xs
xsm
sm
md
lg

หัวลำโพงอินยัวร์อายส์ นิทรรศการในวันที่ยังมีชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในที่สุดแผนการย้ายต้นทางขบวนรถไฟ จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางบางซื่อ หลังหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านอย่างหนัก ก็มีอันต้องชะลอออกไป จากเดิมมีแผนที่จะย้ายในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คงต้องไปทำการบ้าน จัดทำเช็กลิสต์เพื่อกำหนดแนวทางในการเปลี่ยนถ่ายการเดินรถไปสถานีกลางบางซื่อ โดยจะสำรวจความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนภายใน 30 วัน

ที่ผ่านมา การย้ายสถานีหัวลำโพงมีการสื่อสารน้อยเกินไป หนำซ้ำยังเจอเฟกนิวส์ประเภททุบสถานีหัวลำโพงทิ้ง ซึ่งการรถไฟฯ ก็ยอมรับว่าสื่อสารน้อยไปหน่อย หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นบทเรียนในการสื่อสารต่อประชาชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

อย่างน้อยการทำอะไรแบบหักดิบ นอกจากจะทรมานตัวเองแล้ว หากมีผลไปถึงผู้อื่น ก็เดือดร้อนคนอื่นกันไปหมด การย้ายหัวลำโพงไม่ได้ง่ายเหมือนการสั่งนมชมพูมากิน เพียงแค่ผสมน้ำแดงกลิ่นสละ กับนมสด และนมข้นหวานเท่านั้น

ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่า อีกไม่ช้าไม่นาน ขบวนรถเชิงพาณิชย์บางส่วน อาจจะต้องย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ เพราะปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 40 ล้านบาท ถ้าไม่ใช้ก็ย่อมเสียของ

ส่วนสถานีรถไฟหัวลำโพง แม้จะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10 ล้านบาท แต่ก่อสร้างมากว่า 100 ปี เกิดความแออัด ห้องน้ำมีไม่พอบริการ แต่ผู้บริหารการรถไฟฯ ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดหยุดให้บริการที่สถานีนี้แน่นอน

อย่างน้อยเชื่อว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง จะต้องมีรถไฟเชิงสังคม เพื่อรับใช้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเดินทางไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ไปซื้อของ ไปหาหมอ หรือไปทำธุระในเมือง มากกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน

และในอนาคต สถานีหัวลำโพง จะเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ต่อจากสถานีกลางบางซื่อ เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ไปยังปลายทางสถานีปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตอีกยาวไกล


ก่อนที่จะพูดถึงอนาคต จู่ๆ เฟซบุ๊ก “ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย” ประชาสัมพันธ์จัดงานที่ชื่อว่า “Hua Lamphong in Your Eyes” (หัวลำโพงอินยัวร์อายส์) กิจกรรมสืบสาน ต่อยอด การพัฒนาสถานีกรุงเทพอย่างยั่งยืน

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่ โพสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 หลังมีข่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยอมเบรกย้ายรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ ไม่รู้ว่างานนี้เตรียมการมานานแล้วหรือยัง เพราะเพิ่งจะประชาสัมพันธ์หลังดรามาสงบลง

แต่ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะถือเป็นงานเปิดบ้าน (Open House) แนะนำสถานีรถไฟหัวลำโพงอย่างจริงจัง ในช่วงที่ข่าวคราวการย้ายสถานีรถไฟหัวลำโพง กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน และส่วนหนึ่งอยากให้อนุรักษ์เอาไว้

รูปแบบหลักๆ คือ ให้ประชาชนเยี่ยมชมนิทรรศการ 10 จุดภายในสถานีรถไฟกรุงเทพ แล้วประทับตราลงในสมุดให้ครบ 10 ดวง เพื่อรับแสตมป์ชุดพิเศษ และของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ (แจกเป็นบางวัน) สเปรย์แอลกอฮอล์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดถ่ายภาพร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการแสดงดนตรี วงประสานเสียง วงฮาร์พและเครื่องสาย สลับสับเปลี่ยนภายในโถงกลางอีกด้วย


จุดลงทะเบียนจะอยู่ด้านในโถงสถานีรถไฟกรุงเทพ เริ่มจากสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมงาน แล้วรับสมุดที่มีช่องตราประทับจุดไฮไลต์ด้านหลัง โดยมีจุดเช็กอินทั้งหมด 10 จุดดังนี้

จุดที่ 1 อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)

จุดที่ 2 สะพานลำเลียงจดหมาย เชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์

จุดที่ 3 ลานน้ำพุหัวช้าง หลุมหลบภัยทางอากาศยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

