xs
xsm
sm
md
lg

ชี้"ทักษิณ"คล้าย"ยุคสฤษดิ์"ใช้ระบบอุปภัมภ์ซื้อใจชนบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์คอร์แนลล์ ชี้ยุคเผด็จการสฤษดิ์ กับยุคนายกฯทักษิณ คล้ายกันในการบริหารแบบกระจายระบบพ่อคุณอุปถัมภ์ ซื้อใจคนชนบท ระบุ "ทักษิณ" พยายามทำตัวแบบ โทนี แบร์ และ คลินตัน แต่กลับเหมือน "จอร์จ บุช"ถ้าพูดโดยไม่มีโพยมักไม่รู้เรื่องแถมก่อปัญหาตลอด "วีระ" เผยยุคปัจจุบันใช้อำนาจนิยมแบบสีเทา

วานนี้ (16 พ.ค.) ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ าการเมืองไทยในระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ำ ของ ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คอร์แนลล์ สหรัฐอเมริกา

ศ.ดร.ทักษ์ กล่าวปฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า หากเปรียบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตนคิดว่าเปรียบกันไม่ได้ แต่ก็มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน เพราะในสมัยจอมพลสฤษดิ์ อำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ เพียง 20 มาตรา และใช้มากที่สุดคือมาตราที่ 17 คือเป็นอำนาจสูงสุด เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่ผู้นำ ขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีมากถึง 300 กว่ามาตรา แต่มีลักษณะที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

"สมัยจอมพลสฤษดิ์ ใช้มาตรา 17 มากมีการสั่งจับนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนที่ไม่เห็นด้วย โดยมักพูดเสมอว่า "ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" แต่ผู้นำคนปัจจุบันมักพูดว่า "ข้าพเจ้ารู้แต่ผู้เดียว"

ศ.ดร.ทักษ์ กล่าวว่า ระบบการเมืองไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ผู้แทนมาจาก การใช้อำนาจแต่งตั้งซึ่งไม่ต่างจาก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อในปัจจุบัน มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคเป็นระบบรัฐอุปถัมภ์ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดีแก่หมู่บ้านชนบท เป็นการกระจายระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ไม่ต่างจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จอมพลสฤษดิ์ มีปรัชญาการเมืองโดยเชื่อระบบการปกครองแบบไทยโบราณ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ มักจะอ้างตำราฝรั่งแบบผิดๆ ถูกๆ โดยเฉพาะหนังสือ 109 เล่มที่แนะนำให้ ครม.และประชาชนอ่านนั้น มีเพียง 4 เล่มที่เป็นภาษาไทย

"คุณทักษิณ พยายามทำตัวแบบโทนี แบร์ และคลินตัน ที่เป็นนักการเมืองสมัยใหม่ที่พูดเก่ง แต่ทักษิณกลับเหมือน จอร์จ บุช คือ ถ้าพูดตามโพยจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าให้พูดเองมักจะพูดไม่รู้เรื่องและจะเกิดปัญหาตามมาในหลายๆ ครั้ง เช่น กรณี โจรกระจอก ที่เปลี่ยนมาเป็นผู้ที่ไม่หวังดี หลังจากเปลี่ยนมาครั้งหนึ่งเป็นผู้หลงผิด ถ้าเป็นเผด็จการจริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดเก่ง มาตรา 17 เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไม่ใช่การฆ่าตัดตอน"

ด้านนายวีระ ธีระภัทร์ นักจัดรายการคลื่นเศรษฐกิจ กล่าวถึงหัวข้อ "มรดกลัทธิสฤษดิ์นิยมกับการเมืองไทยยุคปัจจุบัน" ว่า มรดกทางการเมืองที่ตกทอดจากยุค จอมพลสฤษดิ์ ได้หมดไปตั้งแต่ปี 2540 ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรากฐาน ทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ไปทำลายรากฐานของจอมพลสฤษดิ์โดยสิ้นเชิง ทำให้การสะสมทุนของกลุ่มทุนต่างๆ ที่สืบทอดมาจากยุคจอมพลสฤษดิ์ได้ทยอยล้มหายไปจากสังคมไทย ทุกคนเริ่มนับจากศูนย์กันใหม่ แต่มีกลุ่มทุนหนึ่งที่สามารถอยู่รอดได้ คือ ธุรกิจโทรคมนาคม การเมืองในปัจจุบันถ้าตัด พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยไป ความเป็นจริงก็ยังมีการใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอีก โดยสามารถใช้อำนาจ นี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จหลังจากการเลือกตั้งแล้ว

