xs
xsm
sm
md
lg

เจาะระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่าสุดของ “จันทบุรี” : รายงานพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในอดีต จังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะจันทบุรีมักเกิดอุทกภัยอยู่เนือง ๆ เนื่องจากมีแม่น้ำหลายสายพาดผ่าน ภัยดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งในภาคการเกษตรและการค้าขาย

นายชวลิต วรรณประเสริฐ หัวหน้าศูนย์ควบคุมระบบโทรมาตรเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ระบบการจัดการน้ำของจันทบุรีเก็บข้อมูลน้ำโดยใช้คน อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือว่าจ้างชาวบ้านให้ช่วยวัดระดับน้ำให้ ระบบการวัดก็ยังเป็นแบบแมนนวล คือใช้ถังตักน้ำวัดเอาเอง แล้วส่งข้อมูลผ่านทางวิทยุสื่อสาร ซึ่งการเก็บข้อมูลตามจุดต่าง ๆ ให้ครบนั้น ทำให้ในวันหนึ่ง ๆ เก็บข้อมูลน้ำได้จุดละหนึ่งครั้ง ระบบดังกล่าวพบปัญหาคือ ข้อมูลไม่เป็นแบบเรียลไทม์ ขาดความน่าเชื่อถือ

“ชาวบ้านบางคนไม่ได้ออกไปวัดจริง ๆ แต่ใช้การประมาณค่า พูดง่าย ๆ คือหลอกเรา เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากไม่มีกำลังเพียงพอจะลงพื้นที่ไปตรวจระดับน้ำเอง และบางแห่งก็อยู่ในป่า”

สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างระบบที่สามารถตรวจวัดระดับน้ำ ความเร็วของน้ำ สามารถคำนวณปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ นอกจากนั้นยังต้องวัดระดับน้ำฝนที่ตกในเวลาหนึ่ง ๆ เพื่อจะได้คำนวณถึงปริมาณน้ำบนผิวดินที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ทั้งหมดนี้ต้องสามารถปฏิบัติการได้เองโดยอัตโนมัติ และข้อมูลต้องส่งให้รวดเร็วที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนรับมือ หรืออพยพประชากรได้ทันท่วงที

จากความต้องการระบบจัดการน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างบริษัทล็อกซเล่ย์ในการวางระบบโทรมาตร เพื่อการพยากรณ์น้ำ และเตือนภัยน้ำท่วม ของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ระบบโทรมาตร เพื่อการพยากรณ์น้ำ และเตือนภัยน้ำท่วมของจังหวัดจันทบุรีภายใต้การดำเนินงานของล็อกซเล่ย์ ประกอบด้วยสถานีโทรมาตรสนามจำนวน 11 แห่ง ครอบคลุมลุ่มแม่น้ำจันทบุรี และสถานีควบคุมโทรมาตร จำนวน 1 สถานี ตั้งอยู่ที่โครงการชลประทานจันทบุรี ซึ่งสถานีทั้ง 12 แห่งจะทำงานร่วมกันโดยสถานีสนามจะตรวจวัดระดับน้ำในลุ่มน้ำ และวัดค่าปริมาณน้ำฝน จากนั้นจะส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์ควบคุมผ่านคลื่นวิทยุทุก ๆ 15 นาที ซึ่งทางศูนย์ควบคุมจะนำข้อมูลเข้าระบบพยากรณ์ และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อดีของระบบดังกล่าวคือ ตัวสถานีสนามเป็นการปฏิบัติงานแบบ Unman Station ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำ และมีระบบป้องกันเหตุร้ายต่าง ๆ ที่สมบูรณ์กับพื้นที่ เช่น ระบบป้องกันฟ้าผ่า ระบบป้องกันผู้บุกรุก ระบบไฟฟ้าสำรอง (กรณีกระแสไฟฟ้าขัดข้อง สถานีจะมีแบตเตอรี่สำรองสามารถรันระบบได้อีก 3 วัน โดยที่ข้อมูลไม่เสียหาย) ฯลฯ

ระบบโทรมาตรใหม่ได้เริ่มทดลองปฏิบัติงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 ปัจจุบัน จันทบุรีมีฐานข้อมูลน้ำที่เชื่อถือได้ สามารถเรียกดูรายงานย้อนหลังได้รวดเร็ว และสามารถพยากรณ์ล่วงหน้า 1 วันได้อย่างแม่นยำ โดยการพยากรณ์ของระบบจะอ้างอิงข้อมูลสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมด้วย งบประมาณในการจัดสร้างรวมทั้งสิ้น 25.41 ล้านบาท

นายประพนธ์ ตันติภิรมย์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายระบบควบคุม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกจากโครงการที่จันทบุรีแล้ว บริษัทฯ ยังได้ติดตั้งระบบโทรมาตรเตือนภัยน้ำท่วมให้กับกรมชลประทานที่อำเภอบางนรา จังหวัดนราธิวาส และที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย โดยในส่วนของอำเภอบางนราจะใช้เทคโนโลยีจีพีอาร์เอส (GPRS) ในการส่งข้อมูลระหว่างสถานีสนามกับศูนย์ควบคุมแทนคลื่นวิทยุ ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบระบบจีพีอาร์เอสของค่ายผู้ให้บริการอยู่ โดยมีทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรู ทั้งสองโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2550”

ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมการพยากรณ์ได้ที่เว็บไซต์ www.rid.go.th หรือ http://61.19.46.211

Company Related Links :
กรมชลประทาน
โทรมาตรลุ่มน้ำจันทบุรี
Loxley





กำลังโหลดความคิดเห็น