จุดที่ 4 ป้ายสถานีกรุงเทพ จุดเริ่มต้นการเดินทางใจกลางมหานคร

จุดที่ 5 สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ ศิลปะยุคเรเนสซองส์

จุดที่ 6 ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ

จุดที่ 7 โถงกลางสถานีกรุงเทพ บรรยากาศร่วมสมัยสไตล์ตะวันตก

จุดที่ 8 โรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมคู่สถานีกรุงเทพ

จุดที่ 9 เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ

จุดที่ 10 รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824, 850

การประทับตราจุดไฮไลต์ ขอแนะนำเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ตราประทับจุดที่ 7 และ 8 บริเวณโพเดียมทางเข้างาน ตรงข้ามช่องขายตั๋ว, กลุ่มที่ 2 ตราประทับจุดที่ 3, 4, 5 และ 6 บริเวณประตูทางออกไปยังพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย

กลุ่มที่ 3 ตราประทับจุดที่ 9 และ 10 อยู่บริเวณชานชาลาที่ 5 หน้ารถจักรไอน้ำซ้ายมือ และกลุ่มที่ 4 ตราประทับจุดที่ 1 และ 2 บริเวณตอนปลายของชานชาลาหมายเลข 8 ซึ่งต้องเดินไปไกลสุด


ทีแรกตอนรับสมุดประทับตราจุดไฮไลต์ก็ยังรู้สึกงงๆ อยู่บ้าง เพราะไม่รู้จะไปตรงไหน แต่สักพักก็จะไม่งง และเชื่อว่าใครที่อ่านบทความชิ้นนี้แล้ว จะไม่งงอีกต่อไป

เริ่มจากกลุ่มที่ 1 ตราประทับจุดที่ 7 โถงกลางสถานีกรุงเทพ ตรงจุดนี้จะเป็นภาพถ่ายจุดเช็กอิน และจุดแสดงภาพถ่ายที่ชนะเลิศการประกวด ตรงกลางจะเป็นเวทีเล็กๆ ที่ใช้จัดการแสดงดนตรีทุกเสาร์-อาทิตย์

ส่วนจุดที่ 8 โรงแรมราชธานี ต้องเข้าไปด้านในห้องน้ำถึงจะเห็นโถงบันไดขึ้นไปชั้น 2 ปัจจุบันกลายเป็นที่ทำการฝ่ายบริการโดยสาร และฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ซึ่งปกติจะไม่กล้าเดินเข้าไป

ต่อกันด้วยกลุ่มที่ 2 ตราประทับจุดที่ 3 ลานน้ำพุหัวช้าง เนื่องจากได้กั้นรั้วเอาไว้ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 จึงทำได้แค่มองออกไปด้านนอก แต่บริเวณประตูก็สะดุดตากับแผ่นหิน “จุดกำเนิดรถไฟแห่งสยาม” ระบุว่า


“ที่ตรงนี้เป็นปลายทางของรถไฟสายปากน้ำ ซึ่งเป็นทางรถไฟสายแรก ของประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ร.ศ. ๑๑๒ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช ๑๒๕๕ เลิกกิจการเดินรถเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุล เอกศก จุลศักราช ๑๓๒๑ ร.ศ. ๑๗๘”


เดิมแผ่นหินนี้ตั้งอยู่ที่เกาะกลางถนนพระราม 4 หน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ เพราะสมัยก่อนมีการเดินรถไฟระหว่างหัวลำโพง-ปากน้ำ โดยตัวสถานีรถไฟก็คือบริเวณกลางถนนพระราม 4 ในปัจจุบัน

โดยที่ตัวเมืองปากน้ำ เขตเทศบาลนครสมุทรปราการ จะมีวงเวียน “รถไฟสายแรกของไทย” ตรงข้ามท่าเรือข้ามฟากไปยังฝั่งพระสมุทรเจดีย์ มีข้อความระบุว่า 

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงริเริ่มก่อสร้าง “รถไฟสายปากน้ำ” เป็นรถไฟสายแรกของไทย ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2436 และได้พระราชทานสัมปทานให้ บริษัทรถไฟปากน้ำ ของชาวเดนมาร์ค ดำเนินกิจการเป็นเวลา 50 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดบริการครั้งแรกทรงเจิมที่หัวจักรรถไฟ เสด็จขึ้นประทับขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์จาก สถานีปากน้ำ เวลา 11.00 น. ถึงสถานีหัวลำโพง เวลา 11.45 น. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2436 (รศ. 772)