นายวีระ กล่าวว่า การใช้อำนาจนิยมในปัจจุบันเป็นแบบสีเทา ไม่ชัดเหมือนยุค จอมพลสฤษฎิ์ โดยไม่ได้ใช้กฎหมายแทรกแซงสื่อโดยตรง แต่ทำให้สื่อรู้สึกตัวเองว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา จนในที่สุดสื่อต้องยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง จึงเรียกว่าสื่อถูก พ.ต.ท.ทักษิณครอบงำไม่ได้ ลักษณะแบบนี้เรียกว่าเป็นการกระทำแบบสีเทาๆ

"ผมประหลาดใจว่า สังคมมักจะมีเรื่องไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นเสมอ คือ การที่ครอบครัวหนี่งสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินในปริมาณที่มากขนาดนี้ได้อย่างไร ทำไมสังคมจึงเปิดช่องให้มีการควบแน่นทรัพย์สินได้มากขนาดนี้ ทุกวันนี้ก็ยังหาเหตุผลที่ถูกใจมาตอบคำถามตัวเองไม่ได้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำนำในหนังสือของ ศ.ดร.ทักษ์ ที่เขียนขึ้นใหม่สำรับการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ขณะที่ระบบการเมืองได้แผ่ขยายไปยังกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆ นั้น ความเป็นศูนย์กลางของกองทัพและบางทีในท้ายสุด ก็คือ ความเป็นศูนย์กลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะเจือจางลง และแปรเปลี่ยนไป ดังที่เราได้เห็นแล้วว่าโครงสร้างใหม่ของแบบแผนประชาธิปไตยไทยอีกอันหนึ่งนั้น ความเป็นไปได้ของการปรากฏขึ้นมาของดาวทางการเมืองดวงใหม่ ผู้ซึ่งแสดงให้เห็น ถึงลักษณะบางประการของการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ที่ประสบความสำเร็จแห่งอดีต

แต่ผู้นำดังกล่าวที่กำลังปรากฏขึ้นมาบวกกับความอวดดีที่โน้มเอียงไปในทางระรานนั้นก็ดูจะเข้าคู่กับพรสวรรค์ของเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งสามารถรู้สึกได้ว่าระบบใหม่นี้กำลังก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งไม่ดีเพราะปราศจากความขัดแย้งก็อาจไม่มีปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวใดๆ

ผู้เขียนกำลังเฝ้าสังเกตอย่างกระตือรือร้นต่อฉากถัดไปของการเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองใหม่ในประชาธิปไตยไทย และยังสงสัยว่าประชาธิปไตยไทยจะโน้มเอียง โดยธรรมชาติไปยังการผูกขาดทางอำนาจหรือไม่ เราเคยได้ผ่านพบกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบเผด็จการทหาร ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือเผด็จการของคะแนนเสียงจากชนบท และเผด็จการรัฐสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบซีอีโอสามรถเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เท่ากับ "ข้าหลวงต่างหูต่างตา"ดังในอดีตที่เป็นที่ชื่นชอบของ จอมพลสฤษดิ์ ได้หรือไม่

ทักษิโณมิคส์จะนำไปสู่การเปลี่ยนย้ายกรอบฐานทางความคิดที่สำคัญที่มีค่า เท่ากับการบูรณาของจอมพลสฤษฎิ์ได้หรือไม่ และเราจะต้องถกเถียงถึงประสิทธิผล ของเผด็จการพรรคเดียว ของนายกฯซีอีโออีกนานแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้คณะผู้จัดทำได้ทำการแปลมาจาก เรื่อง Thailand : The politics of Despotic Paternalism หรือในชื่อภาษาไทย"การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ"
กำลังโหลดความคิดเห็น