xs
xsm
sm
md
lg

พลิกดิน3จังหวัดใต้ปลูกผักปลอดสารพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ที่มีปัญหาจนแทบจะมีข่าวเป็นรายวัน ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลเองได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการช่วยเหลือในด้านต่างๆ แล้ว โครงการด้านเกษตรถือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ
ทั้ง 3 จังหวัดมีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 6.8 ล้านไร่ พื้นที่ 3 ใน 4 หรือประมาณ 4 ล้านไร่เป็นพื้นที่เกษตร โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกยางพารา 2.2 ล้านไร่ ข้าว 0.5 ล้านไร่ ลองกอง 0.13 ล้านไร่และพืชอื่นๆ 1.17 ล้านไร่
ปัญหาของเกษตรกรใน 3 จังหวัด คือประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำและมีมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตการเกษตรน้อย ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะที่ยากจน โดยมีคนจนสูงกว่าระดับประเทศถึง 3 เท่า เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางวิชาการของภาครัฐได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตนเองได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่สามารถทำให้ผลผลิตสูงและต้นทุนต่ำได้
ขณะที่ประชากรที่อยู่ประมาณ 1.5 ล้านคนนั้น รับประทานผักเป็นจำนวนมาก แต่กลับปลูกผักในพื้นที่ได้น้อย จึงต้องนำเข้าผักเกือบทั้งหมดจากพื้นที่ภาคกลาง ทำให้ราคาสูงขึ้น ทั้งๆ ที่พื้นที่ของทั้ง 3 จังหวัดมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการปลูกผัก และพัฒนาเป็นแหล่งผลิตผักเศรษฐกิจที่สำคัญได้ไม่ยาก
ขณะเดียวกัน จากตัวเลขในปี 2546 ไทยส่งออกผักราว 15 ชนิดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซียและสิงคโปร์จำนวนกว่า 26,000 ตัน มีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท เพราะทั้ง 2 ประเทศมีพื้นที่จำกัดในการเพาะปลูกผัก และค่าแรงที่สูงมาก ทำให้อัตราการนำเข้าของไทยสูงขึ้นทุกปี
นั่นจึงทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดให้เป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกผักเพื่อใช้บริโภคในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ไปพร้อมกัน จึงได้จัดทำโครงการสร้างศูนย์ผลิตผักปลอดจากสารพิษตกค้างเพื่อการจำหน่าย ในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ขึ้นมา โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นแม่งาน และมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เป็นผู้ประสานงานโครงการ
นายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายสร้างให้เป็นศูนย์กลางการผลิตผัก 10 ชนิด ในพื้นที่ 215 ไร่ กระจายใน 105 ตำบลของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สามารถผลิตผักได้วันละ 25 ตันหรือกว่า 7,500 ตันต่อปี โดยโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ผักกางมุ้งและผักไม่ใช้ดิน หรือไฮโดรโพรนิค (hydroponic)
โดยกลุ่มผักกางมุ้งจะคัดเลือกตำบลเป้าหมายที่ใกล้แหล่งน้ำ 100 ตำบลๆ ละ 3 ไร่ รวมแล้ว 300 ไร่ น่าจะสามารถผลิตผักได้วันละ 10.5 ตัน มีปริมาณเพียงพอในการรองรับความต้องการของพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหลังจากบอกกล่าวให้ประชาชนในพื้นที่ที่สนใจแสดงความต้องการเพื่อเข้าร่วมโครงการ ก็ได้รับการ ตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งจากการคัดเลือกปรากฏว่าในจังหวัดปัตตานีมีเข้าร่วม 20 ตำบล จังหวัดยะลาเข้าร่วม 40 ตำบล และนราธิวาสเข้าร่วม 40 ตำบล
ส่วนกลุ่มผักไม่ใช้ดินจะคัดเลือกตำบลเป้าหมายที่ใกล้แหล่งน้ำ 5 ตำบลตำบลละ 3 ไร่ รวม 15 ไร่น่าจะสามารถผลิตผักได้วันละ 5 ตันหรือ 405 ตันต่อปี ในส่วนนี้จะมุ่งเน้นการส่งออกไปยังพื้นที่อื่นโดยผ่านช่องทางขายของห้างสรรพสินค้า ซึ่งขณะนี้มีเข้าร่วมโครงการแล้ว คือ ท็อปและคาร์ฟูร์ และยังมีเป้าหมายในการส่งออกในขั้นต่อไป ในกลุ่มนี้ มีตำบลต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 5 ตำบล ประกอบไปด้วยจังหวัดปัตตานี 1 ตำบล ยะลา 2 ตำบล และนราธิวาส 2 ตำบล
โครงการดังกล่าวทั้ง 2 ส่วน ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนให้ในการเริ่มต้นทั้งอุปกรณ์ในการเพาะปลูก อบรมให้ความรู้ รวมไปถึงการทำตลาดให้ รวมทั้งการรับขนส่งผลิตภัณฑ์และบรรจุหีบห่อหรือแพ้กเก็จจิ้งให้เหมาะสมกับราคาที่สูงกว่าผักปกติ
ว่ากันว่าโครงการนี้น่าจะสามารถสร้างแรงงานในท้องถิ่นได้กว่า 17,505 แรง/วัน สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเป้าหมายในการพัฒนาชีวิตความกินดีอยู่ดีของคนใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ คงไม่ไกลเกินจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น