xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐเลิกนโยบายรุกศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"วีรพงษ์ รามางกูร"แนะรัฐบาลทักษิณ คิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนนโยบายบริหารประเทศแบบตั้งรับ เน้นการสร้างเสถียรภาพมากกว่าห่วงอัตราการเติบโต ระบุภายใต้เศรษฐกิจขาลงต้องบริหารนโยบายใกล้กลไกตลาดมากที่สุด พร้อมสอนมวยแบงก์ชาติ ขึ้นดอกเบี้ยหนุนเงินบาทแข็งค่า และกู้เงินต่างประเทศระยะยาวทำโครงการเมกะโปรเจกต์ ด้าน “หม่อมอุ๋ย”รับดอกเบี้ยขึ้นแน่ ที่เหมาะสมต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยในตลาดโลก เพื่อดึงเงินต่างชาติลงทุนในไทย แต่ต้องดูจังหวะเวลาเพื่อให้ตลาดปรับตัวไม่เป็นภาระประชาชน เห็นพ้องไม่ควรจำกัดนำเข้าน้ำมัน

น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ หัวข้อ"เปิดพิมพ์เขียวรัฐบาล สตาร์ทเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสหลัง" ในงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ว่า รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายบริหารเศรษฐกิจแบบรายไตรมาส แต่มีการดำเนินตามนโยบายที่ชัดเจน ภายใต้เข็มทิศที่ได้วางไว้แล้ว คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการหารายได้จากต่างประเทศ ควบคู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือที่เรียกว่า ดรูโอแทร็ก โพลิซี

ประเทศไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่มีอยู่หลายประการ ทั้งการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และการวางรากฐานให้เกิดการพัฒนาในอนาคต เช่น การส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต การผลักดันเรื่องการส่งออก และท่องเที่ยว ซึ่งยังมีช่องว่างอยู่ การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้ฐานทางเศรษฐกิจ(เมกะโปรเจกต์)เพื่อพัฒนาภาคการผลิต ส่งเสริมการลงทุน และลดการนำเข้าพลังงานในอนาคต เป็นต้น

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคหลายๆตัวของประเทศอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ประเทศไทยที่มีการขาดดุลติดต่อกันทุกเดือนในปี 2548 นี้ หลังจากที่เกินดุลมาโดยตลอดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากมองถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆจะพบว่า หลายปัจจัยเริ่มคลี่คลายลง ขณะนี้มีเพียงปัจจัยราคาน้ำมันที่มีทีท่าจะคงระดับสูงไปอีกนาน และผลของเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย คลื่นยักษ์ “สึนามิ”ที่ยังสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชีย และนอกภูมิภาค

ขณะที่ ด้านการบริโภคและการลงทุนนั้น แม้ว่าขณะนี้ยังมีแรงเหวี่ยงอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องของการนำเข้าที่สูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการส่งออก ทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ กลายเป็นข้อจำกัดใหม่ในระยะเวลาข้างหน้า ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีข้อจำกัดในจุดนี้

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญขณะนี้ คือ รัฐบาลจะต้องสร้างความชัดเจนในหลายๆด้าน ที่ประชาชนและนักลงทุนยังมีความไม่แน่ใจ เช่น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การขึ้นราคาน้ำมันดีเซล และอัตราดอกเบี้ย เพราะความไม่ชัดเจนก่อให้เกิดความเสียหายตามมา เช่น การที่รัฐบอกว่าจะจำกัดการนำเข้า ทำให้เกิดการเร่งนำเข้าเพื่อกักตุนสินค้า และพลังงาน และควรดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจขณะนี้ ถือว่าเหมาะสม เพราะจังหวะที่ควรลงทุนไม่ใช่ช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แต่ประเด็น คือ จะต้องไม่กระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ในธนาคารแห่งประเทสไทย และธนาคารพาณิชย์

“ต้องสร้างความชัดเจน อย่างโครงการยักษ์ของรัฐบาล เช่น ถ้าขาดดุลบัญชีขนาดนี้จะมีผลต่อเงินทุนสำรองขนาดไหน มีการเตรียมเงินกู้ต่างประเทศอย่างไร ตอนนี้ประเทศไทยยังมีช่องสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ เพราะขณะนี้หนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีของไทยต่ำสุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ตั้งประเทศไทย เพียงแต่ต้องบอกมาให้ชัดเพราะเป็นสิ่งทุกคนต้องการเห็นความชัดเจน”

นายวีรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รู้สึกเป็นห่วง มี 2 เรื่อง คือ การที่ภาครัฐบอกว่ามีเข็มทิศในการดำนินนโยบายนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวหวังว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนทัศนคติในการดำเนินนโยบายเชิงรุก เป็นการดำเนินนโยบายในเชิงรับ

