xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส "War Room" ของฮุน เซน แกะรอย Gadget บนโต๊ะบัญชาการกัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิเคราะห์ภาพของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ในห้องบัญชาการ ถอดรหัสทีละอุปกรณ์ว่าผู้นำกัมพูชาใช้อุปกรณ์อะไร เพื่ออะไร

การประชุมออนไลน์หรือ Video Conference เป็นภาพที่หลายคนคุ้นเคยจากการ Work from Home, การประชุมทีม, หรือการคุยกับเพื่อน แต่ภาพที่เผยแพร่บนเพจ Samdech Hun Sen of Cam เป็นการประชุมออนไลน์ที่สื่อความว่าอาจชี้เป็นชี้ตายในสนามรบ โดยภาพชุดนี้มีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา นั่งในห้องทำงานที่ดูคล้ายกับห้องบัญชาการหรือ "War Room" แบบที่เราเห็นในหนัง แวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งแต่ละอุปกรณ์มีความสามารถแตกต่างกันไปตามท้องเรื่อง

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา นั่งในห้องทำงานที่ดูคล้ายกับห้องบัญชาการหรือ War Room แบบที่เราเห็นในหนัง
***แกะรอย Gadget บนโต๊ะบัญชาการ

เริ่มจากของบนโต๊ะ อย่างแรกที่เห็นชัดเจนบนโต๊ะทำงานของฮุน เซน คือไมโครโฟนสำหรับการประชุม (Conference Microphone) ไม่ใช่ไมค์จากคอมพิวเตอร์หรือหูฟังธรรมดาๆ การใช้ไมค์แบบนี้เพื่อให้เสียงพูดของผู้บัญชาการนั้นชัดเจน คมชัด และมีอำนาจ ส่งไปถึงปลายทางทุกคนอย่างไม่มีข้อผิดพลาด เพราะทุกคำสั่งมีความสำคัญ

 อย่างแรกที่เห็นชัดเจนบนโต๊ะทำงานของฮุน เซน คือไมโครโฟนสำหรับการประชุม (Conference Microphone)
ชิ้นต่อมาคือวิทยุสื่อสาร หรือที่เราเรียกกันว่า Walkie-Talkie ในยุคที่ทุกคนใช้สมาร์ทโฟน ทำไมยังต้องมีวิทยุสื่อสาร? คำตอบคือ "ความเสถียรและความปลอดภัย" เพราะในปฏิบัติการทางทหาร สัญญาณอินเทอร์เน็ตอาจล่ม ถูกตัด หรือถูกดักฟังได้ แต่วิทยุสื่อสารที่ใช้คลื่นความถี่เฉพาะและมีการเข้ารหัส จะเป็นช่องทางการสื่อสารสำรองที่ไว้ใจได้ที่สุด สำหรับการสั่งการโดยตรงไปยังหน่วยภาคสนาม

ในยุคที่ทุกคนใช้สมาร์ทโฟน ยังต้องมีวิทยุสื่อสาร
แม้จะมีระบบสำรองเผื่อฉุกเฉิน แต่ฮุน เซน ก็ต้องมีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางสื่อสารรองรับข้อมูลที่หลากหลาย อาจจะใช้ดูเอกสารลับ แผนที่ดิจิทัล หรือรับรายงานแบบส่วนตัวที่ไม่ต้องการให้แสดงบนจอใหญ่ เป็นเครื่องมือที่ให้ความยืดหยุ่นสูง


และที่น่าสนใจมากคือแม้จะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยแค่ไหน แต่บนโต๊ะก็ยังมีแผนที่กระดาษขนาดใหญ่ นี่เป็นการตอกย้ำว่า ในการวางแผนยุทธศาสตร์ การได้เห็นภาพรวมบนโต๊ะ กางออกมาชี้นิ้วสั่งการพร้อมกับทีมเสนาธิการ ยังคงเป็นวิธีที่ขาดไม่ได้

***จับตา "จอคู่" ทำไมท่านผู้นำต้องออก 2 จอ?

จากภาพที่ห้องประชุมมี 2 จอใหญ่ จอหนึ่งเป็นภาพท่านฮุน เซน คนเดียวเต็มๆ ส่วนอีกจอเป็นตารางผู้เข้าร่วมประชุม (Grid View) ละลานตา


จอ Grid View นี้เป็นจอสำหรับ "ผู้บัญชาการ" ที่ฮุน เซน จะใช้จอนี้เพื่อดูหน้าตาและสถานการณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนที่อยู่ในสาย ไม่ว่าจะเป็นนายทหารในห้องทำงาน หรือหน่วยที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในภาคสนาม ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์จากสีหน้าและสภาพแวดล้อมของแต่ละหน่วยได้ในเวลานั้น

