xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์วางกรอบพัฒนากลุ่มจว.อีสาน เน้นเชื่อมโยง-สอดคล้องยุทธศาสตร์ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สภาพัฒน์อีสาน วางยุทธศาสตร์พัฒนาระดับพื้นที่ภาคอีสาน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสต์ภาคและประเทศ ชูมุกดาหาร-หนองคาย เป็นประตูเชื่อมการค้ากับประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนอีสานกลาง วางขอนแก่นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ด้านอีสานใต้ ยกเมืองโคราช เป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมหลักของภาค ขณะที่กลไกปฏิบัติต้องดึงภาคีทุกส่วนร่วมปฏิบัติ ผันงบผู้ว่าฯซีอีโอ แปลงแผนให้เป็นจริง ชี้ประโยชน์เกิดทิศทางพัฒนาที่ชัดเจน และมีความเชื่อมโยง ไม่ทับซ้อนระหว่างจังหวัดเหมือนในอดีต

นายเดชา วาณิชวโรตม์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลจากการจัดสัมมนาประเมินผลการพัฒนาภาคอีสาน ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้สภาพัฒน์ภาคอีสานได้ข้อเสนอ ที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคอีสาน

จากการสัมมนา ทำให้สภาพัฒน์ปรับยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสานใหม่ จาก 5 ยุทธศาสตร์ เป็น 6 ยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และกรอบยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ระยะ 4 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการพัฒนาที่ครอบคลุมในทุกมิติ

ยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสาน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับฐานการผลิตหลักของภาค , ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขยายฐานอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนของภาค ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างโอกาสและศักยภาพให้คนจน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาคนและสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน

ชูแผนพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด

ขณะเดียวกันกรอบการพัฒนาในระดับพื้นที่ เป็นประเด็นที่หารือและได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ โดยการพัฒนาในระดับพื้นที่ จะคำนึงถึงศักยภาพของจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน นำจุดอ่อน จุดแข็ง ในพื้นที่มาพิจารณา กำหนดเป็นกรอบการพัฒนาระดับพื้นที่

พื้นที่อีสานตอนบน กำหนดให้จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอินโดจีน (สปป.ลาว และจีนตอนใต้) เนื่องจากมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 1 ที่จังหวัดหนองคาย เป็นจุดเชื่อมที่มีประสิทธิภาพ ต่อการพัฒนาด้านการค้า การท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างเหมาะสม

"พื้นที่อีสานตอนบน ด้านทิศตะวันออก ที่จังหวัดมุกดาหารจะเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ในปีหน้า จะเสริมศักยภาพการพัฒนาเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว กับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (สะหวันนะเขต สปป.ลาว และเวียดนาม) ควบคู่ไปกับจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหาร เป็นจุดผ่านของเส้นทางเศรษฐกิจสาย EWC (East-West Economic Corridoor) เชื่อมเศรษฐกิจจากอินเดีย พม่า ไทย ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขง ไปสู่ลาว เวียดนาม และส่งสินค้าออกทางเรือที่ท่าเรือดานัง ของเวียดนาม"นายเดชากล่าวและว่า

ในอนาคต โครงข่ายถนนจากแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านสุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร จะขยายเป็นถนน 4 เลน ทำให้สะดวกต่อการคมนาคมขนส่งสินค้า ไปค้าขายกับประเทศเพื่อน ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ และสกลนคร จะพัฒนาเป็นฐานผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป อีกทั้งกำหนดให้เป็นศูนย์การศึกษาบริเวณตอนบนของภาคอีสานด้วย

อีสานตอนกลาง วางกรอบพัฒนาให้จังหวัดขอนแก่น เป็นฐานเศรษฐกิจหลักของภาค โดยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ ศูนย์กลางการค้า การบริการ การขนส่ง และที่สำคัญเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนของภาค จังหวัดรอบข้างที่อยู่ในโซนของทุ่งกุลาร้องไห้ พัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ อาทิ ปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก

สำหรับอีสานตอนล่าง ด้านทิศตะวันตก มีจังหวัดนครราชสีมา เป็นประตูเข้าสู่ภาคอีสาน กำหนดให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม การค้าและการขนส่ง เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร โดยมีจังหวัดชัยภูมิ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนอีสานล่างด้านตะวันออก พัฒนาให้จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว ตอนล่างและกัมพูชาตอนบน

ตามกรอบการพัฒนาในระดับพื้นที่ จะยึดโครงสร้างจากยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสาน และเป็นไปตามแผนพัฒนาฉบับที่ 10 เกิดความชัดเจนในทิศทางการพัฒนาในอนาคต ผลการพัฒนาจะทำให้ระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่จังหวัดอีสานทางตอนเหนือ สู่ตอนล่างของภาคอีสาน แต่ละจังหวัดจะรู้ถึงศักยภาพของตนเอง พัฒนาไปตามศักยภาพ ไม่เกิดการพัฒนาที่ทับซ้อนกันระหว่างกลุ่มจังหวัดและจังหวัด เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอดีต

ดึงทุกภาคีร่วมปฏิบัติ
วางกรอบใช้เงินผู้ว่าฯซีอีโอ

นายเดชา กล่าวถึงการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติว่า จะต้องบูรณาการ การทำงานของภาคีเพื่อการพัฒนาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ โดยภาครัฐ กำหนดนโยบาย ให้ข้อมูล ส่งเสริม ประสานงาน แก้ไขและผลักดันไปสู่การปฏิบัติ ภาคการเมือง ผลักดันแผนงานโครงการ กิจกรรม งบประมาณที่ตอบสนองความต้องการ ขณะที่ภาคเอกชน รวมกลุ่ม สะท้อนปัญหา ให้ข้อเสนอแนะ ให้ความร่วมมือมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ด้านภาคประชาชน/NGOs/สภาที่ปรึกษาฯ มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ให้ข้อเสนอแนะ ติดตามและกำกับตรวจสอบ มีนักวิชาการสนับสนุน ให้ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ ร่วมปฏิบัติ ติดตามประเมินผล ส่วนองค์กรอิสระ ร่วมติดตามและตรวจสอบ และมีสื่อมวลชน ช่วยประชาสัมพันธ์ ติดตามและตรวจสอบ

ส่วนงบประมาณที่จะมาดำเนินการ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จะอาศัยงบประมาณจากผู้ว่าฯซีอีโอ เป็นงบประมาณหลัก ที่ได้รับการจัดสรรเข้าสู่พื้นที่ ตามจำนวนประชากร โดยแต่ละจังหวัดจะยึดกรอบการพัฒนาภาคอีสาน กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับจังหวัด ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับภาคและระดับประเทศ

ขณะเดียวกัน จะมีงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่จะถูกจัดสรรเข้ามาในภาคอีสาน เพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ของหน่วยงานต่างๆ ที่กำหนดไว้ให้บรรลุเป้าหมาย อาทิ การขยายโครงข่ายเส้นทางคมนาคม ถนนสายหลักต่างๆ จะใช้งบประมาณของกระทรวงคมนาคม มาขยายเป็นถนน 4 เลน
กำลังโหลดความคิดเห็น