xs
xsm
sm
md
lg

นิคมฯฮาลาลเจอพิษไฟใต้ ยอมรับปี48สร้างไม่เสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ใต้ทำแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จ.ปัตตานี ล่าช้ากว่าเดิมมาก แต่ “วันนอร์” ยังยืนยันแล้วเสร็จตามเป้าไม่เกินปี 2549 เผยรัฐหนุนการลงทุนของเอกชนในนิคมฯ 50 % ด้านตัวเลขการส่งออกอาหารฮาลาล ปี 2547พุ่ง 25,000ล้านบาท เตรียมสร้างมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้น

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่ จ.ปัตตานี วงเงิน ประมาณ 1,000 ล้านบาท มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จอย่างเร็ว ปี 2548ไม่เกิน 2549 แต่จากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าเดิมมาก ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าในปี 2548 การดำเนินงานก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไม่แล้วเสร็จอย่างแน่นอน แต่ต้องให้แล้วเสร็จในปี 2549 ตามกำหนดการเดิม

สำหรับ การลงทุนของผู้ประกอบการจากภาคเอกชน พบว่า ขณะนี้ได้ลงนามกับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนไปบางส่วนแล้ว โดยเอกชนทุกรายยังคงให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนี้เช่นเดิม ซึ่งการลงทุนดังกล่าวภาครัฐจะอุดหนุนให้อย่างเต็มที่เกินกว่า 50% เช่น สิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ภาษีเงินได้นิติบุคคล สิทธิพิเศษในด้านอัตราค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล จะของบจาก ครม.เป็นจำนวนเงินงบประมาณทั้งสิ้น 398 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในปี 2548 ประกอบด้วย การวางระบบน้ำประปา ถนน และ ไฟฟ้า เป็นต้น

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารฮาลาล เป็นที่ต้องการของตลาดโลกค่อนข้างมาก เนื่องจากประชากรมุสลิมมีอยู่มากถึง 30 % ของประชากรโลก หรือประมาณ 2,000 ล้านคน ในขณะที่ ประเทศไทยส่งออกอาหารฮาลาล ในตลาดนี้เพียงปีละ ประมาณ 5% หรือประมาณปีละ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก 

สำหรับ อาหารที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นอาหารแช่แข็ง และอาหารกระป๋อง ดังนั้น ในนโยบายของรัฐบาลเรื่องครัวไทยสู่ครัวโลก จึงควรจะผลักดันอาหารฮาลาลด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการขยายตัวของตลาดอีกมาก เพราะเป็นอาหารที่ทุกคนสามารถรับประทานได้ โดยคาดว่าในปี 2547 ไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 25,000ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อขยายตลาดของสินค้าอาหารฮาลาลของไทยให้มากขึ้น คณะกรรมการเห็นว่า จะให้ศึกษาด้านการตลาด ขบวนการผลิต และสร้างความมาตรฐานอาหารฮาลาลขึ้นมา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาหารฮาลาลของไทยมากขึ้น โดยขณะนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสถาบันอาหารฮาลาลขึ้นมาโดยการรับรองมาตรฐานเทียบเท่ากับสถาบันในต่างประเทศ จึงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะใช้เป็นการนำร่องเพื่อผลักดันอาหารฮาลาลไทยสู่โลก

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24-27มกราคม 2548 ทางหอการค้ามุสลิมทั่วโลก ประมาณ 200-300 คน จะมาประชุมที่ประเทศไทย ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีการจัดงานแสดงสินค้าอาหารและมาตรฐานอาหารฮาลาล ให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ดังนั้นจึงคาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมมั่นให้กับสินค้าอาหารฮาลาล ของไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการคาดว่า ในการแสดงสินค้าครั้งนี้ จะมีการสั่งซื้อสินค้าของไทยมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น