xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรอิสลามขัดแย้งแก้ปัญหาใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรอิสลามฟัดกันนัวระหว่างสำนักจุฬาราชมนตรีกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เหตุช่วงชิงคะแนนนิยมในการเลือกตั้งกรรมการจังหวัดที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ชี้แนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ไปคนละทาง สำเร็จยาก ขณะที่รัฐบาลเรียงหน้าปฏิเสธข่าวทางการไทยส่งตัวแทนเจรจากลุ่มพูโล วอนสื่ออย่าให้ความสนใจ ด้าน สศค.เตรียม เข็น 4 มาตรการฟื้นเศรษฐกิจชายแดนใต้ ขณะที่ ส.ว.121 เสียงอุ้มพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉลุย

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.)นายนิรัน พันทรกิจ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสำนักจุฬาราชมนตรี กับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสององค์กรไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่แนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างสำนักจุฬาฯกับกรรมการกลางอิสลามนั้น เป็นคนละแนวทาง และต้องปรับให้เป็นแนวทางเดียวกันและร่วมมือกัน เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาให้ง่ายขึ้น เพราะถ้ามุมมองในการแก้ปัญหายังแตกต่างกันอยู่อย่างนี้ การแก้ปัญหาของรัฐบาลมันจะยากมากขึ้น

"ทางสายของสำนักจุฬาฯเองเชื่อว่า ปัญหาภาคใต้เกิดมาจากความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจ ดังนั้นการแก้ปัญหา ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาโดยยึดหลักสร้างความเข้าใจใน เชื้อชาติ หลักคำสอนทางศาสนา และประวัติศาสตร์ ที่ต้องทำให้ชัดเจน จะได้ไม่เกิดการนำไปบิดเบือนจากผู้ที่จ้องหาช่องทางในการก่อปัญหา”ผอ.สำนักจุฬาฯ กล่าว

นายนิรัน ยังชี้แจงถึงกรณีที่นายไพศาล พรหมยงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่าตำแหน่ง ผอ.สำนักจุฬาฯไม่มีความเชื่อถือในทางสังคมว่า ความจริงตำแหน่งในสำนักจุฬาฯ ทุกตำแหน่งมีการรับรองจากรัฐบาล โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม อย่างชัดเจนว่าเป็นองค์กรพิเศษทางศาสนา อีกทั้งการการประกาศให้ทำพิธีกรรม การดูเดือนทางศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาฯก็เป็นผู้ประกาศทั้งสิ้น

ขณะที่นายไพศาล ตอบโต้ว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี นั้นเป็นผู้นำทางศาสนา ซึ่งมีสถานภาพทางกฎหมายรองรับจริง แต่สำนักงานจุฬาฯนั้น เป็นเรื่องส่วนตัวไม่มีอะไรรองรับ ตำแหน่งต่างๆในสำนักจุฬาฯนั้นมีเป็นโหล อยากตั้งตำแหน่งอะไรก็ตั้งได้ บางคนมีตำแหน่งแต่ไม่เคยเข้าสำนักงานเลย เพราะไม่รู้จะเข้าไปทำอะไรไม่มีหน้าที่มีแต่เก้าอี้

การที่นายนิรัน ออกมาพูดจากกล่าวหาประธานอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น เป็นการพูดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ต้องการสร้างเครดิตให้กับกลุ่มตัวเอง เพื่อเอาชนะทางการเมืองในการเลือกตั้งกรรมการจังหวัดที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมากลุ่มของสำนักจุฬาฯ แพ้มาตลอด จึงต้องการกลับมามีอำนาจในคณะกรรมการกลางฯ

"การออกมาพูดของนายนิรัน ทำให้ตัวจุฬาราชมนตรีเองพลอยเสียรังวัดไปด้วย เพราะเป็นการพูดผิดกาละเทศะ ความจริงแล้วสำนักจุฬาฯ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของกรรมการจังหวัด ไม่มีสิทธิมาสั่งการหรือปลดออกจากตำแหน่ง แต่จุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำศาสนา ต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ขณะนี้คนรอบข้างของจุฬาฯ กำลังทำให้นายเสียหายโดยไม่รู้ตัว"นายไพศาล กล่าว

