xs
xsm
sm
md
lg

ค้านแก้รธน.ให้วุฒิสังกัดพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.เบรกส.ว.อย่าด่วนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สังกัดพรรคการเมือง เพราะเพิ่งมีวุฒิสภาชุดแรก ควรศึกษาให้ละเอียด ชี้หากสังกัดพรรคอาจวางตัวไม่เป็นกลาง ส่วนส.ว.รับเงินพรรคการเมืองเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่ใช่ปัญหาขององค์กร

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีส.ว.บางคนเสนอในการสัมมนาที่จังหวัดเชียงราย ว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.สังกัดพรรคการเมือง เพื่อแก้ปัญหาความคลางแคลงใจเรื่องความเป็นกลาง ว่า ความจริงจะต้องย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของวุฒิสภานั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร เพราะจะเกี่ยวเนื่องตั้งแต่เรื่องที่มา อำนาจหน้าที่ที่วุฒิสภาปฏิบัติในฐานะที่เป็นองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นก่อนจะพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ก็ควรที่จะให้มีการศึกษาผลของการทำงานของวุฒิสภาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาก่อน เพราะการแก้ไขในครั้งนี้จะกลายเป็นการแก้ไขเฉพาะเรื่อง และอาจจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอำนาจหน้าที่เรื่องอื่นได้

“การที่จะแก้ไขให้วุฒิสภาสังกัดพรรคการเมืองนั้น ต้องกลับไปดูเรื่องอำนาจหน้าที่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะไปด่วนตัดสินใจในช่วงระยะเวลานี้ ผมเห็นว่ายังไม่เหมาะ เพราะเห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษากันก่อน เนื่องจากวุฒิสภาเพิ่งจะมีการเลือกตั้งกันครั้งแรก และยังไม่ครบวาระของวุฒิสภาชุดแรกด้วยซ้ำ ดังนั้นผมเห็นว่ายังไม่มีการศึกษากันอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอที่จะมีเหตุผลที่จะไปแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องส.ว. และการแก้ไขครั้งนี้จะกลายเป็นการแก้ไขเฉพาะเรื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่อื่น เช่น อำนาจหน้าที่ในการเลือกสรรคณะกรรมการขององค์กรอิสระต่างๆ หากไปสังกัดพรรคการเมือง จะทำให้สูญเสียความเป็นกลางก็เป็นได้ จริงอยู่ในข้อเท็จจริงอาจจะเป็นที่ทราบกันว่า ส.ว.กลุ่มไหน สังกัดในส่วนใด แต่นั่นเป็นเรื่องในเชิงพฤตินัย ซึ่งกรอบของรัฐธรรมนูญพยายามกำกับให้มีความเป็นกลางอยู่ แต่เรื่องนั้นอาจจะเป็นไปได้ในเรื่องของตัวบุคคล แต่การจะให้องค์กรไปสังกัดพรรคการเมืองนั้น ผมคิดว่าอาจจะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดกว่านี้”นายสาทิตย์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ ส.ว.สุพรรณบุรีระบุว่ามี ส.ว.บางคนรับเงินจากพรรคการเมืองนั้น นายสาทิตย์ กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นปัญหาภายในองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่า ดังนั้นหากเป็นปัญหาตัวบุคคล ก็จะมีกระบวนการเข้าไปจัดการภายในขององค์กรนั้นๆ อยู่แล้ว เช่นอาจจะยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการจริยธรรม หรืออาจจะถึงขั้นถอดถอนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในองค์กรที่จะสะสางกันเอง แต่ไม่ควรที่จะสรุปว่าสิ่งนี้คือปัญหาหลักขององค์กร แล้วเป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น