xs
xsm
sm
md
lg

ชี้โคล้านครอบครัวรอดยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"โครงการโคล้านครอบครัว"เริ่มได้ มีนาคมปีหน้า ผู้ประกอบการโคขุนหวั่น ไปไม่รอด เพราะเกษตรกรไม่มีประสบการณ์ สู้ฟาร์มมาตรฐานไม่ได้ เผยเลี้ยง 5 ตัว/ครอบครัว ขณะที่เอกชนใช้คน 3 คนเลี้ยงโค 5,000 ตัว ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าหลาย เผยออสเตรเลียส่งคนเก็บข้อมูล คาดเตรียมตั้งฟาร์มในไทย เสนอทางออกต้องหนุนฟาร์มขนาดใหญ่ไว้แข่งกับออสเตรเลีย

นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวถึงความคืบหน้าของ "โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว" ว่า โครงการแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกคือซื้อโคขุนแจกเกษตรกร จำนวน 1.1 ล้านตัว ส่วนที่สองคือการผสมเทียมให้กับเกษตรกร โดยคาดว่าทั้งสองโครงการ จะสามารถดำเนินการได้พร้อมกันในเดือนมีนาคม .2548 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจจำนวนโคเนื้อในประเทศ และการร่างหลักสูตรการฝึกอบรมผสมเทียม

**ชี้โครงการไปไม่รอด

นายบุญส่ง แสงสว่าง กรรมการสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันทำฟาร์มโคขุนอยู่ประมาณ 200-300 ตัว กล่าวว่า การจัดทำโครงการโคล้านครอบครัว ไม่ส่งผลกระทบต่อเอกชนผู้เลี้ยงโคเลย และไม่กลัวด้วย แต่เป็นห่วงเกษตรกรที่เข้าโครงการมากกว่า เนื่องจากคนที่ไม่มีประสบการณ์เลี้ยงและปล่อยให้เลี้ยงตามยะถากรรม จะมาสู้กับคนที่มีความชำนาญในการเลี้ยงได้อย่างไร สุดท้ายไม่เกินปีต้องพับโครงการในที่สุด เสียดายเงินภาษีของประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาลมองการเลี้ยงโคตามโครงการนี้ เป็นการสร้างอาชีพเสริม แต่การเลี้ยงโค 5 ตัว เกษตรกรต้องเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ต้องเลี้ยงทั้งวันปล่อยไม่ได้ นั่นหมายความว่าต้องเลี้ยงให้คุ้มกับค่าแรงของตัวเอง แต่ถ้าเลี้ยงตามทุ่งหญ้าทั่วไป ระยะเวลาในการเลี้ยงปีครึ่งตามโครงการ จากโคน้ำหนัก 200-300 กก. จะได้โคน้ำหนักประมาณ 400 กก. ซึ่งปัจจุบันขายกันในตลาดล่างหรือตลาดเขียงทั่วไปและตลาดลูกชิ้น ในราคา ประมาณ 30 บาท/กก. เท่านั้น

ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนมืออาชีพ ใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน ได้น้ำหนัก 450-500 ก.ก. ขายกันในตลาดบน ได้ราคาดีกว่าคือ 48 บาท/ก.ก. เนื่องจากการเลี้ยงแบบกินหญ้าอย่างเดียวเปอร์เซ็นซากต่ำขายได้ในราคาถูก ส่วนการเลี้ยงแบบฟาร์มมีคุณภาพมากกว่าและมีเปอร์เซ็นต์ซากสูงกว่า จึงขายได้ราคาดีกว่า

**สู้เอกชนยาก

นายเรวัต วัชราไทย เจ้าของธุรกิจฟาร์มโคเนื้อ "ลุงเชาว์ฟาร์ม" ที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า รุปแบบการดำเนินการของโครงการโคล้านครอบครัวของรัฐ เป็นรูปแบบเดียวกับการทำธุรกิจฟาร์มโคขุนที่เกษตรกรหลายรายทำอยู่ในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นรับซื้อโคหย่านมเพื่อขุนต่อระยะหนึ่งแล้วขายเข้าโรงชำแหละ ดังนั้น เมื่อดำเนินธุรกิจเหมือนกัน จึงเกิดการแข่งขันกันขึ้น แต่โครงการของรัฐจะสู้กับเอกชนที่ทำแบบมืออาชีพและมีความชำนาญกว่าไม่ได้

