AIS ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชวนคนไทยปรับพฤติกรรม-สกัดพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “คนไทยไร้ E-Waste” สร้างความตระหนักรู้และเพิ่มจุดรับทิ้ง E-Waste ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศไทย แค่เกษตรกรรับรู้ถือว่าสำเร็จผลแล้ว
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่เปราะบางต่อผลกระทบจากสารพิษ เช่น แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว ซึ่งอาจปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
“การขับเคลื่อนโครงการคนไทยไร้ E-Waste จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ รวมถึงประชาชนและเกษตรกรมีพฤติกรรมการจัดการขยะที่ถูกต้องและปลอดภัย”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา โครงการคนไทยไร้ E-Waste ได้พัฒนาและขยายผลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดยกระดับเป็น “AIS HUB of E-Waste” ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
โดยที่ผ่านมามีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปมากกว่า 1 ล้านชิ้น คิดเป็นน้ำหนักรวมไม่ต่ำกว่าหมื่นกิโลกรัม แต่นี้ยังนับเป็นเพียง 10% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำไปจำกัดอย่างถูกวิธีเท่านั้น เพราะข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ชี้ให้เห็นว่าในแต่ละปีมีขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 4.6 แสนตันในประเทศไทย
“เราต้องการเปลี่ยนมุมมองของคนไทยที่มองว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องไกลตัว เพราะในความจริง ขยะเหล่านี้มีผลกระทบลึกซึ้งต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตประจำวัน หากไม่จัดการอย่างถูกวิธี สารพิษในขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจย้อนกลับมาสร้างปัญหาทั้งในระบบนิเวศและปัจจัยการผลิตในอนาคต”
สิ่งที่คาดหวังจากโครงการนี้คือกลุ่มเกษตกร จะเข้าไปเรื่องการทิ้ง E-Waste อย่างถูกวิธี เพราะถ้าขยะเหล่านี้ตกลงไปในดิน หรือแหล่งน้ำ จะทำให้เกิดการปนเปื้อน และอาจเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยที่ไม่รู้ตัว
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะดำเนินการติดตั้งถังขยะ E-Waste ในหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22 หน่วยงาน พร้อมขยายจุดรับทิ้งไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์และสื่อสารสร้างความเข้าใจผ่านช่องทางต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ และ AIS เพื่อปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากการสะสมของสารพิษในดินและน้ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตหรือคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร
ทั้งนี้ โครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ยังเป็นการวางรากฐานเพื่อสร้างสังคมไทยที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดคาร์บอนและมลพิษในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันมีจุดรับ E-Watse อยู่กว่า 2,900 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 3,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ จากพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 245 ราย