ม็อบเกษตรกรเรือนหมื่นยึดลานพระบรมรูปทรงม้า ทวงถามสัญญาความคืบหน้ากองทุนฟื้นฟูหนี้สินของเกษตรกร 3 ข้อ จี้"พินิจ"จัดประชุมคณะกรรมการใหญ่กองทุนฟื้นฟูฯพรุ่งนี้(28) และคืนอำนาจให้เลขากองทุนฯ ประกาศกร้าวไม่ได้ข้อยุติไม่กลับ ด้าน"พินิจ"เรียกแกนนำม็อบเข้าพบในทำเนียบ เผยเตรียมรับรองตั้งรักษาการเลขาธิการฯ ใน1-2 วันนี้ หลังกฤษฎีกาตีความเสร็จ 2 ฉบับ ขณะที่"แกนนำม๊อบ"ชี้ แนวคิดให้ ธ.ก.ส.บริหารหนี้แทน เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น
วันนี้(27 มิ.ย.) กลุ่มเครือข่ายหนี้สินแห่งประเทศไทย และกลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานที่มาปักหลักรอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นำโดย นายนคร ศรีวิพัฒน์ เลขาธิการสมัชชาฯ ได้นัดกันชุมนุมกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยกลุ่มเกษตรกรได้เดินทางมาจากทั่วประเทศ โดยรถบัสกว่า 50 คัน ถึงที่บริเวณลานพระบรมรูป ตั้งแต่เวลา 03.00 น. โดยมีเกษตรกรมาชุมนุมกันประมาณ 15,000 คน ซึ่งนายนคร เปิดเผยว่า จะมีการทยอยมาสมทบเรื่อยๆ จากทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องทวงถามสัญญาเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูหนี้สินของเกษตรกร ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับปากว่า ภายใน 3 เดือนจะให้การช่วยเหลือในการจัดการหนี้สินภาคประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.00น.วันเดียวกัน ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินเท้าไปสอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้ปลด นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เนื่องจากเห็นว่า นายพินิจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน และหนี้สินพร้อมเตรียมยื่นรายชื่อสมาชิกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ให้กับนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า หากไม่ได้รับคำตอบที่พอใจจะชุมนุมเรียกร้องต่อไปโดยไม่มีกำหนด
นายจรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ไม่มีกำหนดกลับ จะเรียกร้องจนกว่าจะได้รับชัยชนะ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะสั้น 3 ประการ คือ ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการใหญ่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในวันนี้ (28มิ.ย.) รวมทั้งแต่งตั้งกรรมการบริหารกองทุนให้ครบ 7คน จากที่แต่งตั้งไปแล้ว 6 คน แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการหนี้ และให้นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี คืนอำนาจให้กับเลขาธิการกองทุนฯ เนื่องจากที่ผ่านมาเข้ามาแทรกแซงการทำงาน ส่วนในระยะยาว ต้องการให้รัฐบาลทำตามสัญญาในการอนุมัติเงินซื้อหนี้เกษตรกร 380,000 ราย มูลค่า 58,000 ล้านบาท และให้มีการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร และให้แก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ มีอำนาจในการซื้อหนี้นอกระบบได้ และ กล่าวด้วยว่าการชุมนุมวันนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้น หากข้อเรียกร้องต่างๆไม่ได้รับการตอบสนอง จะมีมาตรการที่รุนแรงขึ้น โดยจะนำรถปิกอัพของเกษตรกรจำนวนหลายพันคัน ไปตามสถานที่ต่างๆ