นายเรวัตกล่าวว่า "ลุงเชาว์ฟาร์ม" ดำเนินธุรกิจเป็นเวลานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่รุ่นพ่อโดยปัจจุบันลุงเชาว์ฟาร์มเป็นฟาร์มโคเนื้อรายใหญ่ที่สุดของไทย มีจำนวนโคขุน 3,800-4,000 ตัว มีแม่พันธุ์โคเนื้อ 800 ตัว และมีลูกโคเพื่อขายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อประมาณ 1,000 ตัว การจัดการฟาร์มของ "ลุงเชาว์ฟาร์ม" เป็นรูปแบบเดียวกันกับในต่างประเทศ คือการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ใช้เทคโนยีสมัยใหม่เข้ามาเลี้ยงแทนแรงงานคน โดยใช้คนเลี้ยงเพียง 3 คนเลี้ยงโค 3,800-4,000 ตัวเท่านั้น ขณะที่โครงการของรัฐมีอัตราการเลี้ยง 5 ตัว/ครอบครัว

นอกจากนี้ การทำฟาร์มขนาดใหญ่ยังก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ซึ่งเป็นรูปแบบของการซื้ออาหารครั้งละมากๆ ซื้อพันธุ์สัตว์ครั้งละมากๆ และซื้อวัตถุดิบครั้งละมากๆ เช่นเดียวกับการซื้อสินค้าในแม็คโครหรือโลตัสทำให้ได้ราคาถูกกว่า ขณะเดียวกัน ลุงเชาว์ฟาร์ม ยังมีโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ผลิตจากมูลโคเป็นของตัวเองอีกด้วย ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้เป็นจำนวนมาก

นายเรวัต กล่าวว่า เมื่อไทยเลือกทางเดินในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ด้วยการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับออสเตรเลีย ทางเดียวที่จะสามารถแข่งขันกับเขาได้ ต้องพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมือนเขา มีรูปแบบการจัดการฟาร์มให้ทันสมัยและได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับการทำฟาร์มไก่เนื้อ-ไก่ไข่ของ ซี.พี.หรือเบทาโกร ที่สามารถพัฒนาธุรกิจจนสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

ขณะเดียวกัน ต้องมีสัตวแพทย์และสัตวบาลประจำฟาร์ม หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ก็สามารถรักษาโรคได้ทันการ จะหวังพึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ และดูแลได้ไม่ทั่วถึง โรคระบาดที่เกิดขึ้นก็ไม่มีทางหมดไปได้ นอกจากนี้ การให้อาหารก็ต้องให้ในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อให้ซากของโคมีคุณภาพดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาโคของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม นายเรวัตกล่าวว่า โครงการส่งเสริมการเลี้ยงวโคเนื้อล้านครอบครัว ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

**ออสซี่ดอดเก็บข้อมูล เตรียมตั้งฟาร์ม

นายสิทธพร บุรณนัฐ เลขาธิการสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเอกชนผู้เลี้ยงโคจากประเทศออสเตรเลีย ได้เข้ามาเก็บข้อมูลการเลี้ยงโคในประเทศไทย เพื่อศึกษาถึงแนวทางในการลงทุนสร้างฟาร์มในไทย เป็นเรื่องที่ภาครัฐนิ่งนอนใจไม่ได้ แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือจากผลกระทบของเอฟทีเอ ซ้ำยังไปทำโครงการที่ไม่เป็นเรื่องอีก

สำหรับมาตรการที่เอกชนต้องการให้รัฐช่วยเหลือ คือ การดูแลเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาสายพันธุ์ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ สนับสนุนการเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนมาตรการเชิงรุก รัฐต้องคัดเลือกให้เกษตรกรของไทยไปศึกษาดูงาน เพื่อให้แข่งขันกับเขาได้ อย่าส่งแต่ข้าราชการไปศึกษาดูงาน เพราะกลับมาแล้วไม่ทำอะไร

นายสิทธิพรกล่าวว่า ปัจจุบันไทยเก็บภาษีนำเข้าโคเนื้อจากออกเตรเลีย 50% จากนั้นถึงเดือนม.ค.2548 ลดลงเหลือ 40% และทยอยลดลงเหลือ 0% ในเวลา 20 ปี โดยราคาโคเนื้อจากออสเตรเลียยังแพงกว่าของไทย แต่ในอนาคต หากราคาใกล้เคียงกัน ผู้บริโภคจะเลือกบริโภคเนื้อดคนำเข้ามากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น