**รัฐบาลปฏิเสธเจรจาพูโล

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความน่าเชื่อถือกรณี กลุ่มพูโล ออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่า ข่าวนี้ไม่พึงจะเอามาพูด เพราะมันเป็นความลับ

"เรื่องกลุ่มต่างๆเราพอรู้อยู่ แต่ไม่ขอพูด เราไม่ควรจะเอาข่าวพวกนี้มาพูด เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ"

ส่วนที่พูโลออกมาระบุว่า หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายตามที่ปฏิบัติมา จะขยายพื้นที่ก่อนเหตุออกไป พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องข่าวก็ว่าไป คุณจะยอมเขาหรือ

พล.ต.อ.ชิดชัย ยืนยันด้วยว่า ไม่มีคนของรัฐบาลไปเจรจากับกลุ่มพูโล ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และอย่าไปให้ความสนใจในข่าวที่เสนอมา

ด้านพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้มีการสอบถามกันในที่ประชุมด้านความมั่นคงแล้วว่า หน่วยข่าวมีใครไปคุยอะไรบ้าง ก็ไม่มี ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลไม่มีการเจรจากับใครทั้งสิ้น เรามองในแง่ที่ว่า ขณะนี้มีคนเข้ามาร่วมมือกับทางรัฐบาลมากขึ้น เขาก็ดิ้น และเขาอาจจะเป็นเครื่องมือ ก็เพราะว่าสำนักข่าวนี้เคยเขียนไปในทางลบหลายครั้ง

"เขาสัมภาษณ์คนคนเดียวมีการเขียนมาหลายครั้งแล้ว ไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่ว่าฝรั่งแล้วเก่งหมด อย่าไปเชื่อ ก็ปล่อยไปเขา เดี๋ยวคนเขาก็พิสูจน์ว่ามันไม่จริง มันก็จบ"

พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ก่อการร้ายคงจะกระเทือนมาก เพราะมีคนมามอบตัวมาก แล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นขบวนการพูโลอย่างเดียว ยังมีขบวนการเล็ก ขบวนการน้อย เยอะแยะไป ซึ่งในทางการข่าวเราก็กำลังดูอยู่

พล.ต.ท.จุมพล มั่นหมาย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มพูโลมีอยู่จริง ซึ่งทางสำนักข่าวกรองรู้มานานแล้ว และมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย จะเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศหลายประเทศ

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่กลุ่มพูโล กล่าวอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบ ว่าเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน และเกี่ยวข้องประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียนั้น เรื่องนี้เราได้พูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านชัดเจนแล้ว ว่าไทยและมาเลเซียเป็นมิตรประเทศ เพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เรื่องการยอมรับเขตแดนของทั้ง 2 ประเทศ เป็นการยอมรับร่วมกัน และมีแนวทางในการช่วยกันสร้างสันติสุขบริเวณชายแดนร่วมกันอยู่แล้ว ฉะนั้น เรื่องที่เกี่ยวพันกับมาเลเซียไม่มีมูลความจริงอย่างสิ้นเชิง

"ทางรอยเตอร์ ที่เปิดข่าวนี้ออกมาเรายังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน และทางรัฐบาลก็ไม่ได้ให้น้ำหนักกับข่าวนี้ เพราะเราถือว่าข่าวนี้เป็นข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ระบุตัวผู้ให้สัมภาษณ์ หรือให้ข่าว ฉะนั้นจึงเป็นข่าวที่ยังไม่มีความน่าเชื่อถือหรือมีมูลความจริง ส่วนจะต้องมีการทำหนังสือชี้แจงไปยังนานาชาติหรือไม่นั้น ผมคิดว่า การออกมาให้ข่าวของ พล.ต.อ.ชิดชัย และพล.อ.ธรรมรักษ์ ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ข่าวนี้ไม่มีค่าควรแก่การพิจารณา และไม่มีมูลความจริงใดๆ"

