ผบ.ตร.นำถกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามและเสริมสร้างความมั่นคงในพระพุทธศาสนา สางปัญหาพระฉาวรายวัน เตรียมยกเครื่องระบบข้อมูลทั่วประเทศกว่า 30,000 วัด ตั้งเป้าติดตั้ง e-donation ครบทุกวัด ดันความโปร่งใสเงินวัด
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามและเสริมสร้างความมั่นคงในพระพุทธศาสนา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นข้าราชการตำรวจระดับสูงทั้งจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ,กองบัญชาการตำรวจนครบาล ,ตำรวจภูธรภาค รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ,กรมสรรพากร ,ปปง. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันรับทราบเกี่ยวกับร่างของกฎมหาเถรสมาคม ในส่วนของการลงโทษนิคหกรรมและการสละสมณเพศ ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะดำเนินการแก้ไขร่างตามขั้นตอน อาจจะต้องใช้ระยะเวลาสักระยะก่อนการประกาศใช้
สำหรับหน้าที่ที่ทางคณะกรรมการมาหารือร่วมกัน ก็จะเป็นการแบ่งงานให้ทางตำรวจ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และฝ่ายปกครองแต่ละพื้นที่ ได้ร่วมกันตรวจสอบวัดที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำข้อมูลรายงานกลับมาที่คณะกรรมการ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นเจ้าภาพหลักในการรวบรวมข้อมูล เพื่อดำเนินการตรวจสอบลงไว้ข้างหน้าต่อไปสำหรับเสริมสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา
ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการได้รับทราบร่างแก้ไขกฎมหาเถรสมาคม เพื่อเร่งรัดในการดำเนินการกับพระที่ทำผิดพระธรรมวินัย ให้ดำเนินการลงโทษโดยเร็วที่สุดและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะต้องประสานข้อมูลรวบรวมพยานหลักฐานจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ขณะที่ข้อพิจารณาสั่งการร่วมกันในวันนี้คือ จะให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอัพเดตข้อมูลวัดต่าง ๆ ที่มีอยู่ประมาณ 30,000 วัดทั่วประเทศ ซึ่งยอมรับว่าลำพังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังไม่เพียงพอที่จะอัพเดทข้อมูลปัจจุบันได้ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีฝ่ายปกครองและสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติประจำจังหวัดร่วมกันช่วยตรวจสอบข้อมูลของวัดแต่ละพื้นที่และอัพเดทข้อมูลทั้ง 3 หมื่นกว่าวัดทั่วประเทศเป็นฐานข้อมูล ซึ่งก็ขอความเมตตาบรรดาพระแต่ละวัดที่จะให้ข้อมูลบุคลากรแก่ทางคณะกรรมการ อย่างน้อยหากเกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคต ก็จะมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย
"ส่วนเรื่องการเงินของวัดนั้น ก็จะเป็นการขอข้อมูลว่า แต่ละวัดมีกี่บัญชี แต่ไม่ถึงขนาดขอจำนวนเงินของแต่ละวัด เพื่อจะได้ป้องกันปัญหาวัดไม่ทราบบัญชีธนาคารของตนเองว่ามีกี่บัญชีหรือบัญชีไหนไม่ใช้แล้ว"นายธงทอง กล่าว
นายธงทอง กล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งคือการอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นจากมูลนิธิทั้งหลายที่ทำงานสนับสนุนพระพุทธศาสนา ซึ่งก็จะมีการสำรวจตรวจสอบว่า มีความเชื่อมโยงกับรายได้ของวัดอย่างไร โดยในคณะกรรมการชุดนี้ จะมีกรมสรรพากรมาร่วมด้วย แม้ว่าวัดไม่อยู่ในฐานะต้องเสียภาษี แต่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่บริจาคต้องเข้าวัดร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยจะวางระบบ e-donation ซึ่งตอนนี้ได้วางระบบดังกล่าวเกือบ 2 หมื่นกว่าวัดแล้ว แต่อาจจะมีตกหล่นอยู่บ้าง โดยจะหารือกับทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเร่งติดตั้งระบบดังกล่าวให้ครบถ้วนทุกวัดต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มหลักประกันว่า เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์เข้าสู่ศาสนาอย่างแท้จริงและตรงตามเป้าหมายในการสร้างบุญสร้างกุศลของผู้บริจาค
นอกจากนี้ ยังได้หารือในเรื่องของการสร้างวัตถุมงคลที่มีทั้งวัดสร้างเองและคนอื่นสร้างให้วัด ซึ่งจะเกิดปัญหาที่มีคนเข้ามาฉวยโอกาสทำมาหากินจากการสร้างวัตถุมงคลแอบอ้าง โดยประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปอะไร เพียงแต่เป็นการวางประเด็นสำหรับหาแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต
ดังนั้น ในวันนี้ทางคณะกรรมการได้มอบการบ้านให้หน่วยงานไปดำเนินการคือ การรวบรวมข้อมูลของแต่ละวัดและอีกหลายการบ้านที่ทางคณะกรรมการต้องทำงานต่อไป