xs
xsm
sm
md
lg

2 หมู่บ้านเมืองแพร่ผจญวิกฤตฝนเหลือง "กำมะถัน-ซัลเฟอร์ฯ-คาร์บอนฯ"คลุมเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่
รายงาน


"ผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างฝนเหลือง ที่เก็บตัวอย่างจากบ้านแม่ปานหมู่ 3 และหมู่ 6 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 10 เชียงใหม่ตรวจสอบ ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ฝนเหลือง ที่ตกบริเวณบ้านแม่ปานตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2548 มีกำมะถัน - ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ เจือปนอยู่ด้วย" นายชาญชัย อินจินดา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ กล่าว

นายแพทย์ปรีดา ดีสุวรรณ สาธารณสุขจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ขณะนี้บอกได้แต่เพียงว่า การเกิดฝนเหลืองเป็นผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ซึ่งสารปนเปื้อนในน้ำฝนทั้ง 3 ชนิด มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตโดยตรง

ประเด็นปัญหาเรื่อง "ฝนเหลือง" ที่บ้านแม่ปาน หมู่ 3 และหมู่ 6 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ ที่มีชาวบ้านอาศัยมากกว่า 300 หลังคาเรือน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาประมาณ 04-06.00 น.ของทุกวันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2548 รวมระยะเวลาร่วม 1 เดือนเต็ม ๆ

ปรากฏการณ์ดังกล่าว นอกจากจะสร้างความตื่นกลัวให้กับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านที่อาศัยในชุมชน หลายรายเริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ - คนในชุมชนไม่กล้านำพืชผัก - ผลไม้ ที่ถูกฝนเหลืองตกใส่มารับประทาน เป็นต้น

เมื่อตรวจสอบไปถึงต้นเหตุ หรือที่มาของสารปนเปื้อนทั้ง 3 ชนิด เบื้องต้นพบว่า

1.กำมะถัน ที่ปนเปื้อนในน้ำฝน น่าจะมาจากการกระบวนการผลิตตะเกียบจากไม้ไผ่ ที่ต้องใช้กำมะถันในการอบฆ่าเชื้อรา ซึ่งบริเวณ 2 หมู่บ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในบริเวณบ้านแม่ปาน มีโรงงานทำไม้ตะเกียบมากถึง 13 แห่ง ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระบวนการของโรงงานจะนำไม้จากป่าที่ตัดอย่างผิดกฎหมาย ลำเลียงมาสู่โรงงานและโรงงานแปรรูปไม้เหล่านี้ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นตามขั้นตอนของกฎหมาย

แต่เป็นการอนุโลมจากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในอดีต ที่เปิดโอกาสให้ดำเนินการได้เพื่อสร้างงานขึ้นในชุมชน ในเวลากลางวันพนักงานจะช่วยกันตัดไม้ไผ่ให้ได้ความยาวพอดี แล้วผ่าออกเป็น 2 ซีกจากนั้นนำเข้าเครื่องแปรรูปออกมาเป็นไม้ตะเกียบและไม้เสียบลูกชิ้น บางรายพัฒนาให้เป็นไม้จิ้มฟัน ไม้ไผ่ที่แปรรูปแล้วจะถูกนำมาตากแดดจนแห้งประมาณ 2 รอบ จากนั้นจะต้องฆ่าเชื้อราด้วยการนำเข้าอบกำมะถัน

การอบกำมะถันจะดำเนินการในเวลากลางคืน โดยบรรจุผลิตภัณฑ์ลงในถังที่มีการทำให้กำมะถันกลายเป็นสารระเหยไว้ที่ก้นถังเมื่อบรรจุไม้ลงไปจนเต็มจึงปล่อยให้มีการลมไอระเหยกำมะถันตลอดทั้งคืน กำมะถันที่อบไม้ไม่มีควันแต่ก็ฟุ้งกระจายไปทั่วหมู่บ้าน รับรู้ได้จากกลิ่นเหม็นที่ฟุ้งไปทั่วพื้นที่โรงงานตั้งอยู่

ขณะเดียวกันตั้งแต่เวลา 19.00 น.จนถึงเช้าของทุกวัน โรงงานจะนำเอาข้อไม้ไผ่ที่ติดออกนำมาเผาถ่านเพื่อเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง การเผาถ่านใช้ถัง 200 ลิตรเช่นกัน เมื่อไฟติดก็จะลุกคุกรุ่นอยู่ในถังมีควันพวยพุ่งออกมาตลอดเวลา การเผาถ่านจะเสร็จสิ้นลงเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.ของทุกวัน

2. คาร์บอนมอนอกไซด์ เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั่วไป และ 3.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ น่าจะมีต้นเหตุมาจากการเผาไหม้ของถ่านหินลิกไนต์

ในประเด็นของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ปนเปื้อนในน้ำฝนนี้ ความสงสัยพุ่งตรงไปที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า และเคยเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2535 ซึ่งพื้นที่ อ.ลอง อยู่ไม่ห่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตรเท่านั้น

โดยเมื่อคราวที่เกิดวิกฤตฝนเหลืองแม่เมาะปี 2535 พื้นที่อ.ลองก็ประสบกับวิกฤตการณ์เช่นเดียวกับพื้นที่แม่เมาะมาแล้ว (วิกฤตฝนเหลืองแม่เมาะคราวนั้น ทำให้ กฟผ.ต้องทุ่มงบประมาณนับหมื่นล้านในการติดตั้งเครื่องดักสารซัลเฟอร์ฯ เหนือปล่องควันโรงไฟฟ้าทุกโรง ยกเว้นโรง 1-3 ที่เป็นโรงไฟฟ้าเก่าที่จะเดินเครื่องจักรเป็นครั้งคราวเท่านั้น)