**เข็น4มาตรการช่วย 3จังหวัดใต้

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า วันนี้ (30 ส.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการในการช่วยเหลือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ที่ประชุมครม.พิจารณา โดยจะเสนอมาตรการช่วยเหลือใน 4 มาตรการ คือ 1.ช่วยเหลือทางด้านศุลกากร เช่น เขตปลอดอากร ร้านการปลอดอากร รวมทั้งเรื่องคลังสินค้าปลอดทัณฑ์บน ซึ่งจะทำให้มีนักลงทุนหันมาลงทุนใน 3 จังหวัดภาคใต้มากขึ้น 2.ช่วยเหลือเกี่ยวกับภาษีท้องถิ่น 3.ช่วยเหลือในเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ และ 4.ช่วยเหลือทางด้านการเงิน โดยในส่วนของความช่วยเหลือทางด้านการเงินนั้น จะให้ขยายมาตรการสินเชื่อผ่อนปรน (soft loan)
ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกไปอีก 1 ปี จากที่จะครบกำหนดอายุมาตรการในเดือน ก.พ.49 เนื่องจากวงเงินที่ธปท.อนุมัติที่ผ่านมาประมาณ 20,000 ล้านบาทนั้น ยังเหลืออยู่หลายพันล้านบาท และหากต้องการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือออกไปอีก ก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้แบบปีต่อปี

**ส.ว.121 เสียงผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการพิจารณา พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นวันที่สอง ซึ่งส.ว.ที่ลุกขึ้นอภิปราย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลทบทวน และยกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อุ้มฆ่าจนเกิดเหตุการณ์บานปลาย

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ส.ว.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยใช้เวลา 17 ชั่วโมงภายใน 2 วัน ในที่สุดได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยคะแนน 121 เสียง ต่อ 38 งดออกเสียง 5

**ลูกสาวเด่นร้องมอ.ห้ามคลุมผ้าฮิญาบ

วานนี้(29 ส.ค.)ในการประชุมสมัชชาแห่งชาติว่าด้วยคนไทยกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้นำหนังสือขอความเป็นธรรม กรณีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ออกระเบียบห้ามนักศึกษาพยาบาลที่นับถือศาสนาอิสลามคลุมผ้าฮิญาบตามหลักศาสนาอิสลาม รวมไปถึงห้ามใส่เสื้อแขนยาวเข้ามาเรียน โดยให้แต่งตัวชุดนักศึกษาตามปกติ ต่อนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.วัฒนธรรม

ทั้งนี้ นางอุไรวรรณ กล่าวว่า เพิ่งรับทราบเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า การอะไรทำแล้วไม่ขัดต่อหลักศาสนาไม่น่าจะมีการปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นการโพกผ้าฮิญาบหรือใส่เสื้อแขนยาวเรียนหนังสือ ไม่ใช่ปัญหาจะมาอ้างว่ากลัวสกปรก นักศึกษาอื่นๆ ที่ใส่เสื้อแขนยาวแล้วรักษาความสะอาดก็มีอยู่เยอะ ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อแขนสั้นถึงจะบอกว่าสะอาด อย่างไรก็ตาม จะนำไปหารือกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะนักศึกษาหญิงเหล่านั้นปฎิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ด้านนายประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าที่ มอ.อนุญาตให้นักศึกษามุสลิม แต่งกายโดยคลุมฮิญาบมาเรียนได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่มีบางคณะที่มีคำสั่งพิเศษ ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ แพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ที่ได้มอบหมายให้แต่ละคณะดังกล่าว พิจารณาถึงความเหมาะสมในกรณีที่นักศึกษาจะต้องปฏิบัติงานคลินิก เนื่องจากอาจเกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน แต่ไม่ได้บังคับในทุกกรณี ให้พิจารณาเพียงบางลักษณะเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น