ศูนย์ข่าวขอนแก่น-"ร้อยเอ็ดกรีน"ทุ่ม 600 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าจากแกลบ 8.8 เมกะวัตต์ ส่งขายให้กฟผ.ตลอดอายุสัญญา 21 ปี แจงการลงทุน เกิดประโยชน์ทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ ชี้การใช้พลังงานจากแกลบ ช่วยประเทศลดการนำเข้าน้ำมันเตากว่า 300 ล้านลิตร มูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ท้องถิ่นมีรายได้หมุนเวียนจากการซื้อขายแกลบ สนพ.ยกเป็นโรงงานต้นแบบ แต่ครวญต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เหตุมีคู่แข่งธุรกิจตั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงเดียวกันหลายแห่ง คาดระยะเวลาคืนทุนยาวกว่ากำหนด
นายพรศักดิ์ พรชนาธรรม ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ร้อยเอ็ดกรีน จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ร้อยเอ็ดกรีน เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน ส่วนการลงทุนที่จังหวัดร้อยเอ็ด จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล นำแกลบ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และใช้ภายในโรงงาน
ทุ่ม 600 ล้านสร้างแกลบให้เป็นไฟฟ้า
บริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2544 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 9.95 เมกะวัตต์ ใช้ภายในโรงงาน 1.15 เมกะวัตต์ เป้าหมายหลัก เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งจำหน่ายให้กับ กฟผ. 8.8 เมกะวัตต์ อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี เริ่มส่งกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2546 โดยส่งไฟฟ้าตามสายส่งเข้าสู่ระบบ ที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด
ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดมีความพร้อมด้านวัตถุดิบรองรับ คือ แกลบ เศษวัสดุที่เหลือจากการสีข้าว เนื่องจาก เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกข้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ทำให้มีโรงสีข้าวกระจายครอบคลุมอยู่ทั่วจังหวัด บริษัทจะรับซื้อแกลบตามโรงสีต่างๆในรัศมี 80 กิโลเมตร โดยต้องใช้วัตถุดิบประมาณวันละ 300 ตัน หรือประมาณ 80,000 ตัน/ปี
ผู้จัดการทั่วไปโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีนกล่าวว่า กระบวนการผลิตจากแกลบเป็นไฟฟ้า แกลบ จะถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ หม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Boiler) เกิดไอน้ำที่แรงดันและอุณหภูมิสูง นำไปเป็นพลังงานหมุนเครื่องกันหันไอน้ำ เพลาที่ต่ออยู่จะหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เกิดการเหนี่ยวนำและมีกระแสไฟฟ้าไหลออกสู่ระบบสายส่งไปสู่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด จ่ายกระแสไฟให้กับผู้ใช้ไฟต่อไป
เกิดประโยชน์ทั้งท้องถิ่นและประเทศ
ศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า 8.8 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณถึง 1/3 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตัวเมืองร้อยเอ็ด เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้ หากไม่มีโรงไฟฟ้าในพื้นที่แล้ว จะต้องส่งไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่มาถึงจังหวัด ซึ่งต้องลงทุนค่าสายส่งสูงมาก อีกทั้งยังเกิดการสูญเสียกระแสไฟฟ้า ตามสายส่งจากแหล่งผลิตมาถึงสถานีไฟฟ้า
นายพรศักดิ์กล่าวว่า ประโยชน์ในระดับประเทศสูงมาก การใช้พลังงานทางเลือกจากแกลบ จะเป็นทางออกที่ดีของการลดการสูญเสียเงินตรา นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้า หากเทียบกับการใช้น้ำมันเตา ตามศักยภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีน จะต้องใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 13.8 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 96.6 ล้านบาท ณ ระดับราคาน้ำมันเตาเมื่อปี 2544 ที่ระดับราคา 7 บาท/ลิตร
การใช้พลังงานทางเลือกจากแกลบ ยังเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในจังหวัดร้อยเอ็ด เพราะแกลบถือเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ทั้งยังก่อมลพิษฝุ่นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงสีข้าว การเข้ามาลงทุนรับซื้อแกลบ ทำให้แกลบกลายเป็นสิ่งมีค่าทันที โดยระยะเริ่มต้นเมื่อปี 2544 แกลบมีราคารับซื้ออยู่ที่ตันละ 80-100 บาท
