xs
xsm
sm
md
lg

จับตาทุนพรรคการเมืองดันตั้งกระทรวงก่อสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22 ก.ค.) มีการเสวนาพิจารณ์เรื่อง การคอร์รัปชั่นในกรมทางหลวง ปัญหาและทางออกที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชั่น (สปต.) และสถาบันไทยคดีศึกษา มธ.
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุน สปต.กล่าวว่าในการจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบการทำงานวิจัยเพื่อหารูปแบบและพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานราชการ โดยมุ่งการศึกษาไปที่กรมทางหลวง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีงบประมาณผลประโยชน์ทับซ้อนมหาศาลให้เป็นโมเดลคอร์รัปชั่นต้นแบบในการศึกษาการทุจริตในหน่วยงานอื่นต่อไป
นายทันพงษ์ รัศนานันท์ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยฯ กล่าวว่าต้องคอยจับตากลุ่มทุนธุรกิจก่อสร้างที่เป็นทุนสนับสนุนพรรคการเมืองของรัฐบาล กำลังเป็นกลจักรสำคัญผลักดันผ่านสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ตั้งกระทรวงก่อสร้างเพื่อมารองรับงานธุรกิจของตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้าไปกำหนดวิสัยทัศน์ กรอบแนวคิด ของกระทรวงทั้งหมด หากทำสำเร็จกลุ่มนี้จะไม่ผูกขาดเฉพาะการรับเหมางานในประเทศหมดแล้ว แต่จะขยายไปถึงการรับงานในแถบอินโดจีน ต่างประเทศ
“การคอรัปชั่นงานก่อสร้าง ที่น่าจับตาคือ โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้ หลายแสนล้าน ที่มีคอรัปชั่นจากระดับนโยบาย เช่น กรณีแหลมผักเบี้ย จนเรียกได้ว่าบูรณาโกง”
ด้าน พ.ต.ท.สุรพงษ์ พ่วงพงษ์ กรรมการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ยกตัวอย่างการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในแวดวงตำรวจทางหลวงกับเจ้าของรถสิบล้อให้เจ้าของรถสามารถไถ่รถของกลางคืนออกไปได้ก่อนโดยวิ่งเต้นจ่ายเงินกัน หลังจากที่ตำรวจจับกุมยึดรถเป็นของกลางในการกระทำความผิดฐาน บรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยให้ตำรวจเร่งส่งสำนวนฟ้องให้เร็วขึ้นกว่าปกติ และให้พนักงานสอบสวนเขียนคำฟ้องไปในทางเข้าข้าง เจ้าของรถ ว่าไม่รู้ไม่เห็น
พ.ท.ต.สุรพงษ์ กล่าวเสริมว่ารัฐบาลต้องปรับปรุงกฎหมาย ป.วิ อาญา 172 ว่าด้วยการสืบพยานคดีในศาลต่อหน้าจำเลย ซึ่งคดีคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกันผู้มีอิทธิพล เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีพยานมาให้ปากคำหรือซัดทอดความผิดถึงผู้บ่งการใหญ่ได้เพราะกลัว
นายชูชาติ สีลปัทธ์กุล นิติกร นิติกรประจำสำนักงานกฎหมาย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงปัญหาสำคัญในการเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในกรมทางหลวง คือ การไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำ เพราะต้องการปกปิดช่องโหว่ การทุจริต และยังอ้างอีกว่าทางสตง. มีอำนาจอะไรจะเข้าไปตรวจสอบ
นายชูชาติ ยังกล่าวต่อว่าเรื่องหนึ่งที่ทาง สตง.กำลังตรวจสอบและเข้าไปดำเนินการแก้ไขไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นคือ การออกกำหนดกฏเกณฑ์ตามอำเภอใจของกรมฯ เพื่อกีดกั้น แต่เอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมาที่ต้องการเอื้อประโยชน์ให้
ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกล่าวว่า ปัจจุบันการทุจริตในกรมทางหลวง มีรูปแบบการทุจริตแบบใหม่เกิดขึ้นคือ การคอร์รัปชั่นเรื่องขนาดของโครงการฯโดยได้รับความร่วมมือจากนักการเมือง นักธุรกิจการก่อสร้าง และข้าราชการในกรมทางหลวงร่วมกันฮั้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เช่น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ที่สร้างขนาดใหญ่ผิดปกติเกินความเป็นจริงขาดระบบตรวจสอบวิเคราะห์ความเหมาะสมความคุ้มทุนในโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น