xs
xsm
sm
md
lg

"พินิจ"ถกจัดการน้ำทั้งระบบ ยงยุทธยันไม่สร้างเขื่อนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งบฯ 2 แสนล้านบริหารน้ำไม่ชัด"พินิจ"สั่งกรมชลประทาน-กรมทรัพยากรน้ำ ทำแผนใหม่เสนอ 8เม.ย. ส่วนแผน 25 ลุ่มน้ำต้องเสร็จก่อน 28 พ.ค. เผยพูดยาก ข้อคัดค้านใช้เงินไม่คุ้มทุนทำระบบท่อเอื้อประโยชน์นักการเมือง ยันดึงภาคประชาชนทุกด้านเป็นกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำ เพื่อความโปร่งใส “ยงยุทธ”ยันไม่มีนโยบายสร้างเขื่อนใหม่ แก้ข้อสงสัยปัดฝุ่นแก่งเสือเต้น

วานนี้(28 มี.ค.) นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ได้เรียก นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรฯ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อวางแผนการจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายพินิจ กล่าวว่าที่ประชุมมีมติให้กรมชลประทาน และกรมทัพยากรน้ำ เป็นเจ้าภาพในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามนโยบายของรัฐบาล และในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน จะต้องเสนอแผนทั้งหมดให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติในเบื้องต้น และ ยังเห็นชอบให้ 2 กระทรวง จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบใน 25 ลุ่มน้ำ โดย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 พ.ค.48 เพื่อที่จะนำมาบูรณาการ จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการ

นอกจากนั้นยังเห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาเพื่อเตรียมรองรับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากความต้องการใช้น้ำในปัจจุบัน

“ส่วนงบประมาณที่รัฐบาลกำหนดไว้เบื้องต้น 2 แสนล้านบาท ในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ในระยะ 5 ปีนั้น ในครั้งนี้ยังไม่มีการตกลงกันว่า จะดำเนินการเช่นใด แต่สุดท้ายเมื่อทั้ง 2 หน่วยงานเสนอแผนมาแล้ว ก็จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง”

นายพินิจ กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้พิจารณาการจัดการน้ำที่ใช้ในระบบเฉพาะพื้นที่ เช่น การใช้แรงโน้มถ่วง หรือแบบสูบกลับ การใช้จุดแรงดันน้ำ การจัดทำคลองซอยน้ำ หรือแก้มลิง และระบบการชลประทานระบบท่อ เป็นต้น และให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปศึกษาสภาพความเหมาะสมในการลงทุน ส่วนในภาคอีสานนั้น ก็จะใช้ระบบท่อเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ได้บอกกับทั้ง 2 หน่วยงานไปแล้วให้ว่า ให้คิดถึงความคุ่มค้าในการลงทุนเป็นหลักในการจัดทำแผน ทั้งนี้แผนใหญ่หนึ่งแผน จะมีแผนรอง และโครงการย่อยรองรับเชื่อมโยงประสานเข้ากันอย่างสมบูรณ์ทุกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการแก้ไขปัญหาความยากจน

นายพินิจ กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ และแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสร้างเขื่อน-ชลประทานระบบท่อ โดยใช้งบประมาณถึง 2 แสนล้านบาท ในการแก้น้ำขาดแคลน โดยเฉพาะเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มทุน และเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับเอื้อประโยชน์กับนักการเมืองที่เริ่มเข้ามาหากำไรในการทำท่อน้ำ ว่า ยังไม่เริ่มทำ แผนยังไม่ชัดก็ค้านกันแล้ว ตนพูดยาก ส่วนที่นักวิชาการไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐพยายามเร่งรัดให้จัดทำแผนแม่บทพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 เดือน และต้องการภาคประชาชนมาเป็นส่วนร่วมนั้น ว่า ตนจะเชิญภาคประชาชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ ทั้งในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนทั้งสมาคมชาวนา สมาคมชาวไร่ ไม่ว่าจะเป็น ประชาชนที่ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ที่ใช้น้ำทุกแหล่งเข้ามาร่วมกัน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำ ภาคพลังงานที่ใช้น้ำในการกำเนิดพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ

ทั้งนี้ยังจะมีการพิจารณาในเรื่องการบำบัดน้ำเสียทั้งระบบ ซึ่งทั้งหมดก็จะมีการเชิญภาคประชาชนที่มีภูมิปัญญาในด้านน้ำมาเป็นคณะกรรมการเช่นกันเพื่อพัฒนาแผนแม่บทให้สมบูรณ์และโปร่งใส

“ส่วนที่นายพิเชษฐ พัฒนโชติ ส.ว.นครราชสีมา อภิปรายในช่วงการแถลงนโยบายรัฐบาล ว่า รัฐบาลกำหนดงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยจะให้ตำบลละ 3 แสนบาทในการขุดบ่อน้ำ เมื่อคิดรวมกับตำบลกว่า 7 พันตำบล คูณกันก็ได้ 2 แสนล้านบาทนั้น ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะงบประมาณ 3 แสนบาท เป็นงบประมาณที่รัฐบาลใช้ในโครงการกองทุนเอสเอ็มแอล ที่จะไปดำเนินการอะไรก็ได้ตามแผนของตำบลนั้น ไม่เกี่ยวกับงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ที่รัฐจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ”นายพินิจ กล่าว

ด้านนายยงยุทธ กล่าวว่า ตนจะศึกษาเพื่อเตรียมการรองรับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนของประเทศที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากความต้องการน้ำในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการดำเนินการดังกล่าวทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเป็นแผนระยะยาวในอีก 15 ปีข้างหน้า ส่วนการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแห่งใหม่ ๆ นั้น ขณะนี้ ยังไม่มีนโยบายในการสร้างเขื่อนใหม่แต่อย่างใด พร้อมกันนี้จะมีการศึกษาการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ เช่น แม่น้ำสาละวิน โดยจะพิจารณาถึงภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศก่อน รวมทั้งแผนนำร่องการพัฒนาลุ่มแม่น้ำชี-ลุ่มแม่น้ำมูลในแผนการพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ และยืนยันว่ากระทรวงทรัพยากรไม่ได้มุ่งวางแผนในการสร้างเขื่อนเก็บน้ำเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น