**เตรียมจ้างธ.ก.ส.บริหารหนี้
ด้านนายพินิจ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้ส่งตัวแทนเข้าไปรับเรื่องจากผู้ชุมนุมแล้ว และที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกันวันเว้นวัน ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ปลดตนออกจากประธานกรรมการกองทุนฯนั้น ก็ยินดี เพราะอยากลาออกอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวยืนยันว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสามารถแก้ไขได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลก็แก้ไขหนี้สินของเกษตรกรอยู่หลายโครงการ เช่น หนี้ที่วงเงินต่ำกว่าแสนบาท เราก็นำเข้าโครงการพักชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) และได้ขยายวงเงินถึง 1.5 แสนบาท นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดโครงการ Special Purpose Vehicle (SPV) โดยจะนำเกษตรกรที่ยากจน หรือมีปัญหาต่างๆเข้ามาอยู่ในโครงการนี้
สำหรับเกษตรกรที่มีภาระหนี้สินจนถูกฟ้อง และถูกยึดทรัพย์ในธนาคารของรัฐและภาคเอกชนประมาณ 3,000 ราย มูลค่าหนี้กว่า 600 ล้านบาทนั้น เรากำลังเร่งแก้ปัญหา โดยอาจจะจ้าง ธ.ก.ส.เข้ามาบริหารหนี้ส่วนนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ เพราะรายละเอียดหนี้ของเกษตรกรไม่มีความชัดเจน เราไม่รู้ว่าเกษตรกรตัวจริงมีอยู่เท่าไร เราจึงต้องตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาสำรวจ เพราะเราไม่อยากจ่ายหนี้ให้กับตัวปลอม อย่างไรก็ตามการที่รัฐเข้าไปแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตอยู่ได้ โดยนำเขาเข้ามาสู่โครงการของรัฐในการฟื้นฟูอาชีพ
ผู้สื่อข่าวถามถึงเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตในโครงการนี้ นายพินิจ กล่าวว่า เรากำลังสืบหาตัวอยู่ ทั้งนี้กองทุนนี้มีปัญหาอยู่มาก และตนได้ส่งให้คณะกรรมการกฎษฎีกาตรวจสอบว่า ที่ผ่านมามีอะไรที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายบ้าง เพราะมันมีปัญหาคาราคาซังอยู่มาก ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงต้องให้สำนักงานกฎหมายของรัฐบาลเข้าไปตรวจสอบว่า การตั้งผู้รักษาการเลขาธิการที่ผ่านมา 2-3 คน ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงิน รวมถึงการเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารหนี้ด้วย หากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรียบร้อย เราก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที
"ผมพร้อมจะลาออกจากประธานฯกองทุน เพราะผมก็มีงานเยอะ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานอะไรกลับมาจากทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่ผมขอให้มีการตีความปัญหาทั้ง 12 ข้อ"นายพินิจ กล่าว
**พินิจเรียกแกนนำม็อบเข้าพบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. นายพินิจ ได้เชิญ นายนคร และแกนนำกลุ่มเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน เข้าพบที่ห้องทำงานบนตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งหลังจากหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายพินิจ ได้โอบกอดนายนคร ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
โดยนายนคร เปิดเผยว่า จากการหารือกับนายพินิจ ทราบว่าขณะนี้คณะกรรมกฤษฎีกาได้ตอบปัญหาข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ มาแล้ว 2 ข้อ จากที่นายพินิจ ส่งไป 12 ข้อ ในมาตรา 24 ว่าด้วยการแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ และเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยข้อสรุปทราบว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีนายพินิจ เป็นประธาน โดยอาจจะเป็นวันนี้ (28 มิ.ย.)หรือวันพุธที่ 30 มิ.ย.โดยจะมีวาระการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ แต่หากไม่มีการตั้งกรรมการบริหารฯ ก็จะต้องมีการรับรอง รักษาการเลขาธิการฯแทน