สำหรับจอซ้ายที่เป็นภาพฮุน เซน คนเดียว คือจอสำหรับ "ผู้รับสาร" ภาพนี้คือสิ่งที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนจะเห็นบนจอของตัวเอง


การฉายภาพผู้นำแบบเต็มจออาจมีนัยยะสำคัญในเชิงจิตวิทยาก็ได้ เพราะเข้าข่ายการ "Projecting Power" หรือการฉายภาพแห่งอำนาจ ซึ่งแทนที่ฮุน เซน จะเป็นแค่ช่องสี่เหลี่ยมเล็กช่องหนึ่งในจอเหมือนคนอื่น การมีภาพส่วนตัวแบบนี้ อาจทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนฮุน เซน กำลังนั่งอยู่ตรงหน้า คอยจับตาดู เพื่อให้ทุกคำสั่งที่ออกมามีน้ำหนักและน่าเกรงขามมากกว่าเดิม

*** Grid View บอกอะไร?

หากดูที่จอรวมผู้เข้าร่วมประชุม แม้ในจอจะได้เห็นคนในเครื่องแบบทหารเป็นส่วนใหญ่ บางรายอยู่ในห้องทำงานที่มีธงชาติ มีชั้นยศ แต่บางคนดูเหมือนจะอยู่ในเต็นท์กลางแจ้ง หรือในฐานปฏิบัติการภาคสนามจริง ทั้งหมดนี้เป็นการสื่อว่าการประชุมออนไลน์นี่ไม่ใช่การประชุมผู้บริหารธรรมดา แต่คือศูนย์บัญชาการและควบคุม (Command and Control Center) ที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนบัญชาการกลางกับหน่วยรบในพื้นที่ เป็นการแสดงแสนยานุภาพของเครือข่ายการสื่อสารของกองทัพ ที่สามารถเชื่อมโยงทุกคนเข้ามาได้พร้อมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม มีการสังเกตว่าที่จอ Grid View มีรูปของฮุน เซน ถึง 2 ช่อง จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดทางเทคนิค แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นความตั้งใจ โดยในทางเทคนิค การมี 2 จออาจหมายถึงการล็อกอินเข้าสู่ระบบจาก 2 อุปกรณ์ หรือการใช้กล้อง 2 ตัวส่งสัญญาณภาพแยกกัน ซึ่งเราก็เห็นกล้อง 2 ตัวตั้งอยู่บนโต๊ะของฮุน เซนจริง

มีการสังเกตว่าที่จอ Grid View มีรูปของฮุน เซน ซ้ำกัน 2 ช่อง
นอกจากนี้ การล็อกอินเข้าสู่ระบบจาก 2 อุปกรณ์ยังอาจมีไว้เพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน ช่องหนึ่งอาจเป็นภาพจากกล้องหลักที่ส่งออกไปให้ทุกคนเห็น (เหมือนในจอซ้าย) ในขณะที่อีกช่องหนึ่งอาจมาจากกล้องบนแล็ปท็อปหรือแท็บเล็ตส่วนตัวเพื่อใช้สำหรับมองหน้าจอ แชร์เอกสาร หรือสื่อสารในกลุ่มย่อย โดยไม่กระทบกับภาพหลักที่ส่งออกไป

ที่สำคัญคือเพื่อเป็นระบบสำรอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบัญชาการ หากสัญญาณภาพจากกล้องหลักตัวหนึ่งเกิดขัดข้องหรือหลุดไป จะยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่ยังคงอยู่ในการประชุมได้ทันที ทำให้การสื่อสารไม่ขาดตอนแม้แต่วินาทีเดียว

สำหรับการโพสต์ภาพบนเพจเฟซบุ๊ก ฮุน เซน อาจต้องการตอกย้ำสัญลักษณ์ของภาวะผู้นำผ่านภาพบรรยากาศของการประชุม โดยเฉพาะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในหน้าจอ Video Conference ล้วนสามารถกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังในสนามรบยุคใหม่ได้ ซึ่งล่าสุดโพสต์นี้สามารถเรียกการแสดงความคิดเห็นจาก 3.5 แสนคน ยอดแสดงความคิดเห็น 4.7 หมื่นครั้ง และถูกแชร์ไป 1 แสนครั้งเรียบร้อย.


กำลังโหลดความคิดเห็น