โดยอันดับแรก คือจะต้องยอมรับและพอใจกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ลดลง ไม่ฝืนธรรมชาติและข้อจำกัดที่มีอยู่ ซึ่งความพอใจนี้ มีความหมายลึกซึ้งมาก เนื่องจากจะเป็นตัวบอกว่า รัฐบาลจะไม่กลัวว่าหากลงทุนน้อยจะทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว หรือ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะทำให้การลงทุนลดลง

“การเปลี่ยนทัศนคตินี้ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้แพ้เกมเสมอไป อย่างทีมฟุตบอลที่แน่ๆ ก็ยังต้องเก่งในทางตั้งรับด้วย แต่รัฐบาลนี้อาจจะเก่งรุก แต่ไม่เก่งตอนตั้งรับ ความจริงหากไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เราน่าจะเป็นห่วงมากกว่าว่า ในอีก 1-2 ปี เศรษฐกิจเราจะเติบโตมากเกินไปหรือไม่”

อีกประเด็น คือ ปัจจุบันสภาพคล่องภายในประเทศมีอยู่มาก ซึ่งไม่รู้ว่าเงินบาทเหล่านี้ อยู่ในมือใครบ้าง หากอยู่ในนักเก็งกำไรต่างประเทศ ก็จะเป็นเรื่องที่อันตรายต่อแสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะขณะนี้มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงิน ประกอบกับความแตกต่างอัตราดอกเบี้ยเงินบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้การเก็งกำไรที่ไม่มีต้นทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อหรือ เงินฝืดต่อไป หากอัตราดอกเบี้ยไม่ปรับตัว

ดังนั้น ควรทำในทางตรงกันข้าม คือปล่อยให้ราคาปรับขึ้นตามความเป็นจริง และใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวถ่วงดุลไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากจนเกินไป

**"หม่อมอุ๋ย"ขอเวลาทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นไปตามภาวะตลาดที่แท้จริง เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยติดลบและต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพื่อดึงให้เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีเวลาไม่ต้องเร่งรีบ เพราะฐานะการเงินของประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่ง หาก ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปตลาดจะปรับตัวไม่ทัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยถ้าจะให้มีประโยชน์ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ดังนั้น ธปท.ขอเวลาในการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจัดการสภาพคล่องส่วนเกินในระบบและต้องไม่ให้เป็นภาระของประชาชนที่กู้เงินซื้อบ้าน

“ทิศทางดอกเบี้ยของ ธปท.ยังไม่เปลี่ยนแปลงโดยดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ฝากเงินและต้องสูงกว่าดอกเบี้ยของตลาดโลก แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับฐานะการเงินของประเทศไทยแข็งแกร่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบ”ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

**มั่นใจเศรษฐกิจครึ่งหลังโตต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งหลักของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมีสาเหตุจากการที่มองว่าผลกระทบจาก สึนามิ จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ภาวะภัยแล้งน่าจะดีขึ้นและเป็นไปตามฤดูกาล และยอดสั่งซื้อสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อว่าจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีเพียงราคาน้ำมันแพงที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ เนื่องจากปริมาณความต้องการซื้อ(ดีมานด์)สูง ขณะที่แนวโน้มการเพิ่มปริมาณการผลิตยังไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุน แม้จะในระดับที่ชะลอตัวกว่าปีก่อน ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับแล้วว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไม่มีทางขยายตัวได้เท่ากับปีก่อนอย่างแน่นอน โดยทุกสำนักงานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ว่า จีดีพีปีนี้จะโตระดับ 4-5% เท่านั้น ปัญหา คือ จะโน้มเอียงไปทางสูงหรือทางต่ำมากกว่ากัน

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นคำตอบก็คือ ปัจจัย 2-3 ประการ คือ นโยบายประหยัดพลังงานใช้ได้ผลเพียงใด ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมายังไม่เกิดผล และต้องการให้มีมาตรการประหยัดพลังงานที่ส่งผลให้เกิดการลดการนำเข้าน้ำมันได้จริงๆ และไม่ต้องการให้มีการจำกัดการนำเข้า แต่ใช้วิธีการขึ้นราคาน้ำมันที่แน่ชัด เพื่อสร้างความชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของปริมาณน้ำว่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมหรือไม่ และการลงทุนภาคเอกชนที่แม้จะมีแรงส่งแต่ที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นลดลงติดต่อกันถึง 9 เดือนแล้ว

“รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน อย่างเรื่องน้ำมัน จะต้องบอกชัดว่าน้ำมันจะเอาอย่างไร ขึ้นก็ได้แต่ให้แน่ชัด อย่าบอกว่าจะจะจำกัดนำเข้าน้ำมันและวัตถุดิบแล้วให้เอกชนมาแบ่งกันใช้”ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น