xs
xsm
sm
md
lg

อาการCDMA“กสท”3 จว.ใต้น่าห่วง งานติดตั้งสถานีฐานอืดคืบไม่ถึง60%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสท.ห่วงปัญหาติดตั้งซีดีเอ็มเอ ภูมิภาค ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ล่าช้าไม่ทันตามกำหนด งานคืบไม่ถึง 60 % “พิศาล” เตรียมเสนอบอร์ดให้การสนับสนุนสวัสดิการ พร้อมให้การช่วยเหลือ หลังเข้ารับฟังปัญหาพร้อมเยี่ยมชมการติดตั้ง โปรเจกต์เมเนเจอร์ หวั่นไม่เสร็จทัน ทดสอบระบบเต็มรูปแบบ 1 เดือนก่อนรับมอบ 26 ม.ค.50 ขณะที่ประชาชนพื้นที่ให้การตอบรับจองบริการแล้วล่วงหน้ากว่าพันราย เห็นความสะดวกในแง่ใช้งานเมื่อเทียบกับรายอื่น

นายพิศาล จอโภชาอุดม รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยหลังการเข้าตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีเครือข่าย ซีดีเอ็มเอ ภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาสว่า จากความไม่สงบอาจจะส่งผลต่อการติดตั้งสถานีเครือข่าย CDMA 2000-1x ระหว่าง กสท กับบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ที่อยู่ในส่วนดำเนินงานระยะที่ 2 จำนวน 800 สถานีฐาน โดยการติดตั้งในครั้งนี้น่าเป็นห่วงอยู่ 2 จุด คือ ในยะลา และ นราธิวาส เพราะยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอยู่ จนส่งผลให้งานงานติดตั้งในบางจุดไม่มีความคืบหน้าไปตามที่ต้องการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2549

“จากที่ได้รับฟังจากพนักงาน กสท ที่เข้าไปทำงาน มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงหลายจุด ถึงแม้งานได้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่งานในภาพรวมยังไม่คืบหน้าตามที่วางไว้ที่จะแล้วเสร็จได้ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้งานจะต้องเสร็จล่าช้าไปถึงเดือนธันวาคมนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ ยะลา ที่งานคืบหน้าไปเพียง30%”

ส่วนของ 3 จังหวัด กสท จะดำเนินการติดตั้งจำนวน 70 สถานีฐาน โดยเป็น จังหวัด ปัตตานี 27 แห่ง ติดตั้งแล้วเสร็จไปเพียง 5 แห่ง เปิดใช้งานแล้ว 1 แห่ง อยู่ในขั้นตอนการเริ่มก่อสร้างหรือวางเสาเข็ม 8 แห่ง (มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไม่ถึง20%) ส่วนจังหวัด ยะลา 19 แห่ง ติดตั้งแล้วเสร็จ 2 แห่ง เปิดใช้งาน 1 แห่ง อยู่ในขั้นตอนการเริ่มก่อสร้างหรือวางเสาเข็ม 9 แห่ง (มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไม่ถึง20%) และ นราธิวาส 24 แห่ง ติดตั้งแล้วเสร็จเพียง 2 แห่ง เปิดใช้งานแล้ว 1 แห่ง อยู่ในขั้นตอนการเริ่มก่อสร้างหรือวางเสาเข็ม 12 แห่ง (มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไม่ถึง20%) ซึ่งในภาพรวมแล้วทั้งหมดมีความคืบหน้าไปเพียง 50% ของทั้งหมด โดยรวมในส่วนของที่ได้มีการก่อสร้างเสาสัญญาณและติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณ

สำหรับอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นหลัก ที่ทำให้แรงงานขาดแคลน ผู้รับเหมาไม่กล้าปฎิบัติงานหรือทำงานได้อย่างเต็มเวลา โดยจะสามารถทำงานได้เพียงวันละ 6 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 15.00 น. ในการที่จะออกจากพื้นที่ติดตั้ง เพื่อความปลอดภัย ประกอบกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีผลจากวัสดุและเครื่องจักรขาดแคลน โดยในบางครั้งจะต้องมีการให้บางพื้นที่ เข้ามาช่วยสนับสนุน จึงทำให้งานไม่คืบหน้าไปตามที่ต้องการ

