MGR Online - รมว.ยุติธรรม เปิดโครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสารและจริยธรรม ให้แก่เยาวชน สมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ต หนุนพัฒนาศักยภาพ
วันนี้ (20 ก.ค.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด ”โครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร และจริยธรรม ให้แก่เด็กและเยาวชน จ.ภูเก็ต ประจำปี พ.ศ. 2568“ ในการอบรมวิทยากรอิสลามศึกษาจังหวัดภูเก็ต ประจำปีพ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จ.ภูเก็ต ณ ห้องประชุมโรงแรมศุภาลัย ซีนิค เบย์ รีสอร์ทแอนด์สปา บ้านอ่าวปอ ต.ปากคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จัดโดย สมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ต ร่วมกับหน่วยสอบที่ 21 และ 43 เขตการศึกษาที่ 7 สมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ งบประมาณสนับสนุนการจัดงาน โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นำคณะ ให้การต้อนรับ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเปิดโครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสารและจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตประจำปี พ.ศ. 2568 ว่า โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษามาลายู และส่งเสริมการเรียนรู้หลักจริยธรรมอิสลาม เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
“ในนามของรัฐบาล ผมมีความซาบซึ้งใจที่ทุกท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนของเรา ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของสังคมไทย และมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การค้า และสังคม โดยมีส่วนร่วมในการก่อตั้งและพัฒนาประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ผมได้รับโอกาสใช้ชีวิตในห้วงที่รับราชการและการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและสังคมมุสลิม จึงทราบดีถึงความตั้งใจดีและปรารถนาดีของทุกท่านที่มีต่อสังคมมุสลิมและสังคมไทยในภาพรวมการพัฒนาสังคมและส่งต่อสังคมที่ดีจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งนั้น ปัจจัยสำคัญก็คือ การศึกษา”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การที่สมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์จ.ภูเก็ต ได้จัดกิจกรรมโครงการในลักษณะนี้ จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนและขยายผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างให้เยาวชนมีความถนัดด้านภาษา ซึ่งทั้งสามภาษาล้วนมีบทบาทสำคัญในบริบทสังคมโลกปัจจุบัน ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาทางการที่ใช้สื่อสารทั่วโลกและเพิ่มโอกาสในการทำงานในอนาคต ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า 22 ประเทศทั่วโลก และภาษามาลายู ก็มีการใช้กันในหมู่ประชากรโลกมากกว่า 350 ล้านคน การที่เด็กๆ และเยาวชนของเรามีความถนัดในภาษาเหล่านี้ ก็จะส่งผลดีกับตนเองและส่งผลถึงศักยภาพของประเทศในระยะยาว
“จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สะท้อนความเป็นพหุสังคมระดับโลก เรามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 กว่า 9.1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ 50,000 คน เฉลี่ยวันละมากกว่า 300 เที่ยวบิน สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 6 เดือนล่าสุด มีเที่ยวบินมากถึง 55,108 เที่ยวบิน เกินกว่า 50% เป็นสายการบินระหว่างประเทศ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของจังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงกับโลกในทุกมิติ ชุมชนมุสลิมในภูเก็ตจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะแสดงบทบาทในฐานะเจ้าของบ้านที่ดีควบคู่ไปกับการรักษาอัตลักษณ์และการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อพูดถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจ”
”ผมขอเรียนทุกท่านว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจนถึงปี 2570 แม้เงินทุนก้อนนี้จะไม่ได้ส่งมาที่จังหวัดภูเก็ตโดยตรง แต่โดยหลักแล้วโครงสร้างการประกอบการ แรงงาน และการใช้จ่ายเงิน จะเวียนเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตอย่างแน่นอน“ รมว.ยุติธรรม กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า อีกประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของมุสลิมภูเก็ตและมุสลิมไทยในภาพรวม เรื่องข้อเสนอทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับระบบการเงินปลอดดอกเบี้ยนั้น ในภาพรวมสังคมไทยเรามีพัฒนาการด้านการเงินอิสลามมากว่า 30 ปี ตั้งแต่การก่อตั้งสหกรณ์อิสลามแห่งแรกในปี 2527 การเปิด อิสลามิกวินโดว์ (Islamic Window) ในธนาคารพาณิชย์ในปี 2541 และการก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในปี 2546 และข้อมูลปี 2567 ชี้ว่า มูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมการเงินอิสลามในไทยมีมากกว่า 4,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 140,000 ล้านบาท) และเติบโตเฉลี่ย 5.56% ต่อปี โดยมีธนาคารอิสลามและสหกรณ์อิสลามเป็นกลไกหลัก และยังขยายไปกว่า 54 แห่งทั่วประเทศ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและโอกาสในการเติบโตอย่างมั่นคงของการเงินอิสลามในประเทศไทย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมยืนยันว่าโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนมุสลิมภูเก็ตและมุสลิมไทยในภาพรวมจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล โดยจะคำนึงถึง สามเสาหลัก ได้แก่ 1.ปลอดดอกเบี้ย (Riba-Free) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงทุนอย่างเท่าเทียม 2.เศรษฐกิจฮาลาล (Halal-Based Economy) ครอบคลุมกระบวนการผลิตและบริการที่สอดคล้องกับหลักศาสนา 3.ระบบซะกาต (Zakat-Based Redistribution) เพื่อกระจายความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนในชุมชน”
“ข้อมูลปี 2024 ของระบบการเงินโลก (Global Finance) ระบุว่า อุตสาหกรรมการเงินอิสลาม (Islamic Financial Services Industry – IFSI) มีอัตราการเติบโตสูงถึง 14.9% ต่อปี และมีสินทรัพย์รวมกว่า 33.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาค ศุกูก (ตราสารทุนตามหลักชะรีอะฮ์) ขยายตัวถึง 25.6% และภาค ตะกาฟุล (การประกันภัยอิสลาม) เติบโต 16.9% ซึ่งสะท้อนพลังของภาคส่วนที่มิใช่ธนาคาร (non-bank segments) ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมิใช่เพียงโครงสร้างทางการเงิน แต่คือ ทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ และธรรมาภิบาลที่ยึดมั่นในหลักศรัทธาอย่างเข้มแข็ง รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม จะมุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจคุณธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ (ปลอดดอกเบี้ย) พร้อมทั้งสนับสนุนสหกรณ์อิสลาม กองทุนผู้ประกอบการฮาลาล และการพัฒนากลไกอนุญาโตตุลาการอิสลาม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่โปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน ท้ายที่สุด”
”ผมหวังว่าการอบรมของสมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ตในวันนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยบ่มเพาะความรู้ ความศรัทธา และความเข้มแข็งให้กับชุมชนมุสลิมในภูเก็ต พร้อมเชื่อมโยงไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศไทย โลกมุสลิม และสังคมระหว่างประเทศต่อไปครับ“ รมว.ยุติธรรม กล่าว