xs
xsm
sm
md
lg

ดันกรุงเทพฯสู่เวิลด์บุ๊คแคปปิตอล เผยวัยพรีทีนอ่านหนังสือมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ดันสุดตัวให้กรุงเทพฯเป็น World Book Capital ในปี 2551 ปีหน้าเตรียมเสนอรายชื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณา เผยคนไทยเลือกอ่านหนังสือพิมพ์สูงที่สุด เด็กอายุ 10-14 ปีอ่านหนังสือมากที่สุด

นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 10 หรือ BOOK EXPO THAILAND 2005 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6–16 ตุลาคม นี้ โดยคอนเซ็ปต์ของงานคือ ก้าวสู่…ดินแดนแห่งความรู้ เพื่อต้องการรณรงค์ให้คนไทยรักการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น และต้องการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น World Book Capital ให้ได้ในปี 2008ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้เด็กไทยรักการอ่านหนังสือมากขึ้น มีโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ “วางทุกงาน อ่านทุกคน คนละ 15 นาที” โครงการของกระทรวงวัฒนธรรม “1 ตำบล 1 ห้องสมุด” โครงการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างห้องสมุดเสริมปัญญา และโครงการเมืองหนังสือ “ไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์” ของบริษัท บุ๊ค ทาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น

นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานในวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธราว 350 ราย จำนวน 811 บูธ บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ซึ่งผมเชื่อว่าเฉพาะในงานนี้งานเดียวจะมีหนังสือออกใหม่มาให้เลือกซื้อกันถึง 1,000 เรื่อง และจะมีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.5 ล้านคน

การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็น Bangkok World Book Capital ได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และประเทศ ในการสร้างสรรค์โปรแกรมหรือกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ประชาชนอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านของยูเนสโก สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ สมาคมห้องสมุดนานาชาติ และสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ ในฐานะหน่วยงานผู้จัดการประกวด World Book Capital จะใช้พิจารณา

“มีเกณฑ์อื่นๆ ที่ใช้พิจารณาประกอบ เช่น อัตราเติบโตด้านยอดจำหน่ายของธุรกิจหนังสือซึ่งประเทศไทยโตเฉลี่ยปีละ 15-20% ด้านเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ด้านการจัดพิมพ์ และด้านการกระจายหนังสือ เป็นต้น หน้าที่ของสมาคมฯ คือ การสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการรณรงค์ให้อ่านหนังสือ และจัดรวบรวมข้อมูลด้านผลการ ส่งเสริมการอ่านดังกล่าว เพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการของ World Book Capital พิจารณาต่อไป โดยมีแผนจะเสนอชื่อเมืองกรุงเทพฯ เข้าชิงในช่วงเดือนมีนาคมปี 2006 และคาดว่าจะทราบผลในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน เพื่อประกาศว่าเราจะเป็น Bangkok World Book Capital ปี 2008 ได้หรือไม่”

สำหรับการประกวด World Book Capital เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2001 ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2001-ปัจจุบัน มีเมืองที่ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้น 7 เมือง ได้แก่ ปี2001 เมืองมาดริด ประเทศสเปน ปี2002 เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ปี2003 เมืองนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย ปี2004 เมืองอันเวิร์บ ประเทศเบลเยี่ยม ปี2005 เมืองมอนรีออล ประเทศแคนาดา ปี 2006 เมืองตูริน ประเทศ อิตาลี และปี 2007 เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย

จากการสรุปผลการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของประชากรไทย ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำรวจพบว่า จำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 59.2 ล้านคน มีผู้อ่านหนังสือประมาณ 40.9 ล้านคน คิดเป็น 69.1% ของจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยอัตราการอ่านหนังสือของชายสูงกว่า คิดเป็น 51.5% และหญิงคิดเป็น 48.5%

เมื่อพิจารณาอัตราการอ่านหนังสือตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเด็ก อายุตั้งแต่ 10-14 ปี มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด คิดเป็น 95.2% ทั้งนี้เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยกำลังเรียน รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี คิดเป็น 83.1% และกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด คือ 37.4% อัตราการอ่านหนังสือของประชากรมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับระดับการศึกษา ผู้ที่จบระดับอุดมศึกษามีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับอื่นๆ คิดเป็น 96.3% สำหรับผู้ที่จบระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด คิดเป็น 61.8%

ประเภทของหนังสือที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ คิดเป็น 72.9%, นวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น คิดเป็น 45.4%, นิตยสาร คิดเป็น 36.9% ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่าน คิดเป็น 34.4% และการอ่านจากอินเตอร์เน็ต คิดเป็น 10.2% นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้อ่านหนังสือ/ซีดี เกี่ยวกับธรรมะ คิดเป็น 5.7% โดยเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านชอบ คือ ข่าวคิดเป็น 45.6% และเนื้อหาสาระที่ให้ความบันเทิง คิดเป็น 25.6%
กำลังโหลดความคิดเห็น