รถไฟสายปากน้ำ มีความยาว 21 กิโลเมตร มี 10 สถานี คือ หัวลำโพง ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศรีษะจระเข้ บางนาเกรง มหาวงษ์ และสถานีปากน้ำ หมดระยะเวลาสัมปทาน ปี 2479 รัฐบาลได้ซื้อกิจการทั้งหมดจากบริษัท รถไฟปากน้ำเป็นกิจการของรัฐ”

ภาพ : Google StreetView
แผ่นหินจุดกำเนิดรถไฟแห่งสยาม ติดตั้งบนเกาะกลางถนนพระราม 4 มาอย่างยาวนาน กระทั่งย้ายไปไว้ที่หอเกียรติภูมิรถไฟ ที่สวนรถไฟ ต่อมาหอเกียรติภูมิรถไฟได้ปิดตัวลง จึงได้ย้ายไปที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ

ที่น่าเซอร์ไพร์สก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้ส่งมอบแผ่นหินดังกล่าวคืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้โรงงานมักกะสันนำไปตกแต่งให้สวยงาม ว่ากันว่า แผ่นหินนี้หนักมาก ขนาดให้หลายคนอุ้มก็ยังอุ้มไม่ไหว

จากเดิมตั้งอยู่บนเกาะกลางถนน ทนแดดทนฝนมาอย่างยาวนาน วันนี้ได้ชุบชีวิตและยกขึ้นมาจัดแสดงที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หน้าพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย ให้ได้เห็นกันเป็นบุญตา




ต่อด้วย พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย จะจัดแสดงอุปกรณ์ในการเดินรถ ตั้งแต่ตั๋วรถไฟแบบแข็งที่ใช้กันในอดีต เครื่องตราทางสะดวก ที่ใช้ยืนยันความปลอดภัยว่า การเดินรถระหว่างสถานีนั้น จะไม่มีขบวนรถไฟวิ่ง หรือกีดขวางระหว่างทาง

ส่วนที่จัดแสดงจะมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นที่สองจะจัดแสดงโมเดลรถไฟจำลอง ภาพวาดโปสเตอร์คำเตือนในการใช้บริการรถไฟ และชั้น 3 จะมีมุมถ่ายรูป กับภาพวาดหัวรถจักรไอน้ำจำลอง ติดกับประตูที่จะออกไปยังระเบียงสถานี






มุมมหาชนที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปก็คือ ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ ซึ่งด้านบนเรายังเห็นนาฬิกาโบราณที่ใช้มาตั้งแต่เปิดสถานี หน้าเรือนมีอายุ 105 ปี แม้จะเปลี่ยนกลไกด้านใน แต่ก็ยังทำหน้าที่บอกเวลาเราอยู่

สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ จะเป็นศิลปะยุคเรเนสซองส์ ออกแบบโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลี โดยล้อมาจากสถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี


หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ใต้สถานีรถไฟกรุงเทพ ยังมี หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลก ที่เชื่อมกันระหว่างอาคารสถานีกรุงเทพ กับลานน้ำพุหัวช้าง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ลานน้ำพุหัวช้างเพียงอย่างเดียว

ที่ด้านหน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ยังมีของที่ระลึกจำหน่าย ทั้งตั๋วแบบแข็ง (คละชื่อสถานี) พวงกุญแจ แมกเนต กล่องข้าว ฯลฯ ให้เลือกซื้อเป็นที่ระลึก หรือมอบเป็นของขวัญของฝากให้กับคนที่เรารักได้อีกด้วย






เราเดินย้อนเข้าไปยัง ชานชาลาหมายเลข 4 และ 5 จะมี รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824 และ 850 จัดแสดงไว้ ปกติแล้วจะเห็นเฉพาะที่โรงรถจักรธนบุรี ปัจจุบันสามารถวิ่งได้ แต่จะออกมาวิ่งเฉพาะโอกาสพิเศษต่างๆ

มาคราวนี้ได้นำมาจัดแสดง กลายเป็นมุมถ่ายรูปมหาชนอีกจุดหนึ่งของงานนี้ และยังพ่วงตู้โดยสารจำลองไว้ให้เราได้ขึ้นไปถ่ายรูปด้านใน ให้ความรู้สึกเหมือนหวนคืนบรรยากาศเมื่อครั้งอดีตอันรุ่งเรืองของสถานที่แห่งนี้

มาถึงสองจุดสุดท้ายในการเข้าชมงาน คือ อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง และ สะพานลำเลียงจดหมาย เราต้องเดินไปทางชานชาลาที่ 8 ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อีกประมาณ 300 เมตร

เราเดินออกจากชานชาลาหมายเลข 8 ด้านขวามือจะเห็นสะพานลำเลียงจดหมาย ซึ่งเป็นสะพานลอยไปเชื่อมต่ออาคารอีกหลังหนึ่ง เรียกว่า “ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ” หรือ Bangkok Mail Center