นายนา ใจนาน ชาวบ้านแม่ปานหมู่ 3 ที่มีบ้านตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตตะเกียบ กล่าวว่า เขาและคนในครอบครัวต้องทนสูดควันจากการเผาถ่านและไอกำมะถัน ที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงงานตะเกียบมานานกว่า 2 ปีแล้ว จนเกิดอาการผิดปกติในร่างกาย เกิดอาการอ่อนเพลีย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่มีควัน - ไอกำมะถันปกคลุมอยู่เหนือหมู่บ้านหนาแน่น ที่ผ่านมาเขาเคยขอร้องเจ้าของโรงงานบริเวณใกล้บ้านช่วยหยุดการดำเนินงานในช่วงกลางคืน เพื่อลดปริมาณควันพิษลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2548 เขาถึงกับล้มป่วยลง เพราะเกิดอาการหายใจไม่ทัน มีอาการเหนื่อยหอบ ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า เขาป่วยเป็นโรคหอบหืดและให้กลับมารักษาตัวที่บ้านต่อไป

ทั้งนี้ไม่ได้มีเพียงกรณีของนายนา ใจนาน ชาวบ้านแม่ปานหมู่ 3 เท่านั้น ยังมีรายงานด้วยว่า อาการป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เริ่มเกิดกับชาวบ้านในชุมชนนี้มากขึ้น และพบว่ามีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 5 ราย บางรายไม่กล้าร้องเรียน และยังไม่ยอมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีหน่วยงาน - องค์กรใด ๆ เข้ามาแก้ไข แม้ว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสามารถนำมาแก้ไขได้ ทั้งด้านสุขอนามัย - การขออนุญาตตั้งโรงงาน เพื่อควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่มีการปฏิบัติ หรือบังคับใช้แต่อย่างใด

"โรงไฟฟ้าแม่เมาะ"ตัวการฝนเหลือง10 ปีที่แล้ว

ปรากฏการณ์ "ฝนเหลือง" ที่บ้านแม่ปาน หมู่ 3 และหมู่ 6 ที่เกิดขึ้น เคยเกิดขึ้นที่ อ.ลอง จ.แพร่ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คราวนั้นมีต้นเหตุมาจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่อยู่ไม่ห่างจากเขต อ.ลอง มากนัก ส่วนเหตุการณ์ครั้งนี้ชาวบ้านในหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 6 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ กว่า 300 หลังคาเรือน พบว่ามีฝนตกในช่วงเช้าตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 - 06.00 น.ของทุกวันตกติดต่อกันตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2548

โดยฝนที่ตกลงมามีลักษณะผิดปกติอย่างชัดเจน จากเดิมก่อนหน้านี้เคยเป็นหยดน้ำบริสุทธิ์ใสสะอาดสามารถนำมาใช้ดื่มกินได้ แต่คราวนี้กลับมีสีเหลืองขุ่นข้นคล้ายสีพลาสติก และเมื่อตกใส่ผืนดิน ใบไม้ ผักพื้นบ้าน ตลอดจนหลังคาบ้าน ได้ทิ้งคราบสีเหลืองไว้ทั่ว จนทำให้ชาวบ้านแตกตื่นทั้ง 2 หมู่บ้าน

ปรากฏการณ์ฝนเหลืองในบ้านแม่ปาน สร้างความหวั่นวิตกต่อคนในชุมชนค่อนข้างสูง ยามเช้าของทุกวันอากาศที่เคยปลอดโปร่ง มาวันนี้ชาวบ้านไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะกลัวจะถูกฝนเหลืองแปดเปื้อน รถยนต์และเสื้อผ้าต้องนำเก็บเข้าไว้ในชายคา ผักที่ปลูกไว้รับประทานในครัวเรือนไม่สามารถนำเก็บมาบริโภคได้อีกต่อไป

เหตุการณ์ดังกล่าวมีชาวบ้านพยายามจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยหาสาเหตุ เช่นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน รวมทั้ง อบต.และผู้ใหญ่บ้านกำนัน แต่ปัญหาดังกล่าวกลับไม่ได้รับการคลี่คลาย เนื่องจากผู้ประกอบการก็คือผู้มีอันจะกินในท้องถิ่น ทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบแต่เจ้าหน้าที่ระดับตำบลก็มิกล้าแตะต้อง

ปัญหาดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันในชุมชน แต่ไม่สามารถจัดการได้เนื่องจากเกรงกลัวอำนาจของผู้ประกอบการ

จนกระทั่งสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที เมื่อนายแพทย์ปรีดา ดีสุวรรณ สาธารณสุขจังหวัดแพร่ทราบเรื่อง จึงได้สั่งการให้มีการตรวจสอบปรากฏการณ์ฝนเหลือง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 โดยได้เข้าไปสำรวจสภาพทั่วไปของชุมชนและเก็บตัวอย่างฝนเหลือง ที่ได้ตามใบไม้และหลังคาบ้านไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เขต 10 จ.เชียงใหม่ และได้ผลสรุปพบว่า ต้นเหตุของฝนเหลือง ที่อ.ลอง จ.แพร่วันนี้ เกิดจาก"กำมะถัน-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ "ที่ปกคลุมหมู่บ้านมายาวนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น