ทั้งนี้การลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแกลบ สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ให้การสนับสนุน ตั้งแต่ริเริ่มโครงการ และวางกรอบให้เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ (Pirot Plan) เพราะ แกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น ถือเป็นพลังงานทดแทน การใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานเหล่านี้เป็นพลังงานหลักผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 70
การผลิตไฟฟ้าจากแกลบ บริษัทได้นำเทคโนโลยีชั้นสูง ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ระบบกำจัดฝุ่นแบบใช้ประจุไฟฟ้าสถิตเป็นแห่งแรกของประเทศ สามารถลดปริมาณฝุ่นจากการเผาไหม้แกลบ จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโรงงานต้นแบบ การลงทุนของโรงไฟฟ้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างสังคมที่ดีกับชุมชนรอบข้าง
"หากครบอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี ประเทศไทยจะลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณ 290 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,030 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์พลังงาน ปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว ราคาน้ำมันเตาสูงกว่า 13 บาท/ลิตร ดังนั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศ จะสามารถประหยัดเงินตรานำเข้าน้ำมันเตา น่าจะสูงกว่า 3,000 ล้านบาท"นายพรศักดิ์กล่าวและว่า
นายพรศักดิ์ กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคว่า ปัญหาของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ณ ขณะนี้ กำลังประสบปัญหา
ต้นทุนวัตถุดิบคือ แกลบ มีราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิมที่ประมาณการราคาซื้อไว้สูงสุดไม่เกิน 150 บาท/ตัน แต่ ณ ปัจจุบันราคาแกลบพุ่งขึ้นมาถึงระดับมากกว่า 300 บาท/ตัน เพราะหลังจากที่บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้กฟผ.แล้ว เกิดการตื่นตัว มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากแกลบเพิ่มทั้งในเขตภาคกลางและภาคอีสาน
โรงไฟฟ้า จะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามปริมาณที่ตกลงในสัญญาซื้อขายกับกฟผ. จึงเกิดการแข่งขันรับซื้อแกลบ และน่าจะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้กลไกราคาแกลบพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว กระทบต่อระยะเวลาการคืนทุนล่าช้ากว่ากำหนด จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 12 ปี ณ ราคารับซื้อแกลบสูงสุดไม่เกิน 150 บาท/ตัน เมื่อราคาวัตถุดิบพุ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนขยายไปด้วย
ส่วนในแง่ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของกฟผ. มีความต้องการสูง วางนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณไม่จำกัดจากผู้ผลิตรายย่อย โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานชีวมวล แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องราคาวัตถุดิบสูง และปริมาณวัตถุดิบอาจไม่เพียงพอ ต่อการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
ด้านน.ส.ชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 อุบลราชธานี (บีโอไอ) กล่าวว่า การใช้แกลบมาผลิตกระแสไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญ ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ในภาวะวิกฤตน้ำมันราคาแพง
บีโอไอ มีนโยบายให้การสนับสนุนการลงทุนในด้านพลังงานทดแทนสูง และจัดลำดับความสำคัญการส่งเสริมการลงทุนเป็นลำดับต้น ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนสูง จูงใจให้เกิดการลงทุน โดยบีโอไอ จะให้การสนับสนุนยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี และจ่ายในอัตรา 50% อีก 5 ปี ส่วนเครื่องจักรผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาใช้ผลิต จะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีนำเข้า
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน มีลู่ทางที่จะขยายการลงทุนเข้ามาในภาคอีสานมากขึ้น เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบรองรับ จากศักยภาพของภาคอีสานที่เป็นฐานเกษตรแปรรูปขนาดใหญ่ของประเทศทั้งโรงสีข้าว โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล เศษวัสดุที่เหลือจากการแปรรูปสินค้าเกษตร ล้วนนำใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ ทิศทางการพัฒนาภาคอีสาน จะเป็นศูนย์กลางลงทุนด้านพลังงานทดแทนจากพืชในอนาคต