นายพิศาล กล่าวว่า การเข้ามารับฟังปัญหาครั้งนี้ จากพนักงานและผู้รับผิดชอบในพื้นที่ เนื่องจากต้องการรับทราบและดูข้อเท็จจริงจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่ทาง ส่วนกลาง จะเข้ามาให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในส่วนของพนักงาน หรือ สวัสดิการ ด้านประกันภัย อาวุธป้องกันตัว เช่น เสื้อเกราะ หมวกกันกระสุน ปืนพกประจำตัว เพื่อให้พนักงานเกิดความมั่นใจต่อการเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่

“อาจจะมีการนำเสนอปัญหาเข้าบอร์ด ในเรื่องของเงินสวัสดิการ และการให้การช่วยเหลือในด้านอื่น เพื่อให้พนักงานใน 3 จังหวัด จำนวน 47 คน ได้รับสวัสดิการที่ดี มีขวัญกำลังใจในการปฎิบัติหน้าที่มากขึ้น”

นายวิชัย สีจร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายเครือข่ายไร้สายซีดีเอ็มเอ ประธานคณะทำงานโครงการฯ กล่าวว่า ในภาพรวมแล้วหากคิดในส่วนที่ประเมินไว้ที่ 20% ของความคืบหน้าในการติดตั้งถือว่ายังมีอีกหลายแห่ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้งานไม่คืบหน้าไปตามเป้าหมาย และจะไม่สามาารถได้แล้วเสร็จตามกำหนด ที่จะให้แล้วเสร็จในวันที่26 ธันวาคม ก่อนหน้าทำการส่งมอบ 1 เดือน ในวันที่26 มกราคม 2550 ในการที่จะออนแอร์ เพื่อทดสอบสัญญาณใช้งาน

“จังหวัดยะลา ผมห่วงที่สุด เพราะงานยังไม่คืบหน้าไปตามที่ต้องการ ที่อาจจะไม่ทันอย่างบางจุด กำลังทำงานอยู่ พอมีเหตุในพื้นที่ งานก็จะชะงัก หยุดงานไปอีก1 อาทิตย์ และยิ่งตอนนี้เข้าหน้าฝน และเข้าเดือนรอมฎอน ช่วงถือศีลอด อาจจะทำงานต้องชะงักลงไปอีก ยังไม่รู้ว่าเดือนธันวาคมนี้จะเสร็จหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม จากแผนที่วางไว้ การก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ไม่เกิน 45 วัน แต่ใน 3 จังหวัดนี้ การก่อสร้างได้ใช้เวลา ถึง 90 วัน โดยเทียบจากจุดที่แล้วเสร็จ หรือจุดที่มีความคืบหน้าของการก่อสร้างเกินกว่า80% ขณะเดียวกันงบประมาณการก่อสร้าง ต้นทุนได้มีสูงขึ้นจากปกติ 30% ในด้านของการเปลี่ยนรูปแบบเสาสัญญาณ จากเดิมที่ดีไซน์ใช้รูปแบบเสาสูงขึงลวดสลิงสี่ด้าน ให้เป็นเสาแบบเทาเวอร์ ที่เป็นผลมาจากการเช่าพื้นที่

นายพิศาล กล่าวอีกว่า การเข้าลงทุนจุดนี้ กสท ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับการสื่อสารอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นบริการจากรัฐ และหากรัฐไม่เข้าไปลงทุนส่วนนี้ กลุ่มทุนเอกชนก็จะไม่กล้าเข้าไปดำเนินงาน หรือ สร้างการขยายตัวให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่ ถึงแม้ใน3 จังหวัดจะมีความเสี่ยง แต่ กสท ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวกการบริการโทรคมนาคม มีการติดต่อสื่อสารได้ จากเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ ที่จะให้บริการโทรศัพท์ประจำบ้านแบบไร้สายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

“จากที่ผู้จัดการศูนย์บริการในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้บริการนี้ยังไม่เปิดในเชิงพาณิชย์ ประชาชน ได้ให้ความสนใจอย่างมาก มีการเข้ามาสอบถามถึงบริการ และมีการจองล่วงหน้าในการใช้งานแล้ว โดยเฉพาะแบบโทรศัพท์ประจำบ้านแบบไร้สาย ซึ่งมีคนจองใช้งานแล้วกว่าพันราย โดยเห็ยจากข้อแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ส่วนของการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้”

Company Related Link:
CAT
กำลังโหลดความคิดเห็น