นายนคร กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กว่า 1,000 คน จะคงปักหลักอยู่ต่อไป แต่เกษตรกรกลุ่มอื่นจะกลับก็เป็นสิทธิของเขา แต่เรามีพันธะสัญญาในเรื่องการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินเกษตรกร ตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัญญาไว้ อย่างไรก็ตาม ที่นายพินิจ ระบุว่า จะให้ ธ.ก.ส.มาบริหารหนี้แทนนั้น เป็นคนละเรื่องกันเลย
แหล่งข่าวใกล้ชิด นายพินิจ กล่าวว่า เชื่อว่าท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุม จะลดน้อยลงใน 1-2 วันนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม เครือข่ายหนี้สินแห่งประเทศไทย ที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับนายนคร ซึ่งเดินทางมาโดยรถบัสกว่า 50 คัน เชื่อว่ากลุ่มนี้จะสลายตัวไป แม้ทั้ง 2 กลุ่มจะมีปัญหาเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูเช่นเดียวกัน แต่ในเรื่องอื่น ๆไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งบางกลุ่มก็เป็นพวกที่มาเพื่อเรื่องการเมือง
นายรณชิต ทุ่มโมง แกนนำกลุ่มเกษตรกรายย่อยภาคอีสาน กล่าวถึงกรณีที่ นายพินิจ ออกมาระบุในกรณีการแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องรอให้กฤษฎีกาตีความวินิจฉัยก่อน ว่า หลักกฤษฎีกา ที่ผ่านมา นายพินิจ สามารถเรียกกฤษฎีกามาชี้แจงก่อนก็ได้
เพราะกฤษฎีกาไม่ใช่ศาล จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ นายพินิจมีอคติในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จึงไม่ยอมประชุมเพื่อแต่งตั้งกรรมการบริหาร
ตอนนี้กองทุนมีเงิน 700 ล้านบาท สามารถดำเนินการแก้ไขครอบครัวเกษตรกร ได้ 8 พันกว่าครอบครัว นายพินิจ
มีเบื้องหลังที่คนของเขาไปลงชิงตำแหน่งรองเลขาฯกองทุนฟื้นฟูแพ้ เขาไม่ได้รับการแต่งตั้ง จึงไปร้องเรียนกฤษฎีกา
นายรณชิต กล่าวถึงเรื่องที่นายพินิจ จะให้ ธ.ก.ส.เข้ามาดำเนินการหนี้ของเกษตรกร ว่า เป็นการเลี่ยงบาลี เบี่ยงเบนประเด็น
ในตอนนี้กองทุนมีเงินพร้อมที่จะช่วยเหลือเกษตรกร และมีกองทุนสำรองถึง 1 พันล้านบาท จะให้ ธ.ก.ส.เข้ามามันเป็นคนละเรื่องกัน การแก้ไขของกองทุนฯจะทำหนี้ร้อนของเกษตรกรมาเป็นหนี้เย็น เสียดอกเบี้ยแค่ 1 บาท และเกษตรกรจะเป็นคนทำแผนเองทั้งหมด ธกส.เองค่าบริการสูง ถ้าเกษตรกรส่งเงินไม่ได้ ก็จะต้องมีการปรับดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อ ปี ไม่ได้มีการประกันราคาพืชผลว่าเกษตรกรจะสามารถหาเงินได้ นโยบายของรัฐ คือการเพิ่มหนี้ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสสูญเสียที่ทำกินสูงขึ้น
"การเที่ยวกล่าวหาว่าคนโน้น คนนี้เป็นเหลือบ ถือเป็นการใช้เครื่องมือของรัฐในการโพนทะนา ทำลายเกษตรกที่เป็นเกษตรกรตัวจริงที่อยู่ในชุมชน นายกฯ เป็นคนทำสัญญากับเกษตรกรเมื่อวันที่ 8 พ.ย.47 ต่อหน้าเกษตรกรกว่า 5 หมื่นคน
มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ นายกฯอย่าลืมคำพูด กองทุนฯ ถือเป็นเส้นทางการแก้ไขปัญหหนี้สินของเกษตรกร ไม่ใช่เส้นทางคือ ธ.ก.ส. หรืออื่นๆที่รัฐบาลยัดเยียดให้เกษตรกร"นายรณชิต กล่าว
คลิกที่นี่ เพื่อฟังเสียง นายชรินทร์ ดวงดารา ตัวแทนเครือข่ายหนี้สินชาวนา และ นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 19.00 น. กับ สำราญ รอดเพชร และมนตรี จอมพันธ์ ในรายการ เกาะติดสถานการณ์ ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน FM 97.75 MHz www.managerradio.com