ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธนาคารโลกคุย แก้ปัญหาความยากจนของภาคอีสาน ประสบผลสำเร็จ เหตุพัฒนาเศรษฐกิจกว่า 3 ทศวรรษ รายได้ประชากรต่อหัวสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตัว แต่เทียบกับภาคอื่นกลับล้าหลัง คนจนกว่า 60% ยังกระจุกตัวในอีสาน จีดีพีของภาคสัดส่วนเพียง 9% ของประเทศ เพราะภาคเกษตรล้มเหลว ขาดการลงทุน และพื้นฐานการศึกษาต่ำ ด้านสภาพัฒน์ ชี้เป็นข้อมูลที่สำคัญ นำไปใช้เป็นแนวทางแก้จนตั้งแต่ยุทธศาสตร์ ระดับจังหวัดถึงยุทธศาสตร์ประเทศ ให้ปัญหาความยากจนสำเร็จเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สศช.) ร่วมกับธนาคารโลก (WORLD BANK) จัดประชุมสัมมนา "โครงการพัฒนายุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาความยากจนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEED)" โดยมีนายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการสศช. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับธนาคารโลก หน่วยงานราชการและภาคเอกชนใน 19 จังหวัดภาคอีสานร่วมสัมมนาประมาณ 200 คน ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
สำหรับโครงกาพัฒนายุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาความยากจน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหาข้อเท็จจริงและแนวทางเพิ่มเติม สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนภาคอีสานต่อไป โดยธนาคารโลกให้ทุนศึกษาเกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร ข้าว และไหม การใช้จ่ายรัฐบาลกับการพัฒนาภาคอีสาน และตลาดแรงงานและการกลับเข้าสู่การศึกษา ซึ่งธนาคารโลกได้ประมวลและนำเสนอรายงานการศึกษา
Mr.Kaspar Ritcher หัวหน้าทีม ธนาคารโลก นำเสนอผลการศึกษา โครงการพัฒนายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ผลการศึกษาพบว่า ภาคอีสาน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวดเร็ว ช่วงระยะเวลา 35 ปีตั้งแต่ปี 2513-2547 อัตราการขยายรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอีสานเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวจาก 11,000 บาท ในปี 2513 เป็น 34,000 บาท ในปี 2547
จากการที่รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ส่งผลดีต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนคนยากจนในภาคอีสานลดลงจากสัดส่วนที่สูงถึง 48% ในปี 2531 เหลือสัดส่วนคนยากจนเพียง 17% ในปี 2545 คิดเป็นจำนวนคนยากจนในปี 2531 จำนวน 9 ล้านคน ลดลงเหลือเพียง 4 ล้านคนในปี 2545
อย่างไรก็ตาม แม้ผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน ในระยะที่ผ่านมา จะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เมื่อเทียบกับภาคอื่นคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลางและกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสานค่อนข้างล่าช้า นอกจากนี้ยังเป็นภาคที่มีคนจนมาก
ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีสานต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ 1% อีกทั้งสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอีสาน (GDP) เมื่อปี 2513 คิดเป็นสัดส่วน 16% ของ GDP ประเทศ และ GDP กลับลดลงเหลือเพียง 9% ของ GDP ประเทศในปี 2547 ทั้งที่ภาคอีสานมีประชากรอยู่มากที่สุดถึง 1 ใน 3 ของประเทศ
ปัญหาความยากจนยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน โดยปี 2535 มีสัดส่วนคนทุก 1 ใน 2 อยู่ในภาคอีสาน แต่ในปี 2545 ตัวเลขสัดส่วนคนจนกลับสูงถึงเป็น 3 ใน 5 ของจำนวนประชากร โดยสัดส่วนคนยากจนทั้งประเทศ จะกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานถึง 60%
ด้านนายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการสศช. เปิดเผยว่า ผลการพัฒนาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ปัญหาความยากจน ยังคงเป็นปัญหาหลักของภาคอีสาน คนยากจนทั้งหมด กว่าร้อยละ 60 กระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน อีกทั้งรายได้ของประชาชนยังต่ำกว่าภูมิภาคอื่นมาก
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภาคอีสานมีประชากรมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอีสาน หรือจีดีพีภาคอีสาน กลับมีสัดส่วนเพียง 9% ของจีดีพีทั้งประเทศ ซึ่งตามหลักความเป็นจริง จีดีพีภาคอีสานน่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในภาคอีสาน
สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสาน ล้าหลังกว่าภูมิภาคอื่น คือ ภาคการเกษตร ที่มีข้อจำกัดขาดแคลนน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติในภาคไม่อุดมสมบูรณ์ ทำให้การผลิตในภาคการเกษตรของภาคอีสาน ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ประสบปัญหาด้านราคาผลผลิต ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรมมากกว่า 80%
ประการต่อมา ระดับการศึกษาของแรงงานในภาคอีสาน อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาคอื่น ขาดศักยภาพในการดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิตเข้ามาลงทุน ทำให้ประชากรวัยแรงงานของภาคอีสาน เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปทำงาน ที่ส่วนกลาง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมในภาคอีสานตามมา
นายสมเจตน์ กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาความยากจนของภาคอีสาน จำเป็นต้องแก้ที่สาเหตุหลัก คือ ภาคการเกษตร จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรให้เกิดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตร ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย สร้างอำนาจการผลิต การต่อรองทางตลาด พร้อมกับยกระดับมาตรฐานการศึกษาประชากรในภาคอีสานให้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้น เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ค่าจ้างที่สูงกว่า พร้อมกับส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในภาคอีสาน สร้างงานและรายได้ให้มากขึ้น
จุดที่สำคัญ โครงข่ายคมนาคมทางถนนภาคอีสาน ค่อนข้างสมบูรณ์ จะเป็นจุดแข็ง ในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ภูมิภาคได้มาก จะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ภาคอีสานได้มหาศาล
นายสมเจตน์กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าว จะเป็นข้อมูลที่สำคัญ ต่อแนวทางการพัฒนาแก้ปัญหาความยากจนของภาคอีสานให้เกิดเป็นรูปธรรม ที่ปัจจุบันสภาพัฒน์ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศ ระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด จะเป็นข้อมูลสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ นำไปเป็นข้อมูลฐานในการแก้ปัญหา และพัฒนา ในลักษณะที่สอดคล้องกันทั้งประเทศ