นึกถึงสมัยก่อน รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ได้ยินพิธีกรกล่าวที่อยู่ในการส่งจดหมายชิงโชค มาที่ “ตู้ ปณ. ... ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ รหัสหนึ่งหมื่น” หมายถึง รหัสไปรษณีย์ 10000 ซึ่งหากจ่าหน้าซองดังกล่าว จดหมายก็จะส่งมาที่นี่

สมัยก่อนบรรดาจดหมายและพัสดุจากจังหวัดต่างๆ ถูกขนลำเลียงทางรถไฟมาที่สถานีนี้ ก่อนที่จะลำเลียงจดหมายและพัสดุขึ้นไปยังศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ เพื่อคัดแยกส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์และนำจ่ายแก่ผู้รับ

แม้ว่าปัจจุบันการขนส่งจดหมายและพัสดุจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ จะใช้รถบรรทุกเป็นหลัก รวมทั้งย้ายจุดคัดแยกไปที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ แต่สำหรับศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ ยังคงเปิดให้บริการรับฝากตามปกติ




มาถึง อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ซึ่งปกติจะมีเฉพาะคนรถไฟ และคนรักรถไฟที่จะเข้าไป เพราะต้องเดินออกมาไกล เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


ตรงจุดนี้ รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟหลวงสายแรกในสยาม กรุงเทพ-อยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 ด้านหลังจะเป็นรถจักรไอน้ำจอดอยู่

น่าสังเกตว่า ระหว่างที่เราเดินเที่ยวชมนิทรรศการแต่ละจุด จะพบเห็นผู้คนมากหน้าหลายตาเข้าร่วมกิจกรรม ได้ยินว่าบางคนเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช เพื่อมาสัมผัสสถานีรถไฟกรุงเทพ ในวันที่ยังมีชีวิตอยู่

รวมทั้งยังได้เห็นวัยรุ่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ สะพายกล้องมากับเพื่อน หรือมากับแฟน ถ่ายรูปตามจุดต่างๆ อย่างคึกคัก นี่อาจเป็นวิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ให้คนทั่วไปได้สัมผัสสถานที่จริง และประสบการณ์จริงก็เป็นได้

ของที่ระลึก สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าชมนิทรรศการและประทับตราครบ 10 จุด


สำหรับการจัดงานหัวลำโพงอินยัวร์อายส์ กิจกรรมสืบสาน ต่อยอด การพัฒนาสถานีกรุงเทพอย่างยั่งยืน จะจัดไปจนถึงวันที่ 16 มกราคม 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.

ใครที่มีเวลาหลังปีใหม่ ไม่รู้จะไปไหน สะพายกล้องตัวโปรดแล้วแวะมาเยี่ยมชม รำลึกความทรงจำกันได้ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีหัวลำโพง หรือรถเมล์ปลายทางหัวลำโพง ที่มีอยู่หลายเส้นทางเช่นเดียวกัน

แนะนำว่าให้มาช่วงครึ่งวันเช้าก็ดี เพื่อที่จะได้มีเวลาเยี่ยมชมนิทรรศการแต่ละจุดได้อย่างเต็มที่ แต่งตัวสบายๆ รองเท้าที่ใส่แล้วเดินสะดวก เพราะต้องปีนป่ายบันได และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ถ้าเป็นไปได้ทาครีมกันแดดก็ดี เพราะด้านนอกสถานีร้อนมาก ด้านในสถานีอาจจะหาของกินยากสักหน่อยเพราะไม่มีศูนย์อาหารแล้ว แต่พอมีร้านกาแฟและตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) บริเวณโซนชานชาลา

หากใครจะลองนั่งรถไฟไปลงใกล้ๆ ก็มีขบวนรถชานเมืองให้บริการในช่วงเย็น ซื้อตั๋วได้ที่เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ค่าโดยสารจากหัวลำโพงไปสถานีชุมทางบางซื่อ (คนละอาคารกับสถานีกลางบางซื่อ) เพียง 2 บาทเท่านั้น

หรือใครที่อยู่โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ก็มีขบวนรถไฟสายตะวันออก ไปฉะเชิงเทรา ซึ่งจะแวะจอดที่พญาไท ราชปรารถ มักกะสัน อโศก คลองตัน หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง พระจอมเกล้า และหัวตะเข้

อย่างน้อยที่สุด ในวันที่หัวลำโพงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็ยังคงมีเรื่องราวบอกเล่าไปถึงลูกถึงหลาน ถึงความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของกิจการรถไฟไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น