2528
ทั้งนี้ มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบขนาดกำลังผลิต 1 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่ใช้ระบบทอดผลปาล์มภายใต้สภาพสุญญากาศ ซึ่งไม่มีน้ำเสียในกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อใช้กับรถและเครื่องจักรกลภายในศูนย์ ประมาณปีละ 5,000 ลิตร ปัจจุบันกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้มีการปลูกปาล์มในพื้นที่ จ.นราธิวาส แล้ว 15,000 ไร่
ส่วนด้านการพัฒนาและวางรากฐานระบบขนส่ง ได้วางตำแหน่งให้ จ.สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแปรรูปอุตสาหกรรมขนาดกลาง และพัฒนาท่าเรือดอนสักเชื่อมภาคใต้และภาคตะวันออก โดยมีถนนเชื่อมโยง จ.กระบี่-อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะแล้วเสร็จปี 2548
ด้านการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีแนวทางการพัฒนาภาคใต้ตอนล่าง ดังนี้ 1.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล เพื่อเป็นจุดขนส่งสินค้าไปยังประเทศในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ทางด้านทะเลอันดามัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย
2.โครงการท่าเทียบเรือสงขลา-แหลมฉบัง เชื่อมโยงเส้นทางทะเลชายฝั่งตะวันออก เพื่อลดการสูญเสียเงินตราค่าขนส่งสินค้าทางทะเลผ่านประเทศมาเลเซีย และดึงดูดให้มาส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือสงขลาแทน ซึ่งเป็นการรองรับสินค้าส่งออกของภาคใต้ ทั้งยางพารา ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล และอาหารฮาลาล