xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นอีสานแค่ทางผ่านแนวศก.EWEC แผนยุทธศาสตร์ไม่ชัด-ช้ากว่าเวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ชี้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้า-ลงทุนเตรียมรับการใช้ประโยชน์เส้นทาง EWEC ของไทยช้ากว่าเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามเดินแผนเชิงรุกทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ-แหล่งท่องเที่ยว หวั่นภาคอีสานของไทยเป็นแค่ทางผ่านซ้ำรอยการสร้างสะพานข้ามโขง1 หนองคาย-เวียงจันทน์

วานนี้ (8ก.ย.) ณ ห้องแก่นนคร โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC)"โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมราว 40 คน

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข.กล่าวถึงการจัดประชุมครั้งนี้ว่าจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อติดตามการดำเนินงานของ ศูนย์ปฏิบัติการร่วม (ROC) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2547 ตามบทบาทของ ROCแล้วเป็นองค์กร ประสานและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด สนับสนุนกิจการความร่วมมือ และความช่วยเหลือระหว่างกลุ่มจังหวัดกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดในภาคอีสาน และร่วมมือกับสถาบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข.

"อย่างน้อยก็เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจและบูรณาการการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบการใช้ประโยชน์ตามแนวเส้นทาง EWEC ในการขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย"รศ.รังสรรค์ กล่าวและว่า

ประเด็นคำถามที่น่าสนใจมากในขณะนี้ กรณีแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในเส้นทางตะวันออก-ตก หรือ EWEC ซึ่งแนวถนนที่ตัดจากพม่าเข้ามายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร นั้นถือเป็นสัดส่วนแนวถนนที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งสาย ในส่วนของประเทศไทยจะจัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างไรเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดการโครงข่ายคมนาคมเส้นนี้

ทั้งนี้ เพราะหากประเมินความพร้อมจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดในภาคอีสานเพื่อสอดรับกับแนวโน้มการขยายตัวด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนตามเส้นทาง EWEC ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังถือว่าแต่ละกลุ่มจังหวัดขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ช้า ขณะที่แนวโยบายระดับรัฐบาลเองก็ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต จะแล้วเสร็จในปลายปี 2549 ส่วนเส้นทางหมายเลข 9 จากสปป.ลาวและเวียดนามเองก็แล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม ขณะนี้มีความก้าวหน้าเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าและพร้อมกว่าไทยหลายขุม โดยเฉพาะด้านลงทุนอุตสาหกรรม หลายจังหวัดทางเวียดนามตอนกลาง ได้เร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนจากนานาชาติไว้แล้ว ขณะที่ท่าเรือดานังก็อยู่ระหว่างการพัฒนาให้แล้วเสร็จทันกับการเปิดใช้สะพานมิตรภาพเช่นกัน ไม่นับรวมกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอีกหลายจุด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

รศ.รังสรรค์กล่าวย้ำว่า เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง EWEC ศูนย์ปฏิบัติการร่วม ROC กลุ่มจังหวัดภาคอีสานจะเร่งประสานความร่วมมือระดมความเห็นทั้งจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อประมวลข้อมูลกำหนดกรอบแผนยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทาง EWEC ให้ได้สมบูรณ์เร็วที่สุด ที่ผ่านมาการบูรณาการทำงานยังไม่มีความชัดเจน

รศ.รังสรรค์ เปิดเผยอีกว่า ไม่อยากให้โครงข่ายคมนาคมภายใต้กรอบ EWEC ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจการค้าการขนส่งเส้นทางใหม่ในภูมิภาค ซึ่งแนวถนนตัดผ่านภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งต้องเป็นเพียงทางผ่านที่ คนไทยหรือคนอีสานไม่ได้รับประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรม ซ้ำรอยกับการเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก หนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นแค่ทางผ่านของสินค้าและนักท่องเที่ยวเข้าไปยังลาวเท่านั้น แม้แต่ธุรกิจการค้าบริเวณจุดก่อสร้างสะพานในหนองคายก็ยังไม่สามารถเกิดได้

"ในวันที่ 15 กันยายน นี้เราจะจัดประชุมระดมความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการใช้ประโยชน์เส้นทางสายนี้อีกครั้งที่ขอนแก่น โดยจะเน้นการระดมความเห็นจากภาคประชาชนเป็นหลัก เพื่อจะได้นำข้อเสนอมาผนวกเป็นกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มจังหวัดของภาคเพื่อเตรียมรับกับการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง EWEC ให้เป็นรูปธรรมที่สุด"รศ.รังสรรค์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น